วันที่ 4 เมษายน 2025

นายกฯ ย้ำ หารืออาชญากรรมออนไลน์ไทย-จีน ช่วงเยือนจีน จะคืบหน้าแน่นอน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 กุมภาพันธ์ 2568 นายกฯ ย้ำ การหารือเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ระหว่างไทย-จีน ช่วงเยือนจีน จะต้องมีความคืบหน้าอย่างแน่นอน

วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 12.00 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงประเด็นในการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ จะมีการพูดคุยถึงประเด็นความร่วมมือทางด้านอาชญากรรมออนไลน์ด้วยหรือไม่นั้นว่า  จะต้องมีการพูดคุยกันแน่นอน ซึ่งอาชญากรรมออนไลน์เป็นปัญหาของทั่วโลก ไม่ใช่แค่กับประเทศจีน ในส่วนนี้จะต้องมีการพูดคุย หาแนวทางโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยจัดการ และต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน ปัญหาดังกล่าวทางประเทศจีนเล็งเห็นถึงปัญหาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในเรื่องของการขอความร่วมมือไม่น่าจะเป็นปัญหา และในช่วงบ่ายของวันนี้ นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

ส่วนเรื่องของการที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีจีนที่ได้เข้ามาพูดคุยอย่างไม่เป็นการนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการเดินทางมาแบบไม่เป็นทางการ รัฐบาลไม่ได้รับทราบหรือไปต้อนรับ เพราะการเดินทางมาครั้งนี้เป็นการเดินทางมาด้วยตัวเอง ทั้งนี้ กับประเทศจีนไม่ได้มีความเข้าใจผิด และไม่เป็นปัญหาแน่นอน และการเดินทางไปจีนครั้งนี้จะต้องมีความคืบหน้า เพราะปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เป็นปัญหาของประเทศจีนด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เพราะฉะนั้นการที่จะไปพูดคุยถึงเรื่องนี้ต้องได้รับความคืบหน้าอย่างแน่นอน

Advertisement

 

นายกฯสั่ง มท.เพิ่มความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง จว.ของไทยกับเมือง-มณฑลของจีน จาก 38 คู่ เป็น 50 คู่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 มกราคม 2568 นายกฯย้ำใน ครม. ทุกกระทรวงทำงบประมาณ 69 ต้องประหยัดและคุ้มค่าตรงความต้องการของประชาชน ส่วนโครงการสำคัญของประเทศต้องเร่งดำเนินการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง อีสาน รางคู่ ภาคใต้ ขณะที่ ผลประชุมดาวอส ที่ประชุม ครม. ชื่นชมประเทศไทยได้อะไรมากกว่าที่คิด

วันนี้ (28 มกราคม 2568) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ประจำปี 2568 นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลของประเทศไทยจากการร่วมประชุม World Economic Forum 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือว่าเป็นการนำเอาศักยภาพของไทยในด้านต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ไปโชว์ในเวทีโลกครั้งนี้ ซึ่งคณะรัฐบาล และผู้แทนประเทศไทยในทุกภาคส่วนได้มีโอกาสพบผู้นำระดับประเทศหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ ภูฏาน มอนเตเนโกร สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อาร์เมเนีย รวมถึงผู้นำภาคเอกชน เช่น Google, Bayer, DP world, Coca-Cola, AstraZeneca และ AWS รวมๆ แล้วกว่า 20 รายการตลอดการประชุม 3 วัน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงถึง ศักยภาพของไทย 3 ด้าน คือ

– Logistic hub of Asia โดยเชิญชวนนักลงทุนว่าประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้เปรียบ มีความมั่นคง และเป็นกลางทางการเมือง รัฐบาลจึงได้สานต่อโครงการ LandBridge รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รวมถึง Aviation hub ที่จะมีการสร้างสนามบินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากนโยบายในรัฐบาลนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน โดยขอให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนและเร่งรัดกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Landbridge เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งในเรื่องแผนงาน และกรอบระยะเวลาของโครงการต่อไป

– Kitchen of the World รัฐบาลได้มุ่งเน้นที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security สู่การเป็น World Food storage เพราะไทยมีผลผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอและมั่นคง ซึ่งจะเป็น soft power ที่สำคัญของไทย ขอให้ ประทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำแผนร่วมกันเพื่อให้เกิดการส่งออกสินค้าเกษตรไทย และวัตถุดิบอาหารไทย ไปยังตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่าการส่งออก

– Green energy resources ประเทศไทยพร้อมในการผลักดันด้านพลังงานสะอาด รองรับการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น AWS, Google, Microsoft โดยพลังงานสะอาดถือเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน ขอให้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผน และแนวทางในการสร้างพลังงานสะอาด ที่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนจากต่างชาติ

นอกจากนั้น การเดินทางไปครั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ นายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ของประเทศไทย โดยได้มีการทำ Business Matching ที่จะให้บริษัทของไทย และต่างประเทศได้มีการร่วมทำธุรกิจ ตลอดจนหาแนวทางที่จะยกระดับศักยภาพของคนไทย Upskill / Reskill เพื่อรองรับ Future Industry ที่จะเกิดการลงทุนในไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่าผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการประชุมสำคัญระดับโลกครั้งนี้ คือ การลงนาม FTA Thai-EFTA ได้สำเร็จลุล่วงโดย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้การค้าการลงทุนของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ขอให้ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการต่างประเทศ เร่งรัดการเจรจา FTA ในเขตการค้าอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ETA Thai-EU ให้สำเร็จโดยเร็ว

สำหรับข้อสั่งการที่ 2  เป็นเรื่องครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนขอให้ทุกกระทรวงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามภารกิจของกระทรวง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น เช่น

– ให้ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาสถาปนาความสัมพันธ์แบบเมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดของไทยกับเมืองหรือมณฑลกับประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้วถึง 38 คู่ความสัมพันธ์ โดยเพิ่มเป็น 50 คู่ความสัมพันธ์

– ให้ กระทรวงคมนาคม พิจารณาเร่งรัดกรณีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างไทยและ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศจีนได้ร้องขอให้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว

– ให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัด Promotion ส่งเสริมการท่องเที่ยว ไทย-จีน

ข้อสั่งการที่ 3 เรื่อง ปัญหา PM 2.5 ขอให้แต่ละกระทรวง นำเสนอว่ามีมาตรการอะไรบ้าง และขอย้ำกับทาง กระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องอ้อย ซึ่งยังเห็นการเผาไร่อ้อยในบางพื้นที่ ขอให้ทาง กระทรวงอุตสาหกรรมกวดขันเรื่องนี้ และหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ PM 2.5

ข้อสั่งการเรื่องที่ 4  ให้ดำเนินการศึกษาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วง อ.หาดใหญ่ไปยัง อ.สุไหงโกลกจากการที่นายกรัฐมนตรี ไปตรวจราชการ และมีการประชุมที่จังหวัดยะลา การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอเส้นทางรถไฟทางคู่ ระยะที่สอง ซึ่งเป็นการดำเนินการ ต่อจากระยะที่หนึ่ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งในด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งโครงการรถไฟทางคู่ระยะสองนั้น ขอให้การรถไฟฯ ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่ไปยังสุไหงโกลก โดยขอให้สำนักงบประมาณช่วยสนับสนุนงบประมาณในการศึกษา และออกแบบเบื้องต้นตามที่จำเป็น และเหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย

ข้อสั่งการเรื่องที่ 5 เรื่อง การเสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 ในวันนี้มีหน่วยรับงบประมาณที่เสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีที่มีวงเงินตั้งแต่ 1000 ล้านบาทขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 มีอยู่อย่างจำกัด และมีภาระหนี้ที่เกือบชนเพดาน ตลอดจนเกิดภาระหนี้ผูกพันข้ามปีเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามนโยบายที่ได้ให้ไว้ขอมอบหมาย ดังนี้

