People Unity News : “กมธ.กฎหมายฯ” เชิญ “พล.ต.บุรินทร์ – เสธ.พีท” ชี้แจงปมร้องทุกกล่าวโทษผู้เห็นต่างทางการเมือง - เผยเป็นแค่ผู้รับมอบอำนาจ ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจได้ ย้ำ ไม่เคยคิดเป็นศัตรูกับประชาชน
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่รัฐสภาเกียกกาย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธาน กมธ. พร้อมคณะ เปิดประชุมในวาระพิจารณาศึกษากรณีการดำเนินคดีโดยรัฐ เพื่อกลั่นแกล้งประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง ทางด้านกลุ่มผู้ร้องเรียนที่เดินมาร่วมให้ข้อมูลทั้งสิ้น 10 ราย ได้แก่ นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว, นายธนพล พันธุ์งาม, นางศรีไพร นนทรีย์, นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย, นายเกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย, นางสาวดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, นางสาวณัฎฐา มหัทธนา, นายกฤต แสงสุรินทร์ และนายวศิน พงษ์เก่า โดยมีพลตรี บุรินทร์ ทองประไพ ในฐานะสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และพันเอก พิทักษ์พล ชูศรี ผบ.กรมทหารพราน ที่ 22 เป็นผู้ที่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการถึงกรณีดังกล่าว
โดยเริ่มต้น นายปิยบุตร ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักกิจกรรมที่โดนคดีความได้เป็นผู้ซักถาม และพูดถึงคดีความของตนเอง จากนั้นเปิดโอกาสให้กรรมาธิการแต่ละคนได้ร่วมซักถาม สลับกับให้ พล.ต.บุรินทร์ และ พ.อ.พิทักษ์พล ชี้แจงเป็นระยะ โดย น.ส. ชลธิชา กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 24 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ตนโดนไปแล้ว 7 คดี ซึ่งทุกคดีผู้แจ้งความคือ พล.ต.บุรินทร์ ทั้งนี้ ตนใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จัดกิจกรรมโดยสงบ สันติ โดยตลอด กรณีนี้เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือไม่
“โบว์” เชื่อมีกระบวนการปิดปากผู้เห็นต่าง
น.ส.ณัฎฐา ระบุว่า คดีความที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เชื่อว่ามีการดำเนินการทางยุทธศาสตร์ เป็นกระบวนการคุกคาม กลั่นแกล้งดำเนินคดีปิดปากประชาชน ทางหนึ่งคือ ให้มีผู้แจ้งความดำเนินคดี ซึ่งแต่ละขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็ว กับอีกทางหนึ่งคือ มีสร้างข่าวปลอมให้ร้ายทำลาย แม้ผู้เสียหายเช่นตนเองจะมีการแจ้งความดำเนินคดี แต่ไม่มีการดำเนินคดีดังกล่าว ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
นางศรีไพร ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต ระบุว่า ปัญหาแรงงานหลังจากมีรัฐประหาร คนงานย่านรังสิตตกงานทันที 300 กว่าคน นายจ้างฉวยโอกาสปิดโรงงาน แรงงานไม่อาจชุมนุมเรียกร้องได้ อำนาจต่อรองแรงงานหมดสิ้น ตนจึงต้องมาแสดงออกในเรื่องนี้ แต่ก็ถูกดำเนินคดี และอีกเรื่องคือ หลังการรัฐประหาร ปัญหาคนงานได้รับการแก้ไขช้าลง คนที่ออกมาเรียกร้อง ถูกติดตาม ทหาร ตำรวจ ตามถึงบ้าน แม้ปัจจุบัน มีการเลือกตั้งแล้ว วันนี้ก็ยังไม่มีความเป็นอิสระ
ขณะที่ น.ส.ดวงทิพย์ กล่าวว่า แม้ตนเองจะเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน แต่จากการเข้าไปสังเกตการณ์ก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งบุคคลสำคัญที่ร้องทุกข์กับประชาชน กลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วคือ พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี ไม่ว่าจะเป็นกรณีการพาเจ้าหน้าที่บุกค้นโดยไม่มีหมายค้นบ้านนักศึกษาดาวดิน หรือ แจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากกรณีการแชร์ข่าวบีบีซีไทย
กมธ.ร่วมซัก -กระบวนการแจ้งความ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการซักถามของ กมธ.นั้น นายปิยบุตร ประธาน กมธ.ถามว่าในการดำเนินคดี 1. อาศัยอำนาจกฎหมายใด 2.ในการไปแจ้งความมีคำสั่้งจาก คสช.ให้เป็นผู้แทนหรือตัดสินใจได้ตัวเอง ด้านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เลขานุการกรรมาธิการ กมธ. ถามว่า 1.ในการได้รับมอบอำนาจ แต่ละคดีเป็นเรื่องที่ฝ่ายข่าวชงเรื่องแล้วเบื้องบนมอบอำนาจให้ หรือ เบื้องบนเห็นข่าวและเห็นว่าจะดำเนินคดีเลยขอข้อมูล แล้วส่งให้ท่านในฐานะผู้รับมอบอำนาจ 2.ที่ผ่านมา มีบางคดีที่ยกฟ้อง ซึ่งหากผู้บังคับสั่งให้แจ้งความ ท่านมีดุลยพินิจเห็นว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิด ท่านมีสิทธิ์ที่จะแย้งไม่ดำเนินคดี หรือว่าต้องยืนยันแจ้งความดำเนินคดี
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ. ถามว่า กรณีที่มีการดำเนินคดีกับผู้แชร์ข่าว หรือบทความ เช่น ในกรณีของการแชร์ข่าวบีบีซีไทย ซึ่งมีผู้แชร์ข่าวดังกล่าวไปกว่า 3,000 คน แต่ที่ถูกดำเนินคดีมีเพียง 2 คนนั้น พิจารณาจากอะไร
แจงเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจาก คสช.
