People Unity News : 22 มกราคม 66 จากกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียเตือนภัย พบเด็กป่วยหลังกินขนมผสมไนโตรเจนเหลว โดยทำตามคลิปที่มีการกินขนมพร้อมพ่นควันสีขาวออกมาจากปาก อย.มีความห่วงใย ขอให้หลีกเลี่ยงการกิน สัมผัส หรือสูดดมไนโตรเจนเหลวโดยตรง เสี่ยงอันตรายโดยคาดไม่ถึง

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียเตือนการใช้ไนโตรเจนเหลวในอาหารพร้อมรับประทาน หลังพบเด็กมีอาการแสบท้องและท้องเสีย หลังกินขนมท้องถิ่น “ชิกิ เกบุล” ซึ่งทำตามคลิปวิดีโอกินขนมพร้อมพ่นควันสีขาวออกมาจากปากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย การใช้ไนโตรเจนเหลวในอาหารพร้อมบริโภค เพื่อให้เกิดควันพวยพุ่งออกมา ซึ่งเป็นการปลุกกระแสสร้างความแปลกใหม่ ดึงดูดลูกค้าให้ซื้อสินค้าไปรับประทาน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขนมควันทะลัก” หรือการดัดแปลงนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ใส่ในอาหาร เพื่อทำให้แข็ง เช่น ราดหรือผสมลงในไอศกรีม ราดลงบนขนมให้แข็งตัว การใช้ในลักษณะดังกล่าว ผู้ใช้ต้องมีความระมัดระวัง และต้องใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร และปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หากตรวจพบว่ามีการใช้ไนโตรเจนเหลวในปริมาณมากจนเกินเหตุและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการ อย. กล่าวย้ำว่า สำหรับผู้บริโภค ขอให้หลีกเลี่ยงการกิน สัมผัส หรือสูดดมโดยตรง เสี่ยงได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง เพราะไนโตรเจนเหลวมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ ไนโตรเจนเหลวจะดูดซับความร้อนจากผิวหนัง เพื่อการระเหยอย่างรวดเร็ว และทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจากความเย็นจัด หรือหากสูดดมโดยตรงอาจทำให้หมดสติได้ การกินอาหารประเภทนี้ ต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยออกไปให้หมดก่อน จึงจะกินได้ หากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร พบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 Line @FDAThai, Facebook FDAThai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

Advertisement