People Unity News : รมว.คมนาคม แจง กมธ.กฏหมายฯ ลั่นไม่จ่ายค่าโง่โอปเวลล์ 2.4 หมื่นล. หลังพบพิรุธใหม่ 9 ข้อ จ่อชงDSI จัดการเอาผิดแพ่งและอาญา
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่รัฐสภา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) แถลงภายหลังเข้าชี้แจงกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ ถึงกรณีการจ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า หลังจากตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วันที่ 31 กรกฎาคม ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษากรณีการจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทโอปเวลล์ โดยได้รับข้อมูลจากผู้ที่หวังดีต่อประเทศชาติ เพราะเกรงว่าการจ่ายเงินให้โครงการดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง และมีข้อพิรุจหลายประการที่หน่วยงานของรัฐไม่นำไปเป็นคู่ต่อสู้คดีที่ผ่านมา
คณะทำงานได้ศึกษารายละเอียดโครงการอย่างรอบคอบ พบข้อพิรุจทั้งหมด 9 ข้อ คือ 1.วันที่ 6 ตุลาคม 2532 รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติ ครม. 2.วันที่ 16 ตุลาคม 2532 การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวดเร็วผิดปกติ และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าตามหลักการที่เป็นมติ ครม. 3.วันที่ 15 มกราคม 2533 มีการแทรกแซงรายละเอียดโครงการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น และคณะกรรมการฯ มีการเอื้อประโยชน์ให้โฮปเวลล์-ฮ่องกง 4.วันที่ 31 พฤษภาคม 2533 โฮปเวลล์-ฮ่องกง เสนอเงื่อนไขไม่ตรงตามประกาศของคณะกรรมการฯ 5.วันที่ 6 กรกฎาคม 2533 มีความผิดปกติในการร่างสัญญาสัมปทานและการลงนามในสัญญาสัมปทาน 6.เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2533 มีการเอื้อประโยชน์ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และหลีกเลี่ยงการใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 (ปว.281) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 7.วันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 การลงนามในสัญญาสัมปทานไม่เป็นไปตามมติ ครม. 8.วันที่ 4 ธันวาคม 2533 มีการรายงานเท็จต่อ ครม. และ 9.บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าทั้ง 9 ข้อ เป็นข้อมูลใหม่ที่จะฟ้องต่อศาลให้สัญญาเดิมเป็นโมฆะเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเงินแผ่นดิน หรือค่าโง่ จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต่อสู้เรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยตนได้นำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อให้รับทราบ โดยนายกฯกำชับให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้ศึกษาควบคู่ไปด้วย
ส่วนขั้นตอนในการดำเนินคดี การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเอกสารทั้งหมดให้กรมพัฒนาธุกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้เพิกถอนบริษัทโอปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นโมฆะในการเป็นคู่สัญญาของโครงการฯ ซึ่งมีเวลาพิจารณาภายใน 30 วัน หากเพิกเฉยก็จะร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งต่อไป ซึ่งในระหว่างนี้จะไม่มีการบังคับคดีให้ชดเชยค่าเสียหาย ขณะเดียวกันก็เตรียมยื่นเอกสารทั้งหมดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการเอาผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา รวมถึงยกเป็นคดีพิเศษ เพราะมีหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก