People Unity : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคหัดในไทยดีขึ้น สามารถควบคุมได้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดติดตามสถานการณ์โรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และรัฐบาลได้สนับสนุนงบกลางเพื่อดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปีทั่วประเทศ ฟรี ในกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน เริ่ม 14 พ.ย.นี้ แนะหากมีไข้สูง 3-4 วัน มีผื่นนูนแดงขึ้นที่ใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
วันที่ 25 ตุลาคม 2562 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีรายงานข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งประเทศที่มีผู้ป่วยโรคหัดสูง ได้แก่ มาดากัสการ์ อินเดีย ยูเครน ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย คาซัคสถาน บราซิล แองโกลา และพม่า นอกจากนี้ในช่วงต้นปียังเคยมีการระบาดในบางเมืองของสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนประเทศไทย ตั้งแต่มีการให้วัคซีนหัด จำนวนผู้ป่วยโรคหัดลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2558 พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น เรือนจำ โรงเรียน ค่ายทหาร ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ภายในปี 2563 จึงได้มีการจัดทำโครงการกำจัดหัด เพื่อให้มีการค้นหาและรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัดให้ครบถ้วน ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งจากโครงการดังกล่าว ในปี 2562 พบผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด 7,470 ราย เสียชีวิต 21 ราย (1 มกราคม–18 ตุลาคม 2562) จังหวัดที่พบมาก ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ตาก ภูเก็ต และชลบุรี
นอกจากนี้ กลุ่มอายุที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งสัมพันธ์กับความครอบคลุมของวัคซีนต่ำในพื้นที่ และผู้ป่วยในพื้นที่อื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยแรงงาน อายุ 20–39 ปี โดยผู้ป่วยมักพบในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานสาธารณสุข ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุมโรคหัดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกพื้นที่ จนทำให้สถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยดีขึ้นอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และได้มอบหมายให้กองระบาดวิทยา และกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ติดตามสถานการณ์โรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตั้งแต่ปี 2527 แก่เด็กอายุ 9 เดือน ต่อมาในปี 2539 ได้เพิ่มการฉีดวัคซีนโรคหัดเข็มที่สอง ดังนั้น ในผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนปีที่เริ่มให้วัคซีน อาจไม่มีภูมิคุ้มกันถ้าไม่เคยเป็น ประกอบกับมีแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงาน ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบกลางเพื่อดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปีทั่วประเทศ พ.ศ.2562-2563 ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช่จ่ายใดๆ เพื่อรณรงค์ให้วัคซีนเก็บตกในกลุ่มเด็กไทยและเด็กต่างชาติช่วงอายุดังกล่าว ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย โดยเป็นการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1-7 ปี และให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7-12 ปี จะเริ่มดำเนินการทั่วประเทศ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้
อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือไข้ออกผื่น โดยมักมีไข้สูง 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้า กระจายไปตามลำตัว แขน ขา จากนั้นไข้จะลดลงและผื่นค่อยๆ จางหายไป ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้ โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422