วันที่ 4 เมษายน 2025

โฆษกรัฐบาลยันเงินหมื่นเฟส 2 ได้แน่ภายใน ก.พ.68

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 ธันวาคม 2567 โฆษกรัฐบาลยันเงินหมื่นเฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุได้แน่ ช้าแต่ชัวร์ คาดไม่เกิน ก.พ.68

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการเสียงจากใจไทยคู่ฟ้า ถึงการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้เมื่อไหร่นั้น ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีการนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังมีข้อสังเกตบางอย่าง จึงทำให้การพิจารณาล่าช้าออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ยืนยันว่า ช้าแต่ชัวร์ พร้อมคาดว่าโครงการสามารถดำเนินการได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ปี 2568

“จึงขอฝากบอกไปยังผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปว่าโครงการเฟส2 มาแน่ แต่ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดอีกเล็กน้อย ส่วนเฟส 3 ขอให้รอติดตาม” โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

Advertisement

กกต. แนะเช็กคุณสมบัติก่อนลงสมัคร อบจ. ให้ดีๆ เตือนรู้ไม่มีสิทธิ แต่ยังลงสมัคร เจอโทษหนัก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 พฤศจิกายน 2567 กกต. ชวนเช็กคุณสมบัติก่อนลงสมัคร อบจ. 23-27 ธ.ค.นี้ เตือนรู้ไม่มีสิทธิแต่ยังลงสมัครเจอโทษหนัก

สำนักงาน กกต.เผยแพร่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะมีการประกาศรับสมัครระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค.67 และมีการเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ 68 โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครที่สำคัญ อาทิ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด หากสมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ส่วนผู้สมัครเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ถึงวันเลือกตั้ง มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

ผู้สมัครเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภา ส่วนผู้สมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่กำหนดวุฒิการศึกษา

สำหรับลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งที่สำคัญ เช่น เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 39 เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันเป็นการกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เป็นข้าราชการหรือมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น

ส่วนการสมัคร ผู้สมัครจะต้องยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดพร้อมหลักฐานการสมัคร เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบรับรองแพทย์ รูปถ่ายหน้าตรง หลักฐานการศึกษาหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร คือ ปี 2564 ,2565,2566 เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษี พร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี และเสียค่าธรรมเนียมในการสมัคร โดยสมัครสมาชิกสภา อบจ. เสียค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวน 2,000 บาท สมัครนายก อบจ. เสียค่าธรรมเนียมจำนวน 30,000 บาท

สำนักงาน กกต. ยังเตือนว่าการสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร มีโทษตามมาตรา 120 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2566 ที่กำหนดว่าผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น 2562 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ 2566 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ 2562 หรือเว็บไซต์สำนักงาน กกต. และขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด และสายด่วน 1444

Advertisement

นายกฯ ขอบคุณประชาชนเชื่อมั่น หลังผลโพลคะแนนรัฐบาลเพิ่ม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 พฤศจิกายน 2567 นายกฯ ขอบคุณประชาชนเชื่อมั่นการทำงาน หลังสวนดุสิตโพลชี้ประชาชนไว้ใจ 2 เดือน คะแนนรัฐบาลเพิ่ม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประชาชนที่ให้ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของตนและรัฐบาล ซึ่งขอยืนยันว่า จะต้องเร่งทำงานหนักอีกมาก เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศที่สั่งสมมานานกว่า 10 ปี ในทุกๆ ด้าน

โดยในช่วง 2 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตลอดระยะปีเศษ ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ทำงานไปได้ประมาณ 2 เดือนกว่า รัฐบาลได้มุ่งเน้นการตอบสนองปัญหาของประชาชนอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินหมื่น การเข้าช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์เมื่อยามเกิดภัยพิบัติในทุกองคาพยพ หรือการแก้ไขปัญหาเชิงรุก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการปราบปรามยาเสพติด ที่เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความพึงพอใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว สอดคล้องกับผลโพลของ “สวนดุสิตโพล” วันนี้ ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนตุลาคม 2567” พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนตุลาคมปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน โดยประชาชนให้คะแนนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน และผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบ คือ มาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงเกิดภัยน้ำท่วม

“รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เร่งเดินหน้าทำงานเชิงรุกผ่านมาตรการ โครงการต่างๆ พร้อมกับเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ผ่านนโยบาย Soft power และจะเร่งขับเคลื่อนทุกนโยบายเพื่อนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศชั้นนำของโลกให้ได้ในเร็ววัน” นายจิรายุ กล่าว

Advertisement

นายกฯ สั่ง คมนาคม-เกษตร-อุตสาหกรรม รับมือ PM 2.5 ไม่รับซื้อข้าวโพด – อ้อย จากการเผาทั้งใน-ต่างประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 ตุลาคม 2567 นายกฯ “แพทองธาร“ สั่ง คมนาคม-เกษตรฯ-อุตสาหกรรมหาแนวทางแก้ PM 2.5 ไม่รับซื้อข้าวโพด – อ้อย จากการเผาทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้ (29 ตุลาคม 2567) เวลา 12.10 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  สั่งการให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว รวมไปถึงปัญหาภาคการเกษตรฯ ว่าจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง เช่น ไม่รับซื้อข้าวโพด อ้อย จากการเผาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาฝุ่นควันจากรถยนต์ และภาคอุตสาหกรรม โดยได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงคมนาคม ให้ตรวจจับรถยนต์เข้มงวดมากยิ่งขึ้น แล้วกระทรวงคมนาคม ให้ออกมาตรการควบคุมโรงงานที่รัดกุมมากขึ้น

Advertisement

โฆษกรัฐบาล โต้ข่าวลือเขี่ยทิ้งคนจน ยันเงินหมื่นเฟส 2 มาแน่ คนลงทะเบียนรับ 100%

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 ตุลาคม 2567 ทำเนียบ – “จิรายุ” โฆษกรัฐบาล โต้ข่าวลือเขี่ยทิ้งคนจน ยันเงินหมื่นเฟส 2 มาแน่ คนลงทะเบียนรับ 100% พร้อมเผยโอนเงินกลุ่มเปราะบางก๊อก 2 แล้ว 3.1 แสนคน ยังค้างอีก 6.5 หมื่นคน ไม่ผูกพร้อมเพย์ เตือนเร่งดำเนินการก่อนเสียสิทธิ์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจ…ไทยคู่ฟ้า” ถึงความคืบหน้าโครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ว่า ตามที่มีข่าวว่ากระทรวงคลังขยับจัดระเบียบสวัสดิการรัฐไล่เขี่ยทิ้งคนจนนั้น ตนได้พูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งยืนยันว่าไม่จริง แต่ในความเป็นจริงโดยเร็ววันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและเศรษฐกิจฐานราก โดยจะมีการหารือถึงแนวทางในการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนข้อมูลบัตรสวัสดิการใหม่ทุก 2 ปี พูดง่ายๆ ก็คือวันสุดท้ายวันที่ 31 มี.ค.2568 ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ช่วงหลังปีใหม่

ทั้งนี้ในรายการได้มีการเปิดเสียงที่นายจิรายุ สัมภาษณ์นายจุลพันธ์ ซึ่งกล่าวยืนยันว่า สุดท้ายเงิน 10,000 บาทถึงมือพี่น้องประชาชนทุกคนที่ลงทะเบียนแน่นอน โดยแบ่งการดำเนินการเป็นเฟส เฟสแรกดำเนินการแล้วในรูปแบบเงินสด สำหรับกลุ่มเปราะบาง ขั้นตอนถัดไปกำลังเริ่มการประชุมหารือเพื่อวางกรอบที่ชัดเจนเพื่อเติมเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มที่ลงทะเบียนแล้วกับแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” รวมถึงกลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ต้องลงทะเบียนต่อไป ยืนยันกับทุกคนว่าโครงการนี้ยังเดินหน้าโครงการ และทุกคนจะได้เงิน 10,000 บาท 100 เปอร์เซ็นต์

