พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 มีนาคม 2568 ประธานผู้แทนการค้าไทยหารือ MITACS แคนาดา เร่งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านวิจัย นวัตกรรม และแลกเปลี่ยนนักวิชาการ เสริมความแข็งแกร่งนโยบาย ODOS พร้อมผลักดันโครงการวิจัย AI และควอนตัม

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ดร.นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย พร้อมด้วยนายกัลยาณะ วิภัติภูมิประเทศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา และคณะ ได้พบและหารือกับผู้บริหารขององค์กร MITACS เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัย พัฒนานวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษาระหว่างไทยและแคนาดา

MITACS เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของแคนาดาที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาผ่านโครงการวิจัยร่วมระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะ Accelerate Program ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมออกแบบหัวข้องานวิจัยและรับนักวิจัยเข้าร่วมพัฒนาโครงการจริง ซึ่งช่วยสร้างทักษะและขีดความสามารถให้กับบุคลากรทั้งสองประเทศ

ดร. นลินี เผยเพิ่มเติมว่า MITACS ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง MITACS กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (Council of University Presidents of Thailand) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักศึกษา และคณาจารย์จากไทยสามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยระดับนานาชาติในแคนาดาได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2569

ประธานผู้แทนการค้าไทยได้เน้นย้ำว่า แนวทางดำเนินงานของ MITACS สอดคล้องกับโครงการ One District One Scholarship (ODOS) ของรัฐบาลไทย ที่มุ่งส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาระดับสากลให้กับเยาวชนไทยในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ความร่วมมือกับ MITACS จึงสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการสนับสนุนทุนการศึกษา ODOS และพัฒนาทุนมนุษย์ของไทยอย่างยั่งยืน ตลอดจนจะตอบสนองการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนระหว่างสองประเทศด้วย

ประธานผู้แทนการค้าไทยได้รับทราบว่า ขณะนี้มีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยของไทยร่วมกันนำเสนอหัวข้อวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในแคนาดาแล้วถึง 15 โครงการ ในหัวข้อ เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) สำหรับหัวข้ออื่น ๆ ที่มีผู้สนใจประกอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน

MITACS ยังเน้นบทบาทของตนในฐานะกลไกสนับสนุนนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของแคนาดา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคน การส่งเสริมนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมโยงในระดับประชาชน (people-to-people connectivity) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไทยในการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและความร่วมมือด้านการศึกษาระดับโลก

การหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับพันธมิตรระหว่างประเทศ และการผลักดันนโยบายที่สร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาตนเองบนเวทีโลกให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างแท้จริง