วันที่ 3 เมษายน 2025

“บวรศักดิ์” แถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ให้เร่งจัดตั้ง 1 นักกฎหมาย 1 ตำบล

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อ “กฎหมายยุคใหม่ เท่าเทียมและเป็นธรรม” มีสาระสำคัญ ดังนี้

การกำหนดกรอบการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายพิจารณาจากเรื่องที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีการกำหนดกลไกที่สำคัญไว้หลายประการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะหลักการตามมาตรา 77 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 โดยจะมีปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มีความล้าหลัง เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ดี และสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน

อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบทั้งในขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมายและการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และสร้างการรับรู้และเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย เพื่อสื่อถึงความต้องการของสังคมและเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงสาระของกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเด็นการปฏิรูปและผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายนั้นมุ่งเน้นการสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามหลักการ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ THAILAND 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยกำหนดประเด็นปฏิรูปด้านกฎหมายเพื่อรองรับตามหลัก “ทวิยุทธศาสตร์” ทั้งในเรื่องของการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกล่าวย้ำว่า เป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 10 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. มีกลไกให้การออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็นรวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน 3. มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม 4. มีกลไกให้มีการตรากฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5. พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจาณาร่างกฎหมายให้ รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 6. มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 7. มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย 8. ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี 9. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้โดยสะดวก และ 10 มีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย โดยได้กำหนดให้เร่งดำเนินการตั้งยุติธรรมชุมชนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะมี 1 นักกฎหมาย ต่อ 1 ตำบล ช่วยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมายให้เข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากปัจจุบันอาจจะมีสภาทนายความฯ สำนักอัยการสูงสุด และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอาจจะมีการช่วยเหลืออยู่แล้วแต่อาจจะเข้าไปไม่ทั่วถึงยังประชาชนทุกตำบล โดยจะมีการจัดอบรมให้แก่ยุติธรรมชุมชนในเรื่องของกฎหมายใหม่ๆ 1 ตำบล 1 นักกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

People unity news online : post 3 เมษายน 2561 เวลา 07.30 น.

ก.ศึกษาฯเตรียมมอบของขวัญปีใหม่ “Hi-Speed Internet” เร็วแรงส่งตรงถึงโรงเรียนทั่วไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนและสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่จะเริ่มต้นปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถใช้ Hi-speed Internet ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบริหารจัดการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART, TELECOM, AIS, 3BB) พร้อมจะยกเลิก MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service provider) แต่เป็นผู้ซื้อสัญญาณจากเอกชนส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แถมยังใช้งานได้ไม่คุ้มค่าและไม่เต็มศักยภาพด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ จึงต้องการมาพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้บริหารและครูในพื้นที่เอง มาดูให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของโรงเรียนและสถานศึกษา หลังจากที่ไปดูโรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์เป็นจุดแรก และถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างขนาดเล็กที่ดี ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญและมีข้อมูลในการบริหารงาน รู้สภาพปัญหาอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนอย่างแท้จริง พร้อมหาแนวทางแก้ไข และเลือกสิ่งที่ดีทีสุดต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน

ดังนั้น ตั้งแต่ปีใหม่ปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของโครงการ “Hi speed Inernet” ด้วยการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างถูกต้องก่อน คือการให้ผู้อำนวยการโรงเรียน/สถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด มีอำนาจตัดสินใจเลือกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดต่อนักเรียนและโรงเรียน และช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มความรู้แก่บุคลากรเกี่ยวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดีขึ้น, การจัดหาอุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ เช่น Router Access point เพื่อแปลงสัญญาณให้มีความแรงและเร็วมากขึ้น ตลอดจนหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างทันท่วงที โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้กำกับช่วยเหลือ พร้อมกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งของการทำงาน ที่จะต้องรู้ข้อมูลด้านอินเทอร์เน็ตในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ของตนเอง, โรงเรียนใช้บริการอะไรอยู่บ้าง, โรงเรียนสามารถใช้ของผู้ให้บริการรายใดได้บ้าง เป็นต้น

ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งวางรากฐานก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเสนอโครงการขยายรากฐานเครือข่าย UNINet  ไปยังโรงเรียนอีก 20,000 แห่ง งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท  เพิ่มเติมจากที่ UNINet  ได้วางรากฐานไปยังโรงเรียน สพฐ. กว่า 10,000 แห่ง และในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 426 แห่งแล้ว เพื่อให้เป็น High way internet ที่มีความเร็วและแรงเพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยทุกคน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อดีทันสมัย องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยลดช่องว่างและสร้างโอกาสในชีวิต ให้ไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง สำหรับประชาชน ศธ.มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ UNINet เพื่อร่วมใช้หนังสือและสื่อ e-Book ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น Smart farmer, การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

และขอยืนยันว่า การยกเลิก MOENet  ไม่เพียงจะช่วยประหยัดงบประมาณถึงกว่า 1,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ ศธ. บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการประหยัดงบประมาณไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เมื่อเทียบกับโอกาสที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับ ที่คาดว่าจะมีค่ามากกว่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของโรงเรียนและสถานศึกษาตลอดจนหน่วยงานในสังกัด ศธ.ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ทั้ง 452 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 328 แห่ง สถานศึกษา สอศ. 16 แห่ง และหน่วยงาน สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ของสำนักงาน กศน. 108 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการจากอินเทอร์เน็ตจากทั้งของภาครัฐ (UNINET, MOENET) ดาวเทียม ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น TOT Triple CAT 3BB เป็นต้น โดยปัญหา/อุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายราย, บุคลากรขาดความรู้ความชำนาญในการบริหารงานเครือข่าย และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกเช่าสัญญาณจากผู้ให้บริการ (ISP) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่ให้บริการ, ขาดช่องทางการสื่อสารกับผู้รับผิดชอบในการดูและรักษาระบบ, เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้งาน เป็นต้น

People unity news online : post 25 ธันวาคม 2560 เวลา 14.10 น.

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ กำหนดให้มีมาตรการ PPP Promotion แก่ภาคเอกชน

People unity news online : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และมีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ และสามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้นี้

1.“Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น

2.“Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน

3.“Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้

4.“Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ

นายเอกนิติ กล่าวสรุปว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีผลใช้บังคับ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมของเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง สะดวกสบาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

People unity news online : post 7 เมษายน 2561 เวลา 14.00 น.

รมว.ศึกษาฯเผย 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เตรียมเปิดสอนในไทย

People unity news online : รมว.ศึกษาธิการ เผยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 2 แห่ง “คาร์เนกีเมลลอน” จากสหรัฐอเมริกา และ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน” เตรียมเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆของโลก อาจมีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Robotics และอันดับสองด้าน Computer Science จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย ซึ่งจากการได้ไปพบปะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนยืนยันถึงความประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับนักเรียนไทย ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ไม่ต้องขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ

โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในปีแรกนี้จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 10 คน และในปีต่อไปจะเปิดรับระดับปริญญาเอก 10 คน ระดับปริญญาโท 25 คน และจะค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นต่อไป โดยนำหลักเกณฑ์การรับนักศึกษา ระบบการเรียนการสอน และการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งเป็นปริญญาที่มีศักดิศรีเทียบเท่ากับที่คาร์เนกีเมลลอนมอบให้นักศึกษาของตนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการใช้สถานที่และอาจารย์ร่วมกัน โดยอาจารย์ของไทยที่จะสอนนั้นต้องไปร่วมสอนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องได้ใบรับรองก่อนจึงจะสามารถสอนได้

ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนนี้ จะนำข้อเสนอหลักเกณฑ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ต้องกังวลว่าจะมาเปิดแข่ง เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังไม่เปิดสอน ซึ่งการเปิดการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าว มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายพร้อมสนับสนุนด้วย เนื่องจากเป็นสาขาที่เป็นนวัตกรรมชั้นสูง ตอบโจทย์การผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) สนใจที่จะมาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เมืองการศึกษาอมตะนคร จ.ชลบุรี

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนมีสาขาหลายประเทศทั่วโลก เช่น ที่ประเทศรวันดา โปรตุเกส กาต้าร์ เหตุที่สนใจมาเปิดที่ประเทศไทยเนื่องจากรักและชื่นชอบนักศึกษาไทย ทั้งนี้มีนักศึกษาไทยที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จำนวน 342 คน ถือเป็นโอกาสในการระดมทุนจากอดีตนักศึกษามาสนับสนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งในเดือนมกราคม 2561 จะมีการจัดการประชุมครั้งใหญ่สำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจากทั่วโลกในประเทศไทย ถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่ลูกหลานจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับโลกทั้งสองแห่ง ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่มีศักยภาพสูงดังกล่าว อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน และมีความสำคัญต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

People unity news online : post 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.10 น.

รมว.กลาโหม หนุนวิจัย ผลิตยุทโธปกรณ์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 พฤศจิกายน 2567 “ภูมิธรรม” รมว.กลาโหม หนุน สทป. ผนึกกำลังเหล่าทัพ-เอกชนในประเทศ สร้างนักวิจัย ร่วมผลิตยุทโธปกรณ์ ให้ตอบโจทย์กองทัพและพร้อมรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ชี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องใช้เวลา เชื่อคนไทยมีศักยภาพ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางตรวจเยี่ยมสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่ง เพื่อรับทราบภารกิจ ขีดความสามารถ และผลการดำเนินงานที่สำคัญ รวมถึงผลงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การส่งเสริมสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ตลอดจนการพัฒนาสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมนี้ พร้อมทั้งมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่สถาบันฯ

โดยมี พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พล.อ.ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบัน ให้การตอนรับ

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สักการะพญาคชสีห์ เยี่ยมชมผลงานวิจัยและพัฒนาที่โดดเด่น รับฟังบรรยายสรุปภารกิจของสถาบัน ลงนามในสมุดเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมผลงานโครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) และศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ (DTI-UTC) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในโอกาสพิเศษนี้ พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้มอบเครื่องหมายกิตติมศักดิ์และประกาศนียบัตรผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับให้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นเกียรติในโอกาสเยี่ยมชมสถาบัน

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ให้การต้อนรับในวันนี้ หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานและผลงานของสถาบันแล้ว ผมมั่นใจว่าสถาบันมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการและความพร้อมรบของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นหน่วยงานสำคัญภายใต้กระทรวงกลาโหมที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์อย่างมีมาตรฐานและเชื่อถือได้ ผมเชื่อมั่นว่าสถาบันจะสามารถต่อยอดผลงานไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต”

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ คือกลไกก้าวสำคัญในการนำพาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยก้าวไปข้างหน้า การตรวจเยี่ยมครั้งนี้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสถาบันในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไทยในระดับนานาชาติ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมที่ สทป. ในครั้งนี้เนื่องจากเป็นองค์กรมหาชนภายใต้การดูแลของ กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศไปถึงจุดขั้นสูงสุดให้ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ของประเทศ ซึ่งถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา ในหลายด้าน เช่นการผลิตกระสุนปืน จรวด และโดรน จึงขอชื่นชมความสามารถของนักวิจัย สทป. แต่สิ่งที่สำคัญต้องตอบโจทย์ผู้ใช้คือเหล่าทัพ เพราะปัญหาในขณะนี้คือการใช้งานในประเทศต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าของที่เราผลิตนั้นได้มาตรฐาน ซึ่งทราบว่ามีบางส่วนที่เราผลิตขึ้นมาและส่งไปตรวจสอบมาตรฐานในต่างประเทศแล้ว