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการโอนเงินหนึ่งหมื่นบาทเฟสแรกให้กับกลุ่มผู้พิการและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้วเกือบ 14 ล้านคนยังมีตกหล่นไม่ได้เงินเพราะไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ 3.7 แสนคน แต่เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการโอนรอบ 2 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 311,000 กว่าคน ยังคงค้างอีกประมาณ 6.5 หมื่นคน ส่วนมากไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ ซึ่งจะมีการโอนซ้ำให้อีก 2 รอบ คือวันที่ 21 พ.ย. และ 21 ธ.ค.นี้ ดังนั้นขอให้คนที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับสิทธิ แล้วยังไม่ได้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ ก็ขอให้ดำเนินการให้เรียบร้อย เพราะหากโอนครบ 2 รอบแล้วยังไม่ได้ดำเนินการก็จะถือว่าท่านสละสิทธิ์

Advertisement

 

“ชูศักดิ์” เผยตรวจสอบที่ดิน 3 แปลง “ไร่เชิญตะวัน” ไม่รุกที่ป่าสงวน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 ตุลาคม 2567 ทำเนียบ – “ชูศักดิ์” เผยตรวจสอบที่ดิน 3 แปลง “ไร่เชิญตะวัน” ไม่บุกรุกที่ป่าสงวน กำชับสำนักพุทธฯ จังหวัด เร่งตรวจสอบแชร์แครอทภาคอีสาน

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ของพระ ว.วชิรเมธี ในจังหวัดเชียงราย ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า อาจบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย ว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจากการตรวจสอบทั้งหมด 3 แปลงที่ขออนุญาตไป ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอไป 2 แปลง มูลนิธิวิมุตตยาลัย ขออนุญาตไป 1 แปลง ผลการตรวจสอบไม่ปรากฎว่ามีการบุกรุกที่สาธารณะ อยู่ในขอบเขต

เมื่อถามถึงความคืบหน้าตรวจสอบบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ได้มีการรายงานความคืบหน้าเข้ามาหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มีการรายงานเข้ามา ส่วนจะมีพระเข้าข่ายผิดหรือไม่ นายชูศักดิ์ ย้ำว่า ต้องแยกเป็น 2 เรื่อง คือ วินัย ที่คณะสงฆ์จะต้องชี้ และหากผิดอาญาก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องดำเนินคดี และขออย่าคาดเดาว่าจะมีใครเข้าข่ายความผิด ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการก่อน

ส่วนกรณีแชร์แคร์รอท ในพื้นที่ภาคอีสาน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สำนักพุทธฯ ได้ส่งเรื่องไปสำนักพุทธฯ ประจำจังหวัดในภาคอีสาน ตรวจสอบว่ามีกรณีเหล่านี้ที่ไหนบ้าง และให้รีบรายงานเข้ามาโดยด่วน

ส่วนการเล่นแชร์ของพระสงฆ์ สำนักพุทธฯ รายงานว่าผิดวินัยหรือไม่ นายชูศักดิ์ ระบุว่า เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ที่จะต้องว่ากัน แต่หากดูเรื่องวิจารณญาณของคนธรรมดาสามัญทั่วไปก็พอจะวินิจฉัยแล้ว แต่เรื่องวินัย ตนย้ำมาโดยตลอดว่าเป็นเรื่องของคณะสงฆ์

“ถามว่าเราประชาชนคนธรรมดา พระเล่นแชร์ผิดหรือไม่ มันก็ใช้วิจารณญาณดูพอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ขณะนี้รอให้สำนักพุทธฯ รายงานเรื่องดังกล่าวเข้ามาโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องฮอต เป็นประเด็นที่สื่อและประชาชนให้ความสนใจ” นายชูศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายกฯ เซ็นตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ นั่ง ปธ.เอง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 ตุลาคม 2567 ทำเนียบ – “แพทองธาร” นายกฯ เซ็นตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ นั่งประธานเอง ขณะที่ “หมอเลี๊ยบ” ปธ.คกก.พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง 2 ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ 16 ต.ค.2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำกับการกำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศในด้านต่าง ๆ กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานราชการและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ยกระดับทักษะ และปลดล็อกศักยภาพของคนไทย ให้สร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ส่วนฉบับที่ 2 น.ส.แพทองธาร ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ขึ้นมารับตำแหน่งเดิมของ น.ส.แพทองธาร ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อจัดทำแผนเฉพาะด้านในด้านต่างๆ และกำกับการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

Advertisement

รู้ยัง?? มาตรการช่วยเหลือน้ำท่วมของรัฐบาลมีอะไรบ้าง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 ตุลาคม 2567 มาตรการช่วยน้ำท่วม ลดภาษี – ลดค่าใช้จ่าย – เพิ่มสินเชื่อฟื้นฟูบ้านเรือน

วันนี้ (15 ต.ค. 67) ณ ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือที่ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย หรือสรุปแบบง่าย ๆ คือ เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาล และเงินชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันภัย ไม่ต้องนำไปนับรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี รวมถึง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย

กรมธนารักษ์ ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

การเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากที่พักเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี แต่หากที่พักเสียหายทั้งหลัง, ยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี การเช่าเพื่อการเกษตร, ยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถทำกิจการได้ตามปกติเกิน 3 วัน ยกเว้นค่าเช่าเป็นรายเดือน  ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติม ให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากประสบอุทกภัย

สินเชื่อ Soft loan เพื่อช่วยเหลือ ซ่อมแซมและฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน กิจการการ ตลอดจนมาตรการลดภาระหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย และพักหนี้ให้แก่ผู้กู้ที่ประสบอุทกภัย ดังนี้

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5 % ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยสามารถขอรายละเอียดของสินเชื่อก้อนนี้ได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้าน (มี 16 ธนาคารที่เข้าร่วม)

โครงการ SMEs No One Left Behind ของ บสย. ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000 – 2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.25 % ต่อปี และระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือลูกหนี้เดิม ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ถือบัตรเครดิต ด้วยการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ให้ 3 รอบบัญชี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับเสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ที่เหลือ อัตราดอกเบี้ย MRR  และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้วยการลดเงินงวดที่ชำระ 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2% เป็นเวลา 6 เดือน

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อน 1,000 บาทต่องวด ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับการขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย สามารถขอกู้ได้ถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ระยะเวลาที่เหลือตามเงื่อนไขของการผ่อนชำระ (โดยมีตั้งแต่ 2% – 6%) และยังมีการให้ค่าสินไหมทดแทนเร่งด่วนแก่ผู้ทำกรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัย โดยจ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย กรณีกู้ยืมเงิน Fixed Loan พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ในกรณีตั๋วสัญญาใช้เงิน จะขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินไปอีกไม่เกิน 180 วัน และยังมีมาตรการเติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ หากมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้วงเงินเพิ่ม 10% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน

สำหรับนโยบายที่อยู่ระหว่างการออกระเบียบกฎหมายเพิ่มเติม

  1. มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะกำหนดให้รายจ่ายการซื้ออุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านในพื้นที่น้ำท่วม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน
  2. มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมถึงการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรและชิ้นส่วน ที่เกิดจากการลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม
  3. มาตรการสินเชื่อ Soft Loan เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ฟื้นฟูทันช่วง High Season

ทั้ง 3 มาตรการ อยู่ระหว่างการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และประกาศ BOI คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้า ครม. ได้ภายในเดือนตุลาคม

Advertisement

นายกฯกำชับเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยให้แล้วเสร็จภายในตุลาคมนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 ตุลาคม 2567 นายกฯ “แพทองธาร” กำชับเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยให้แล้วเสร็จภายในตุลาคมนี้ มอบหมายคณะทำงานฯ เตรียมรับมือภัยธรรมชาติ ขอบคุณทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เผยเตรียมประชุม ครม.สัญจร “เชียงราย-เชียงใหม่” ปลายปี สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นเศรษฐกิจ

