พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤศจิกายน 2567 “ธีรรัตน์ – ซาบีดา” แถลงจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมชวนคนไทยร่วมเที่ยวชมงาน 29 พ.ย. – 2 ธ.ค. 67 เมืองทองธานี ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นผู้แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย แถลงข่าวการจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้อง The Pavilion ชั้น 5 โรงแรม โรสวูด กรุงเทพฯ โดย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก (ประเทศไทย) และนายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมในการแถลงข่าว
การแถลงข่าวในครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมในงาน อาทิ นายสันติธร ยิ้มละมัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายชยชัย แสงอินทร์ นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างโอกาส สร้างรายได้” ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ โดยน้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” พุ่งเป้าส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านงานภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าในทุกกระบวนการผลิตผ้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาผ้าไทยที่ทันสมัย ผ่านหนังสือ Thai Texttile Trendbook ซึ่งจะต่อยอดผ้าไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้ โดยมีตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ บ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
น.ส.ซาบีดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มุ่งมั่นในการน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยการผลักดันงานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่เป็น Soft Power ตามนโยบายรัฐบาล ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีเสน่ห์และมีคุณค่าของประเทศไทย ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดลายผ้าพระราชทานผ้าลายสิริวชิราภรณ์ รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ที่ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ท่านทรงเป็นประธานกรรมการตัดสิน ด้วยพระหฤทัยใส่อันมุ่งมั่น และพระอัจฉริยภาพ โดยทรงดำรงพระองค์ในฐานะผู้นำการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาของไทยสู่สากล
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของตนที่ได้ร่วมสนองงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้พระราชทานแนวทางขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้กระทรวงมหาดไทยน้อมนำไปขับเคลื่อน โดยนับตั้งแต่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมการปกครอง กระทั่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นช่วงเวลา 3 ปีที่ตนได้มีโอกาสจัดงาน “Silk Festival” โดยในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอผลงานที่มีความทันสมัย เป็นผลงานที่ได้รับการต่อยอดและพัฒนาด้วยความตั้งใจของผู้ประกอบการและช่างทอผ้าจากทั่วประเทศ และยังมีการจัดจำหน่ายบูธอาหาร OTOP ชวนชิม โดยมุ่งหวังจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท
นายสยาม กล่าวว่า งาน Silk Festival ในปีนี้ จะมีแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำที่นำผืนผ้าไทยมารังสรรค์เป็นเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย โดยไฮไลท์สำคัญของงาน คือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ทุกท่านจะได้ร่วมเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน และพระราชทานเหรียญรางวัล และโล่รางวัลให้แก่ คณะทำงานกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชนและดีไซเนอร์ ที่สนองพระเดชพระคุณ ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี พ.ศ. 2567, ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ, รางวัลต้นกล้านารีรัตน ตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล, ผู้ชนะการประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ (New Gen Young Designer 2024)
นายธนันท์รัฐ กล่าวว่า Silk festival เป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ในการขับเคลื่อนผ้าไทยต่อยอดสู่ความทันสมัยตามหลักสากล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเทตรากตรำพระวรกายในการทรงงานสานต่อพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการผ้าที่มุ่งมั่นตั้งใจการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ซึ่งภายหลังจากคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกได้ลงพื้นที่ไป Coaching ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทั่วประเทศ พบว่าในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล โดยตลอดทั้งปีมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยกว่า 74,000 ล้านบาท
นายกุลวิทย์ กล่าวว่า ในการจัดงานครั้งนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการเปิดตัว “สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย” ซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีบทบาทภารกิจในการสนับสนุนส่งเสริมในการ Coaching ผู้เข้าร่วมโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของกรมการพัฒนาชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 พร้อมการเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่สากล โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงเป็นองค์ประธานการเสวนา ร่วมกับตัวแทนสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
“ขอเชิญชวนร่วมงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศ จำนวน 200 ราย และอาหารชวนชิม กว่า 50 ร้านค้า ร่วมชม ช้อปสินค้า ชิมอาหารเลิศรส เช็คอินงานรวมสีสันต์สดใส กับแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำอีกด้วย
Advertisement