ทั้งนี้ หากสร้างความมั่นใจในการใช้ในประเทศได้ก็จะนำไปสู่การขายให้กับประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น ทั้งนี้ได้กำชับถึงนโยบายการพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานและเชื่อมั่นว่านักวิจัยของ สทป. ในการสร้างเครื่องมือและ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ เท่านี้ยังไม่เพียงพอ ต้องเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก เพราะจุดอ่อนของบ้านเราคืองานวิจัยมักจะไม่ถูกนำมาใช้ และงานวิจัยบางทีไม่ได้ทำแบบองค์รวม เป็นการแยกส่วนดังนั้นต้องตั้งเป้าหมายและทิศทางให้ชัดเจน เพราะสิ่งสำคัญคือเราเคยชินกับการซื้อยุทธโธปกรณ์ หากจะมีการเปลี่ยนผ่านก็คงต้องร่วมมือกับบริษัทที่เป็นคู่ค้า ในเรื่องของการให้เทคโนโลยี ของการเข้ามาร่วมทุนในประเทศ

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากการพัฒนาด้าน ยุทโธปกรณ์แล้ว เรายังจะต้องให้ความสำคัญกับภัย คุกคามรูปแบบใหม่ ถือว่าเป็นความท้าทายของกองทัพ ที่จะพัฒนาตนเองในการรองรับรูปแบบใหม่เหล่านี้ และตนมีแนวคิดที่จะจัดสัมมนา ร่วมกันของเราทัพ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน และจัดลำดับความสำคัญ เพิ่มทักษะความรู้ของนักวิจัยในประเทศ เชื่อมั่นว่าคนไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศ

Advertisement

“ประวิตร” เปิดผลงานป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย พร้อมดันไทยสู่ “เทียร์ 2” ในปี 65

People Unity News : วันนี้ (11 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และให้เจ้าหน้าที่ได้นำแผนปฏิบัติการฯ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิบัติการฯ และทำงานอย่างประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 และกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และสร้างเครื่องมือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของทุกภาคส่วนให้ประสานสอดคล้องกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติ คู่มือต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการฯฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยย้ำถึงการดำเนินงานปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย และภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้อาชญากรรมต่างๆลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 188 คดี สูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้

Advertisement

รัฐบาลเชิญชวนประชาชน-ผู้ประกอบการใช้บริการ e-Service ภาครัฐ ครอบคลุมงาน 3 ด้าน 725 บริการ

People Unity News : 15 มกราคม 2566 รัฐบาลเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการใช้บริการ e-Service ภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. รวบรวม 725 งานบริการ ครอบคลุมงาน 3 ด้าน บริการเพื่อประชาชน แรงงาน และบริการผู้ประกอบธุรกิจ/เอสเอ็มอี ไว้ให้ครบจบในที่เดียว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ นำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้สำหรับบริการ รวมถึงการปรับปรุงระบบการติดต่ออนุญาตต่างๆ ให้อยู่ในรูปบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้รวบรวมระบบบริการ e-Service ที่ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐได้พัฒนาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไว้ในที่เดียวรวม 725 งานบริการ ครอบคลุมงานบริการ 3 ด้านหลัก ซึ่งรัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการเลือกใช้บริการได้เพียงคลิ๊กเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ลิงค์ http://bit.ly/3veQn5L หรือสแกนคิวอาร์โค้ด แล้วเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า e-Service ภาครัฐทั้ง 725 งานบริการ แยกเป็นบริการ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านที่ 1 งานบริการเพื่อประชาชน รวม 82 บริการ แยกเป็นงานบริการย่อยอีก 8 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านสวัสดิการภาครัฐและการขอความช่วยเหลือ 10 งานบริการ 2)ด้านการขนส่ง คมนาคม และการเดินทาง 13 งานบริการ 3)ด้านที่ดิน ภาษี และธนาคาร 10 งานบริการ 4)ด้านสาธารณูปโภคและการขอใช้ที่สาธารณประโยชน์ 11 งานบริการ 5)ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม 15 งานบริการ 6)ด้านการสอบ การศึกษา 4 งานบริการ 7)ด้านทะเบียนราษฎรและตรวจสอบข้อมูล 16 งานบริการ และ 8)ด้านสุขภาพ 3 งานบริการ

สำหรับด้านที่ 2 บริการด้านแรงงานหรือส่งเสริมการมีงานทำรวม 98 งานบริการ แยกเป็นงานบริการย่อย 4 ด้าน ได้แก่ 1) บริการด้านประกันสังคม 12 งานบริการ 2) ด้านการส่งเสริมอาชีพ และการฝึกอบรม 15 งานบริการ 3) บริการด้านการขึ้นทะเบียนและการขอใบประกอบวิชาชีพ 39 งานบริการ และ 4)ด้านการสอบ การศึกษา 32 งานบริการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ด้านที่ 3 งานบริการผู้ประกอบธุรกิจ/SMEs รวม 545 งานบริการ แยกเป็นงานบริการย่อย 6 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านการขออนุญาตและจดทะเบียน 248 งานบริการ 2)ด้านการขออนุญาตเกี่ยวกับวัตถุอันตราย 68 งานบริการ 3)งานบริการด้านสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า 9 งานบริการ 4)ด้านการเงิน ภาษี และสิทธิประโยชน์ 82 งานบริการ 5)บริการด้านการส่งออก-นำเข้า 86 งานบริการ และ 6)ด้านการรับรองมาตรฐานและตรวจสอบข้อมูล 52 งานบริการ

Advertisement

วันนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบใช้บริการแล้ว

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดี วันนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) จากสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง กำชับดูแลความพร้อม ความปลอดภัยช่วงทดสอบฯ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มตั้งแต่วันนี้ (3 มิถุนายน 2566) จากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง ก่อนขยายระยะทางต่อไป โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน กำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการ และดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ร่วมกับ ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยประกอบการพิจารณาช่วงสถานีที่จะให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น รฟม. ชี้แจงว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จะพร้อมให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี ได้แก่ สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีหัวหมาก จะจำกัดให้ประชาชนใช้เฉพาะทางเข้า-ออกที่ 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออกที่ 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16) ที่มีความพร้อมก่อน โดยหลังจากนี้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน จะหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาการขยายช่วงสถานี และขยายช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองจะสามารถให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run เพิ่มเติมจนกระทั่งครบตลอดสาย 23 สถานีได้ในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกรัฐมนตรีติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผน พร้อมแสดงความยินดีที่ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการทุกด้าน และเน้นดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่น ๆ มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีอาคารจอดแล้วจรสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

Advertisement

นายกฯระบุการปฏิรูปต้องอาศัยเวลา โดยดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน

People unity news online : นายกรัฐมนตรียืนยันแผนงานปฏิรูปประเทศจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่แก้ปัญหาได้ มุ่งมั่นทำให้ประเทศเดินหน้า ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติ เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยระยะเวลา

เมื่อวานนี้ (15 พฤษภาคม 2561) เวลา 12.50 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานปฏิรูปกฎหมายระบุว่าการปฏิรูปจะสำเร็จยากเพราะให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติแต่ไม่มีแผนงานว่า อยากให้ทุกคนทบทวนในส่วนของข้าราชการควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะผู้ปฏิบัติ เพราะข้าราชการเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาการปฏิรูปในภาพรวมที่มีรายละเอียดอยู่ในแผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีผลงานปรากฎในหลายๆด้าน ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการอำนวยความสะดวก ปัญหาการลงทุน หรือด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เป็นต้น ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำนโยบายต่างๆเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การเดินทาง การขนส่ง และอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้าน ได้ดำเนินการแล้วกว่า 7,000 หมู่บ้าน และจะดำเนินการให้เรียบร้อยทั่วประเทศในเร็วๆนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปในด้านต่างๆนั้น ได้ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ปัญหาต่างๆนำมาซึ่งความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้โดยอาศัยระยะเวลาและสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนโดยสื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ยืนยันว่าคณะทำงานของรัฐบาลทุกคณะนำนโยบายลงสู่การขับเคลื่อนเพื่อการปฏิบัติในทิศทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ และลดผลกระทบที่จะเกิดจากความขัดแย้ง

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.10 น.