ด้าน พล.ต.บุรินทร์ กล่าวว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษ สำหรับตนเองและ พ.อ.พิทักษ์พล อยู่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น เพียงรับส่งมอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ไปดำเนินคดีตามตามคำสั่ง คสช. ตั้งแต่ ปี 2557 ซึ่ง แบ่งเป็น 2 ส่วน 1.ด้านกองกำลัง มอบให้ ผบ. กองกำลังต่างๆมีอำนาจ 2.ส่วนที่ขึ้นกับสำนักงานเลขาธิการรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อสำนักงานเลขาฯได้รับมติจากคณะ คสช.ให้ดำเนินคดีกับบุคคลใดก็ตาม ก็จะทำหนังสือมอบอำนาจมายังตน แล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาต่อไป โดยตนจะเป็นผู้รับมอบอำนาจในเรื่องการเมือง และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่มีคนอื่นรับผิดชอบ เช่นเรื่องเกี่ยวกับ ยาเสพติด อาวุธสงคราม เป็นต้น ในกรณีของตน ทุกคดี เป็นคดีความสงบเรียบร้อย เป็นอาญาเกี่ยวกับความมั่นคง จึงเป็นความผิดยอมความไม่ได้ ที่ว่าตนแจ้งความแล้ว 200-300 คดี เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ว่า ร่วมปฏิบัติหน้าที่กับ คสช.
พล.ต.บุรินทร์ กล่าวด้วยว่า 1.เมื่อมีเหตุการณ์จะมีการรวบรวมข้อมูล พยาน หลักฐาน นำเสนอ คสช. พิจารณาแล้วถึงมอบหมาย โดยส่งพยานหลักฐานมาให้ 2.เมื่อรับคำสั่งแล้ว ไม่มีโอกาสใช้ดุลยพินิจ เป็นคำสั่งต้องปฏิบัติตาม ส่วนการดำเนินคดีกับผู้แชร์ข้อความที่มีความผิด กรณีบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักสามารถติดตามได้ ขณะที่บุคคลอื่นๆ อาจต้องใช้เวลานานในการพิสูจน์ บางคนใช้ชื่อปลอม
ลั่นไม่เคยผลักประชาชนเป็นศัตรู
พล.ต.บุรินทร์ กล่าวว่า อยากเรียนว่า เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เราถึงได้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งความดำเนินคดี และทุกครั้ง ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ตนไม่สามารถพูดลึกไปกว่านี้ได้ เป็นผู้ได้รับอำนาจตามกฎหมาย เป็นผู้ปฏิบัติตามเท่านั้น ถ้าไม่ปฏิบัติก็มีความผิด ไม่เคยมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรู ทุกคนเป็นพลเมือง เราทำทุกอย่างให้ประเทศเดินหน้า เราไม่มีทางที่จะผลักให้ประชาชนเป็นศัตรู ไม่มีประเทศไหน รัฐไหนทำอย่างแน่นอน กองทัพต้องอยู่กับประชาชน เรื่องที่แจ้งความแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องพนักงานสอบสวน ที่จะต้องติดตาม ซึ่งเมื่อพยานหลักฐานชัดเจนเขาก็ต้องติดตามเรื่อง
ขณะที่ พ.อ.พิทักษ์พล กล่าวถึงการแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่แชร์บทความที่เกี่ยวข้องกับคดี ป.อาญา ม.112 ว่า มาจากการติดตามกลุ่มข่าวของจังหวัดขอนแก่น โดยสันติบาล ข่าวกรองแห่งชาติ ก็เข้ามาดูเรื่องนี้ ซึ่งขณะนั้นมีการแชร์บทความที่เกี่ยวข้องกับ ม.112 เมื่อไปดู ฝ่ายกฎหมายให้คำปรึกษา แจ้งให้ไปร้องทุกข์ เรื่องตนกับไผ่ หรือนายจตุภัทร์ ไม่ได้มีเหตุแค้นเคืองอะไรกันมาก่อน ตนแจ้งความในฐานะเจ้าพนักงาน และไม่ก้าวล่วงเรื่องการดำเนินคดีแต่อย่างใด