พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 มีนาคม 2568 พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจําพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ รองประธานกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริฯ เป็นประธานมอบเงินกองทุนกำลังใจฯ เพื่อเสริมสร้าง “คนต้นแบบ” จากกรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2568 เวลา 13.00 น. พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจําพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา รองประธานกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นประธานในพิธีมอบเงินกองทุนกำลังใจฯ โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รองประธานกรรมการกองทุนกำลังใจฯ พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เข้าร่วมพิธี

โอกาส​นี้ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้แทนรับเงินกองทุนกำลังใจฯ เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ถูกคุมประพฤติ และผู้พ้นโทษที่ประสงค์ขอรับทุนจากกองทุนกำลังใจฯ นำไปเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งผู้ขอรับทุนเป็นผู้กระทำผิดในคดีทั่วไป เช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และอื่น ๆ ที่มิใช่คดียาเสพติด โดยในปี พ.ศ. 2568 คณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ ได้ดำเนินการตามแนวทางพระราชทานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ โดยพิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินทุนช่วยเหลือ สำหรับมอบให้กับเรือนจำ และสำนักงานคุมประพฤติ จำนวน 34 แห่ง ในวงเงิน 850,000 บาท

โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นโครงการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงริเริ่มขึ้นในปี 2549 โดยมีภารกิจในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในกระบวนการยุติธรรมที่หมายถึง เด็ก และเยาวชนที่กระทำผิด ผู้ต้องขังและผู้ถูกคุมความประพฤติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ได้พระราชทานแนวทางเพื่อช่วยเหลือภายหลังปล่อยในหลายประการ ตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 และการจัดตั้งบ้านกึ่งวิถี ณ ชุมชนกาแลตาแป ในจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งการสนับสนุนทุนเพื่อการประกอบอาชีพในคดียาเสพติดซึ่งเป็นเงินทุนจากสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งเล็งเห็นว่าโครงการกำลังใจฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือ พัฒนาผู้กระทำผิดในคดียาเสพติด โดยสามารถลดการกระทำผิดซ้ำ และสร้างคนต้นแบบออกสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับในผู้กระทำผิดในคดีทั่วไป เช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และอื่น ๆ ที่มิใช่คดียาเสพติดจะไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนจากสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ได้เสด็จ เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2564 และมีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตรน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยได้กราบทูลว่า “ไม่ได้กระทำผิดในคดียาเสพติด แต่กระทำผิดเกี่ยวกับร่างกายและชีวิต และอยากจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนกำลังใจฯ” เมื่อทรงรับทราบถึงช่องว่างของการช่วยเหลือดังกล่าว จึงพระราชทานแนวทางมาที่คณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ ว่าควรจะพิจารณาสนับสนุนผู้ต้องการโอกาสและกลับคืนเป็นคนดีของสังคมที่มิใช่คดียาเสพติด รวมทั้งในช่วงปี 2562-2564 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมที่ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังในเรือนจำที่ใกล้พ้นโทษ เช่น ไม่มีค่าพาหนะกลับบ้าน ไม่มีเงินทุนประกอบอาชีพ ไม่มีเงินทุนจะศึกษาหรืออบรมด้านอาชีพ ไม่มีเงินทุนเบื้องต้นเพื่อการยังชีพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ได้พระราชทานแนวทางให้คณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ ได้จัดทำระเบียบคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องการโอกาสและผู้ก้าวพลาดในชีวิต และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ต้องขัง พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความช่วยเหลือผู้กระทำผิด ผู้ถูกคุมความประพฤติ ผู้พ้นโทษ

โดยในปี 2564 ได้ส่งมอบเงินให้กับเรือนจำ และสำนักงานคุมประพฤติในพื้นที่เรือนจำชั่วคราว ตามโครงการกำลังใจฯ รวม 12 แห่ง ในวงเงิน 350,000 บาท ต่อมาในปี 2565 ได้ขยายความช่วยเหลือไปยังสำนักงานคุมประพฤติ 6 แห่ง และเรือนจำ 28 แห่ง รวมทั้งสิ้น 34 แห่ง ทั้งนี้ รวมจำนวนเงินที่กองทุนกำลังใจฯ ได้พระราชทานความช่วยเหลือให้เรือนจำ และสำนักงานคุมประพฤติ รวม 34 แห่ง ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 2,830,000 บาท และสร้างคนต้นแบบโครงการกำลังใจฯ 333 คน

Advertisement