“ประยุทธ์” แจงสภา โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยก้าวสู่ระดับโลก

People Unity News : วันนี้ (1 มิ.ย. 65) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย และงบประมาณปี 66 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลนั้นว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงสร้างต่างๆอย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมาจนเกิดผลสำเร็จในวันนี้ รวมถึงนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในการบริหารราชการ แก้ไขปัญหาโควิด-19 โครงการจัดทำ Big Data ต่างๆ ซึ่งล้วนได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น ตลอดจนมีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ และทำกฎหมายใหม่ เพราะต้องอยู่กันด้วยระเบียบ กฎ กติกา กฎหมาย ซึ่งกฎหมายใดที่เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน ต่อประชาชน ก็ต้องช่วยกันให้ผ่านไปให้เร็ว อย่าได้แต่ขัดแย้งกันอยู่เลย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้งบประมาณมากพอสมควร ดังนั้น หากจะลดข้าราชการลง จะต้องพัฒนาการใช้เทคโนโลยี การใช้เครื่องมือก่อน จึงค่อยมีการปรับลดการบรรจุข้าราชการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยรัฐบาลได้ให้นโยบายไปแล้วว่า ในการบรรจุข้าราชการใหม่ ทุกกระทรวงจะต้องลดปริมาณข้าราชการลง จากการเกษียณอายุในแต่ละปี ซึ่งอยู่ในแผนของสำนักงาน ก.พ. อยู่แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกๆในภูมิภาคอาเซียนที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้น โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยของอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยอยูที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที ถือว่าแรงเป็นอันดับต้นๆของโลก รวมทั้งโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวน 74,987 หมู่บ้านทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ITU ในปี 2019 นอกจากนั้น ยังมีโครงการสายเคเบิลใต้น้ำ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ โดยมีอยู่ 1 เส้น วันนี้ได้ดำเนินการต่อซึ่งจะช่วยเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ เชื่อมต่อจีน อินเดีย อาเซียน ที่มีประชากรกว่า 3,300 ล้านคนด้วย

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ในเรื่องการทำให้เกิดสังคมไร้เงินสด พัฒนาแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อนนโยบายมาตรการต่างๆ จนสามารถปฏิบัติได้จริง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถจ่ายเงินโดยตรงให้กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ โครงการพร้อมเพย์ และ QR Payment การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ Any ID เชื่อมโยงหมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน แอพพลิเคชันถุงเงิน รวมไปถึง SME ขนาดเล็ก การใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้ร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตัง ทั้งนี้สำหรับโครงการ 5G ที่รัฐบาลได้วางไว้นั้นสามารถรองรับพัฒนาต่อยอดระบบต่างๆได้อีกจำนวนมากโดยจะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและตรงตัวที่สุด ซึ่งเรื่องของดิจิทัลจะทำให้เกิดรายได้ประเทศเพิ่มขึ้น และเชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ โดยรัฐบาลต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังที่สุด โดยคำนึงถึงศักยภาพโอกาสของไทยคือเรื่องเกษตรกรรม ควบคู่กับการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนในเรื่องของพลังงาน ปุ๋ย หรืออื่นๆ ซึ่งรัฐบาลจะหาวิธีการที่จะดำเนินการให้ได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในส่วนของโครงข่ายเหล่านี้ ได้นำไปสู่เรื่องสาธารณสุข โครงการ Siriraj Smart Hospital โรงพยาบาลอัจฉริยะ และการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้เป็นสถานีอัจฉริยะ ยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในการที่จะร่วมมือกัน ขอย้ำว่า อะไรที่ไม่ดีก็รับไปพิจารณา ส่วนงบประมาณต่างๆ ก็เสนอผ่านจากส่วนท้องถิ่น ส่วนจังหวัดขึ้นมาทั้งสิ้น ผ่านกระทรวง ทบวง กรม คณะทำงานสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจสอบแผนงานและโครงการ ก่อนเสนอเป็นโครงการขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าอะไรที่รัฐบาลจะลงทุนเอง โดยเฉพาะโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเพื่อจะได้สอดประสานกันความต้องการของพื้นที่

Advertisement

 

Verified by ExactMetrics