1.ให้รัฐมนตรี เจ้าสังกัดทุกท่านกำกับดูแลหน่วยรับงบประมาณให้จัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สุงสุดแก่ประชาชน รวมทั้ง พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลตลอดจนให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ พิจารณานำเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ และเงินสะสม มาใช้ในการดำเนินภารกิจเป็นลำดับแรก

2.ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศต่อไป

Advertisement

นายกฯ เตรียมคุย “สี จิ้นผิง” จับมือแก้คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นควัน หวังแก้ปัญหาสำเร็จเร็วขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 มกราคม 2568 นายกฯ เตรียมคุย “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” จับมือแก้คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นควัน หวังให้ร่วมมือกันจะแก้ไขปัญหาสำเร็จเร็วขึ้น

วันนี้ (28 มกราคม 2568) เวลา 12.30 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ประเด็นทางด้านการท่องเที่ยวตรุษจีน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะมีการพูดคุยหารือนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเดินทางไปครั้งนี้  โดยคาดว่าทางประเทศจีนต้องการที่จะหารือในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน มีความสัมพันธ์ร่วมกันแบบพี่น้องกันมาตลอด เพราะฉะนั้นในการเดินไปในครั้งนี้ เรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฝุ่นควัน จะพูดคุยร่วมกัน รวมถึงการพูดคุยหารือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป เพราะปีนี้ประเทศไทยและประเทศจีนจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประเทศจีนให้ช่วยเรื่องโซเชียลปล่อยข่าวลือหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้หารือเรื่องนี้โดยตรงแล้ว และการที่เดินทางไปจีนครั้งนี้ เพื่อหารือขอความร่วมมือในเรื่องนี้อยู่แล้ว และจากการที่ได้ใช้ AI ทำการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเป็นภาษาจีนนั้น ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีและทางการจีน นั้นก็ได้แสดงความชื่นชมที่ได้ใช้ภาษาจีน

ส่วนประเด็นที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการให้นายกฯ ตั้งทีมงานเพื่อติดตามความคิดเห็นทางโซเชียลวต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว มีการตั้งการตั้งทีมมอนิเตอร์ว่าข่าวเท็จที่เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่แล้ว โดยเป็นกลไกของกระทรวงดีอีอยู่แล้ว ที่ต้องปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศ

เมื่อถามย้ำว่า จะนำประเด็นนี้ไปพูดคุยกับทางการจีนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงแล้วการพูดคุยกับนายสี จิ้นผิง จะเป็นการพูดคุยกันในภาพรวม ส่วนเนื้อหาและรายละเอียดต้องให้กระทรวงดีอีเป็นคนไปพูดคุยต่อไป ซึ่งในส่วนของตนเองก็จะแสดงความห่วงใยในเรื่องคอลเซ็นเตอร์ และพูดคุยในหัวข้อหลัก

Advertisement

“มาริษ” – “ท่านทูตหาน” เปิดตัวตราสัญลักษณ์ฉลองสัมพันธ์ ไทย – จีน 50 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 พฤศจิกายน 2567 “มาริษ” จับมือ “ทูตหาน” เปิดตัวตราสัญลักษณ์ฉลองสัมพันธ์ 50 ปี ก้าวสู่ “ปีทองมิตรภาพไทย – จีน” ภายใต้ยุทธศาสตร์ผู้นำ ‘สี จิ้นผิง-แพทองธาร’

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ​ ร่วมกับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สมาคมมิตรภาพไทย – จีน ภาคเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ณ สุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยกับจีนมีความร่วมมือกันมาตลอด 50 ปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านปัญหา ผ่านความยากลำบาก ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าระหว่างกัน เปรียบเสมือนเป็นผู้ใกล้ชิด ญาติสนิท สมดังคำกล่าวที่พูดกันเสมอมาว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือต่อไปอย่างใกล้ชิดในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ และสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ปี 2568 จึงถือเป็นปีทองของไทยกับจีน มีการจัดเตรียมกิจกรรมมากมาย อาทิ การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานในไทย 73 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้กับประชาชนถึงมิตรภาพที่สำคัญระหว่างไทยกับจีนตลอด 50 ปี ผ่านตราสัญลักษณ์นี้

