People Unity : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม 2562) มีมติรับทราบสถานการณ์และแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้ ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน) ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการและเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลร่วมการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร สรุปได้ดังนี้
1.สถานการณ์และแนวโน้ม
สภาพฝน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปี 2562 จะมีปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าปี 2561 และน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5-10 % (ปีที่แล้วต่ำกว่าค่าปกติ 3%) โดยช่วงต้นเดือนกรกฎาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนลดลง และมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศ 10,729 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุ (น้อยกว่าปริมาณน้ำปี 2561 อยู่ 11,484 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุ รวม 19 แห่ง ปริมาตรระหว่างร้อยละ 30 – 50 รวม 10 แห่ง และปริมาตรมากกว่าร้อยละ 50 รวม 6 แห่ง ซึ่งถือว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อย
สถานการณ์การเพาะปลูกข้าวปี 2562/63 จากข้อมูลการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 จำนวน 47.88 ล้านไร่ ยังไม่ปลูกอีก 12.45 ล้านไร่ ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ พบว่า ฝนทิ้งช่วงจะส่งผลต่อปริมาณ คุณภาพ ผลผลิตของเกษตรกรจะลดลงหรือเสียหาย และผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเสียหายและไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯตามระเบียบกระทรวงการคลัง
2.แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการทันที และเตรียมการแก้ไขในระยะยาว โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ทันที และมีแผนปฏิบัติที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป
การเผชิญเหตุระยะเร่งด่วน
1.ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับกองทัพ โดยกองทัพสนับสนุนอากาศยานเพิ่ม จำนวน 7 ลำ จากกองทัพบก 1 ลำ กองทัพอากาศ 5 ลำ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ พร้อมกำลังพล 88 นาย
2.สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที และสร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ดำเนินการ ดังนี้
2.1 ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งจัดทำชุดข้อมูลแนวโน้ม/สถานการณ์น้ำในอนาคต วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในไร่นา การสะสมน้ำต้นทุน และความชื้นในดิน เป็นต้น เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ใช้น้ำได้ตระหนักและเข้าใจสถานการณ์ความเสี่ยง และให้ความร่วมมือในระดับที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนวโน้ม เรียนรู้ที่จะปรับตัวและบรรเทาผลกระทบให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น วิธีการดูแลรักษาพืชในภาวะแห้งแล้งฝนทิ้งช่วง ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562
2.2 การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆทั้งประเทศ จำนวน 4,850 หน่วย เพื่อสนับสนุนและพร้อมให้การช่วยเหลือทันท่วงที กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานทุกจังหวัด และเตรียมพร้อมแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงระบบชลประทาน สำหรับการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
2.3 แจ้งเตือนให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการปลูกข้าว ให้ชะลอการปลูกไปจนกว่าจะสิ้นสุดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือจนกว่าปริมาณและการกระจายของฝนมีความสม่ำเสมอ และหากมีภาวะการขาดแคลนน้ำให้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด รวมทั้ง สร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้มีการใช้น้ำประหยัดอย่างต่อเนื่อง
2.4 วางแผนการเพาะปลูกพืชและปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ
2.5 จัดตั้ง War room ทุกจังหวัด เร่งสำรวจพื้นที่ประสบฝนทิ้งช่วงทุกจังหวัดพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบฝนทิ้งช่วง และแนะนำให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนก่อนเกิดความเสียหาย
3.ปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ และเพิ่มความเข้มงวดติดตาม กำกับ การจัดสรรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2562/63 ดำเนินการ ดังนี้
3.1 เก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่ระบายน้ำจากเขื่อนจนกว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าเส้นควบคุมตอนล่าง และบริหารปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่ระบบคลองชลประทาน แทนการบริหารน้ำที่ระบายจากเขื่อน
3.2 พื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ปลูก ให้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ หรือสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของผลผลิต สำหรับพื้นที่เพาะปลูกแล้ว จะดำเนินมาตรการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่
3.3 จัดแผนหมุนเวียน/จัดรอบเวรการใช้น้ำในระบบลุ่มน้ำ และบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด และสอดคล้องกับสถานการณ์
3.4 พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ และเสริมแหล่งน้ำด้วยบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน
3.5 การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว พบว่ามีความจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำ เพื่อประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝน และให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปบริโภค บริโภค ในปี 2563 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้
1) ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ อาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดทำปฏิทินการรับน้ำส่งให้กรมชลประทาน
2) ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด ซึ่งกรมชลประทานจะกำหนดอัตราการรับน้ำที่เหมาะสมให้
3) ขอความร่วมมือ ไม่ให้เกษตรกร ทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นจะต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ
4) สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทาน
5) ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน
6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คูคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย
การช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้น
1.การบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้เพื่อเสริมสภาพคล่องของเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง โดยการสนับสนุนเงินทุนแก่สมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์วงเงิน 1,600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 – 5 ปี โดยมีวงเงินกู้ให้สมาชิกรายละไม่เกิน 30,000 – 50,000บาท ผ่านการดำเนินโครงการ 3 โครงการ ได้แก่
1.1 โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 600 ล้านบาท มี 2 กิจกรรม ได้แก่ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพื่อจัดหาแหล่งน้ำทำการเกษตร
1.2 โครงการจัดหาแหล่งน้ำให้สมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 400 ล้านบาท
1.3 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ วงเงิน 600 ล้านบาท
2. การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือภายใน 90 วัน
3.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,260 บาท และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,500 บาท
4.เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน – สิงหาคม 2562) ตามความต้องการพันธุ์ข้าวของเกษตร โดยต้องคำนึงปริมาณน้ำและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
การดำเนินการในระยะต่อไป
1.ประเมินความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคต เพื่อนำไปสู่การบริหารความต้องการน้ำภาคเกษตรและวางแผนการเพาะปลูกพืชที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ โดยกำหนดปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ
2.ประเมินความเสี่ยงต่อระดับความมั่นคงด้านอาหาร และผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การดำรงชีวิต และสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง
3.ประเมินความเสี่ยง ต่อการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยวิเคราะห์มาตรการ งบประมาณที่จะช่วยเหลือเยียวยา และสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากพบความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรเสียโอกาสในการผลิต และกระทบต่อรายได้ในครัวเรือนจนอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมที่จะเผชิญเหตุ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและการตลาด โดยยึดหลักที่จะไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพ และความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วง ในอนาคตได้ดีกว่าปัจจุบัน รวมทั้ง เป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสมหรือทันต่อสถานการณ์ต่อไป
เศรษฐกิจ : ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน
People Unity : post 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 12.30 น.