“ในการประชุมเอเปค ท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ถึงสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทยกับจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมาว่า ทั้งสองประเทศมีสัมพันธ์พิเศษที่ไม่มีประเทศไหนมี ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศของไทยกับจีนจะขับเคลื่อนสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทยและจีนก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและครอบคลุมทุกมิติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี แพทองธาร พบที่กรุงลิมา ประเทศเปรู และบรรลุฉันทามติใหม่ที่สำคัญ เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ภายใต้การนำเชิงยุทธศาสตร์ของผู้นำทั้งสองประเทศ โดยในปีหน้า จีนกับไทยจะร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี หรือปีทองแห่งมิตรภาพจีน – ไทย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีน – ไทย และเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของความสัมพันธ์จีน – ไทย งานเปิดตัวตราสัญลักษณ์ฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์จีน – ไทยในวันนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของกิจกรรมเฉลิมฉลองมากมาย ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่สับสนวุ่นวาย จีนจะยึดมั่นในเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติ และจะส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและการเปิดกว้างในระดับสูง ฝ่ายจีนจะสานต่อมิตรภาพที่ยาวนานระหว่างจีน – ไทย และส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน – ไทยอย่างแน่วแน่ สนับสนุนให้ไทยประสบความสำเร็จมากขึ้นในเส้นทางการพัฒนาประเทศของตนเอง และจะเป็นมิตรที่เชื่อถือได้ และพึ่งพาได้สำหรับประเทศไทยตลอด“ตราบใดที่เรายังคงรักษาปณิธานของการเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรที่จริงใจต่อกัน และจับมือก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน จีน – ไทย และประชาชนของทั้งสองประเทศ ก็จะสามารถมีอนาคตอันสดใสที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาโดยอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสมาคมมิตรภาพไทย – จีน ตลอดจนการประกาศความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและ POP MART INTERNATIONAL GROUP กิจกรรมร่วมกับนักแสดงชาวไทย นายชานน สันตินธรกุล และการแสดงชุด “ตอแบ๋ตั๋วะ” โดยคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ด้วย

Advertisement

คณะผู้แทนไทยเตรียมพร้อม 10 ประเด็นการเจรจา COP29

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 พฤศจิกายน 2567 สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน – คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม COP29 อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเตรียมพร้อม 10 ประเด็นเจรจานานาชาติสำหรับการประชุม High-level

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประชุมร่วมกับคณะผู้แทนไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการเจรจาในช่วงสัปดาห์แรก เตรียมพร้อมก่อนเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment) ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 19 – 20 พ.ย. 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

สำหรับความก้าวหน้าผลการเจรจาในสัปดาห์แรกของการประชุม COP29 มีประเด็นสำคัญ 10 ประเด็น ดังนี้ 1) เป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่ (New Collective Quantified Goal: NCQG) เพื่อระบุจำนวนเงินต่อปีที่ชัดเจนความโปร่งใสของการสนับสนุน และการเข้าถึงได้ง่ายของประเทศกำลังพัฒนา 2) การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เพื่อจัดทำในครั้งที่ 2 และเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่การจัดทำ NDC 2035 และการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิก 3) การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายระดับโลก 4) การเร่งสร้างกติกาและกลไกดำเนินงานของกองทุนจัดการความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) 5) การหาข้อสรุปให้เกิดความร่วมมือและกลไกที่เอื้ออำนวยการดำเนินงานระหว่างภาคีด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส 6) การสร้างช่องทางออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเกษตรด้านวิชาการและสนับสนุนทางการเงิน 7) การเสริมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (Action for Climate Empowerment: ACE 8) การกำหนดสาระของรายงานผลความคืบหน้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสองปี ที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องจัดส่งภายในสิ้นปี ค.ศ. 2024 9) การขับเคลื่อนศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว และ 10) การสร้างกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะติดตามประเด็นต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบกับประเทศไทยซึ่งจะเชื่อมโยงกับการจัดทำนโยบาย การดำเนินงาน และการรับการสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Advertisement

ไทยรับมอบ 4 วัตถุโบราณบ้านเชียง อายุกว่า 3,500 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 พฤศจิกายน 2567 ประเทศไทยรับมอบ 4 วัตถุโบราณบ้านเชียง อายุกว่า 3,500 ปี ย้ำความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสหรัฐ

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรมรับมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง 4 ชิ้น จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประกอบด้วย ภาชนะดินเผา กำไลข้อมือ และลูกกลิ้งทรงกระบอกสองชิ้นที่ยังไม่ทราบการใช้งานที่แน่ชัด โดยวัตถุโบราณดังกล่าว มีลวดลายเขียนสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก และได้รับยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีของมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 3,500 ปี

“พิธีการส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงพิธีครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อแหล่งที่มาของโบราณวัตถุแล้ว ถือเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมมาต่อเนื่อง ต่อจากการส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ โกลเด้นบอย เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการนำวัตถุโบราณ ที่ห่างไกลจากประเทศไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะสถานทูตสหรัฐที่ติดต่อและส่งคืนวัตถุโบราณล้ำค่าชิ้นนี้ รวมถึงหน่วยงานทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือโดยเฉพาะองค์การยูเนสโก” นางสาวศศิกานต์ ระบุ

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศ และได้วางแนวทางติดตามวัตถุโบราณคืนสู่ประเทศไทยทุก ๆ สามเดือน และได้รับแจ้งว่าสหรัฐจะส่งคืนโบราณสถานให้ไทยอีก 2 ชิ้น เป็นประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ และภายหลังการรับมอบโบราณวัตถุทั้ง 4 ชิ้น จะมีการจัดแสดงให้ผู้สนใจได้เข้าชมยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่อไป

Advertisement

นายกฯ ภูมิใจความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 พฤศจิกายน 2567 เปรู – นายกฯ ประชุม APEC CEO Summit ภูมิใจความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการราคาถูก-เท่าเทียม ย้ำ ระบบสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เดินหน้าใช้ประโยชน์นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมขอความร่วมมือเอเปคสนับสนุนการสร้างระบบที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมทุกช่วงวัย

เวลา 15.40 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง ณ เดอะ แกรนด์ เนชั่นนอล เทียร์เตอร์ ออฟ เปรู กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (the APEC CEO Summit) ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพราะสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ และเกี่ยวพันโดยตรงกับความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่ต้องเผชิญ

ประเทศไทยจึงเชื่อว่า ระบบสาธารณสุขถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะสุขภาพที่ดีจะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ และเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของไทย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่บรรลุเป้าหมายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) หรือ UHC ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ราคาไม่แพงและเท่าเทียมกันมายาวนานกว่า 22 ปี จึงสามารถพูดได้ว่า ปัจจุบันคนไทยมากกว่า 99% มีประกันสุขภาพแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลสำหรับครอบครัวที่ประสบปัญหาได้อย่างแน่นอน

พร้อมย้ำว่า ปัจจุบันไทยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ส่งผลให้ประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดภายในทศวรรษหน้า อันจะส่งผลให้กำลังแรงงานและประสิทธิภาพการผลิตลดลง ไทยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบ UHC เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในลักษณะที่ครอบคลุมและมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการประกาศนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่” ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหมดเป็นระบบระเบียบ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การเข้าคิว การส่งต่อ การวินิจฉัยโรค การสั่งยา การบริการสุขภาพ เข้าถึงผู้คนทุกวัย รวมถึงประชากรสูงวัย ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ของไทยทุกคนสำหรับการบริการและความทุ่มเท เนื่องจากระบบการแพทย์ทางไกลช่วยให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพจากที่บ้านได้ และเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของไทยกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่ง ได้อย่างอย่างไร้รอยต่อ

ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ผ่าน“แอปพลิเคชันสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application)” ซึ่งให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพกับผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสุขภาพที่ดี ตลอดจนสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมทุกมิติ

ด้วยเหตุนี้ อยากให้เอเปคสนับสนุนคนในทุกช่วงวัยใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีเป้าหมาย และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น เอเปคจึงควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประชากรศาสตร์ทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ เข้ามาช่วยสนับสนุนระบบให้มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้ประชากรสูงวัยมีชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังสนับสนุนให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมทักษะใหม่และยกระดับทักษะด้วย

เนื่องจากเห็นว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้แนะให้ดูแลสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายได้ดีขึ้น และสามารถลดโอกาสการเกิดโรคร้ายแรงได้ ซึ่งจากแนวคิด the Care and Wellness Economy ที่ผสมผสานสุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรม โดยเพิ่มการให้การบริการดูแลอย่างจริงใจนั้น เชื่อว่าจะสามารถมอบโอกาสมากมายที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าประเทศไทยจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างแข็งขัน และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ และมีต้นทุนที่เอื้อมถึง ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้นโยบาย กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย ให้มีมาตรการทางภาษีและมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ บริการด้านสาธารณสุข และการวิจัยทางคลินิก ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย โดยที่ไทยพร้อมจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เดินหน้าทำงานเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนระหว่างประเทศ และ มีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงชุมชนธุรกิจเอเปคต่อไป เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ของประชาชนในภูมิภาคและพื้นที่อื่นๆ

Advertisement

รมว.ต่างประเทศระบุ ผลการเจรจา MOU44 เพื่อใช้ประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 พฤศจิกายน 2567 รมว.กต.ยืนยันผลการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ประชาชนไทยต้องเห็นชอบก่อน – ย้ำผลประโยชน์ต้องเป็นของประชาชน – ชี้ MOU44 เป็นกลไกทำให้การเจรจาไทยกับกัมพูชาเดินหน้าได้

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณอ่าวไทยว่า ผลการเจรจา หากจะสำเร็จ และยุติได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐสภาของทั้งสองประเทศ จะต้องให้ความเห็นชอบ ผ่านการเสนอจากคณะรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า เห็นชอบกับผลการเจรจาหรือไม่ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง

ส่วนการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถกระทำได้จนกว่าการเจรจาดังกล่าวจะมีข้อยุติ โดยผลการเจรจาจะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่ง MOU44 กำหนดให้จะต้องเจรจา 2 เรื่องทั้ง “เขตทางทะเล” และ “การพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน” ไปพร้อม ๆ กันโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ พร้อมยืนยันว่า หากการเจรจาสำเร็จ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนคนไทย ที่จะมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ใช้พลังงานที่มีราคาถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นายมาริษ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU44 เพราะถือเป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชา และทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดนว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของกัมพูชา และไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใด ๆ เพราะเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะสาระสำคัญ ใน MOU44 เป็นเพียงการตกลงร่วมกัน “เพื่อที่จะเจรจาเท่านั้น” โดยแผนผังแนบท้าย เป็นเพียง “ภาพประกอบของพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปของแต่ละประเทศ” ซึ่งเส้นอ้างสิทธิในข้อตกลงนี้ ไม่ใช่เส้นเขตทางทะเล ตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด

นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า การคงไว้ซึ่ง MOU44 เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะข้อตกลงนี้ทำให้ ทั้งสองฝ่าย มีพันธกรณีที่จะต้องมาเจรจากัน ทั้งในเรื่อง “เขตทางทะเล” และ “พื้นที่พัฒนาร่วม” ไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลเมื่อปี 2552 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU44 โดยให้ไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และรัฐสภานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ในกระบวนการศึกษาข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือ และรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านกฎหมาย จนได้ข้อสรุป เสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีในปี 2557 ว่า การคง MOU44 ไว้ เป็นผลดีมากกว่าเสีย และที่สำคัญการมีเขตทางทะเลที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเจรจาการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

“ขอให้เชื่อมั่นว่า การเจรจาจะคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด” นายมาริษ ยืนยัน

Advertisement

 

นายกฯยันจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา เพื่อกลั่นกรองข้อมูล – สื่อสาร

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 พฤศจิกายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” คาดแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย – กัมพูชา เข้าที่ประชุม ครม. อีก 2 สัปดาห์ ย้ำจำเป็นต้องมากลั่นกรองข้อมูล – สื่อสาร

วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2567) เวลา 11.45 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ถึงประเด็นที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้งคณะทางเทคนิคที่จะไปพูดคุยกับทางด้านประเทศกัมพูชา ว่า ยังไม่มีการแต่งตั้งวันนี้ยังไม่มีเรื่องดังกล่าวเข้าในที่ประชุม ครม. แต่คิดว่าไม่เกินอีกสองสัปดาห์จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.

ผู้สื่อข่าวได้ถามว่าเป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องพูดคุยเจรจา กับทางด้านประเทศกัมพูชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่อง MOU 44 ที่ได้พูดเมื่อวานต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อเจรจา อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องระหว่างประเทศเราต้องมีคณะกรรมการ และเป็นที่แน่นอนว่าทุกรัฐบาลมีมาแล้ว แต่รัฐบาลนี้ยังแต่งตั้งไม่แล้วเสร็จ แต่ถ้าแต่งตั้งแล้วเสร็จเมื่อมีคำถามหรือต้องสื่อสารกับประชาชนภายในประเทศหรือแต่ละประเทศอย่างไร คณะกรรมการนี้จะกรองเรื่องของข้อมูลและการสื่อสารก่อน เพราะฉะนั้นต้องมีการแต่งตั้งแน่นอน ตั้งไว้เพื่อเจรจากัน

ส่วนจะเป็นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นั่งเก้าอี้เป็นประธานฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี  ระบุว่า คงต้องไปดูกันอีกที

Advertisement

 

นายกฯระบุหากไทยยกเลิก MOU 44 อาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 พฤศจิกายน 2567 นายกรัฐมนตรี ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีการยกเลิก MOU 44 เตรียมตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย คุย กัมพูชา ยืนยันรัฐบาล รักษาผลประโยชน์ให้คนไทย

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) เวลา 15.00 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณี MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย – กัมพูชา  เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา โดยยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมาตั้งนานแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เกาะกูด ไม่เคยมีปัญหากับทางกัมพูชา และไม่เคยมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันของคนในประเทศไทยเอง  ซึ่งความจริงแล้วขอให้มั่นใจได้ว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย  ส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถมีการยกเลิกได้ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ  หากไทยยกเลิกเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ

ส่วนรัศมีรอบเกาะกูดในพื้นที่ทะเล มีความชัดเจนอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า MOU ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เพราะเส้นที่ตีหากไปดูทางกัมพูชาก็ได้ตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกัน ซึ่งในการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดิน แต่มีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ นี้คือความหมายใน MOU 44 ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้น หรือต้องตกลงพูดคุยกันอย่างไร ต้องมีคณะกรรมการ คณะทำงานมาพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการด้วย เนื่องจากคณะกรรมการต้องจบไปตามรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการนี้อยู่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ จะได้คณะกรรมการในเร็วๆ นี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเสร็จสิ้น ก็จะมีการศึกษาและหารือกัน ว่าระหว่างประเทศจะดำเนินการข้อตกลงอย่างไร

ส่วนที่มีการมองว่า หากไม่ยกเลิก MOU 44 จะทำให้ไทยยอมรับเส้นของกัมพูชานั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ไม่มีการยอมรับเส้นใด ๆ ซึ่ง MOU นี้ คือการที่คิดไม่เหมือนกันแต่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาได้ดำเนินการขีดเส้นมาก่อน เมื่อปี 2516 ประเทศไทยก็ดำเนินการขีดเส้นด้วย เมื่อขีดเหมือนกัน แต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงต้องมี MOU ขึ้นมา แล้วเปิดการเจรจา เป็นความเท่าเทียมกันว่าทั้งสองประเทศ จะต้องพูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร  โดย MOU นี้ไม่เกี่ยวข้องกันเกาะกูด และเกาะกูดก็ไม่ได้อยู่การเจรจา จึงขอให้คนไทยสบายใจได้ว่าจะไม่เสียเกาะกูดไป ซึ่งกัมพูชาไม่สนใจเกาะกูดของไทย เพราะไม่ได้อยู่ในการเจรจานี้ จึงขอให้ประชาชนอย่ากังวลเรื่องนี้

ขณะเดียวกันมีข้ออ้างว่า ไทยมีมติ ครม. ยกเลิก MOU 44 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้  ข้อเท็จจริงคือ mou 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่มีการตกลงระหว่างสองประเทศ และเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มี และเมื่อปี 2552 ไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา และในปี 2557 พลเอกประยุทธ์ ยืนยันเป็นเนื้อเดียวกัน มีมติ ครม.ว่าไม่มีการยกเลิก

ส่วนมีกระแสให้มีการยกเลิก MOU 44  นายกรัฐมนตรี จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ายกเลิกแล้วได้อะไร ซึ่งการยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศอาจคิดไม่เหมือนกันได้ เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็ต้องมีข้อตกลงเพื่อมาพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การรักษาความสงบของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นใน MOU นี้ เปิดให้ทั้งสองประเทศพูดคุยกัน ซึ่งหากไทยยกเลิกอาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ไม่มีประโยชน์ใด ๆ  ซึ่งการหารือในวันนี้ ยืนยันว่าตนเองรับฟังเสียงคัดค้าน จึงมีการมาพูดคุยและทุกคนตกลงในเนื้อหาเดียวกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจตามรายละเอียดว่า เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจเพื่อจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า  MOU ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด และ MOU เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ  และไทยยังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องของการตกลงเรื่องนี้ อย่านำเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน  ขอให้ทำความเข้าใจต่าง ๆ  ให้ตรงกันตามหลัก และพรรคร่วมรัฐบาล ก็เห็นด้วยในการเดินหน้า MOU ต่อในเรื่องนี้   ขณะนี้กัมพูชารอฝ่ายไทยตั้งคณะกรรมการ เพื่อเป็นตัวแทนไปพูดคุย เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่บานปลายหากทุกคนเข้าใจในหลักการ เพราะคือข้อเท็จจริง ยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลังใด ๆ  แต่นี้คือกรอบเป็นไปตามกฎหมาย และเรื่องนี้ไม่เป็นเผือกร้อนในมือของตนเอง

ส่วนแนวทางของรัฐบาลไทยกับข้อตกลงผลประโยชน์ที่ทับซ้อนทางทะเล จะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศพร้อมศึกษารายละเอียดจะสามารถแบ่งกันอย่างไร เพื่อทั้งสองประเทศได้ผลประโยชน์และเกิดความยุติธรรม เพราะหลายคนรู้ว่ามีก๊าซธรรมชาติ และสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้รู้ในรายละเอียดต่าง ๆ ไปศึกษาร่วมกันทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้คำตอบต่อประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งอยู่ในกระบวนการต่อไป

ส่วนจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนคชั่นดี ๆ ได้ เปรียบเหมือนมีเพื่อนสนิท ก็สามารถคุยกับเพื่อนสนิทได้ แต่เรื่องผลประโยชน์แต่ละประเทศต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อจะได้ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งเรื่องของประเทศบางอย่างที่สำคัญต้องใช้กรรมการคุยกัน เพื่อจะเกิดความรู้ รู้ครบ และมีความยุติธรรม เป็นสิ่งสำคัญและยืนยันรัฐบาลนี้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างสูงสุด เพราะตนเองเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์และประเทศไทย คนไทย ต้องมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ

Advertisement

Verified by ExactMetrics