วันนี้ (15 ตุลาคม 2567) เวลา 14.45 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.)  ครั้งที่ 2/2567 โดยมีคณะกรรมการ คอส. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมฯ ตอนหนึ่ง ว่า ความจริงมีแพลนที่เคยพูดคุยกันไว้ว่า ต้องการที่จะแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งกรณีน้ำท่วม หรือปัญหาดินโคนถล่มที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย   ดูเหมือนว่าปีหน้าหรือปีต่อ ๆ ไป  ยังอาจมีปัญหาเหล่านี้อยู่ ซึ่งกังวลว่า อาจจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ 100% แต่ต้องมีวิธีรับมือที่ดีขึ้น  รวมถึงจะต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้จบเร็วขึ้น  ซึ่งขอให้ร่วมมือกันในการศึกษาตรงนี้อย่างจริงจังภายในปีนี้ก่อนที่จะถึงปีหน้า ที่สำคัญต้องชื่นชมทุกภาคส่วนทางราชการ จิตอาสา มูลนิธิต่าง ๆ ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย  ที่ลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมที่ลงไปอยู่ในพื้นที่ อยู่กับประชาชน  ทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจ ซึ่งรัฐมนตรีอยู่หน้างานสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที  ปัจจุบันนี้สถานการณ์คลี่คลายไปมากแล้วเมื่อเช้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือเพื่อทำให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เสร็จภายในปลายเดือนตุลาคม หรือก่อนเดือนพฤศจิกายน นี้  สำหรับการประชุมในวันนี้ เพื่อรับทราบสถานการณ์และการช่วยเหลือเยียวยาในการป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหาที่ต้องรอรับเหตุการณ์ในปีหน้าต่อไป

ที่ประชุม รับทราบการเร่งฟื้นฟูสถานการณ์อุทกภัย การพิจารณาแนวทางบริหารจัดการน้ำระยะยาว การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม การพิจารณาแนวทางเยียวยาให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ และการติดตามประเด็นการหารือความร่วมมือด้านน้ำกับเมียนมา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผน/ผลการดำเนินงานของคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินการจ่ายเงินช่วยเยียวยาผู้ประสบภัย/ความก้าวหน้าการปรับปรุงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย รวมถึงแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในปี 2568 ระยะกลาง และระยะยาว

นายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอให้คณะทำงานฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ยังคงประสบปัญหาอยู่  ทุกหน่วยงานติดตามอย่างใกล้ชิด และเร่งให้ความช่วยเหลือ ในส่วนของศปช.ส่วนหน้า ให้สรุปความต้องการของแต่ละพื้นที่ ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการสร้าง หรือการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในปีต่อ ๆ ไป เพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ในการประชุม นายกรัฐมนตรียังมอบหมายกรมบัญชีกลาง เร่งรัดปรับปรุงระเบียบการเยียวยา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว พร้อมกับมอบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนคณะทำงานฯ ให้เร่งรัดพิจารณาโครงการก่อสร้างป้องกันน้ำท่วมให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 สำหรับการช่วยเหลือของ ศปช.ส่วนหน้าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และในช่วงปลายปีจะจัดประชุม ครม.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายหรือเชียงใหม่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบกับเป็นช่วงไฮซีซั่น รัฐบาลต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาเที่ยวภาคเหนือในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่

นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีทำหนังสือขอบคุณจากใจนายกรัฐมนตรี มอบให้กับทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยจะเป็นผู้ลงนามเองทั้งหมด พร้อมย้ำการเยียวยาให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

Advertisement

 

ศปช. แนะประชาชนที่เอกสารสำคัญหาย ติดต่อ อปท. ขอออก “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยฯ”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 ตุลาคม 2567 ศปช. แนะประชาชนที่เอกสารสำคัญหาย ติดต่อ อปท. ขอออก “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยฯ” ส่วนลำพูนระบายน้ำต่อเนื่องคาดอีก 5 วันแห้งทุกพื้นที่ เร่งล้างโคลนบ้านเรือนเชียงราย คืบ 97 %

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยของจ.เชียงราย ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ภาพรวมคืบหน้าถึงร้อยละ 97 โดยนอกเขตเทศบาลนครเชียงราย ทั้ง 6 ตำบล 1,285 ครัวเรือน เจ้าหน้าที่เข้าล้างทำความสะอาดถนน  ล้างทำความสะอาดบ้านเรือน จัดเก็บขยะ เสร็จทั้งหมดแล้ว เหลือในพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและท้องถิ่นในพื้นที่ ยังคงล้างถนนและบ้านเรือน อีก 40 ครัวเรือน จากทั้งหมด 82 ครัวเรือนก็จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ส่วนที่ อ.แม่สาย เฟส2  ภาพรวมคืบหน้าร้อยละ 80 โดยที่ชุมชนหัวฝาย เหมืองแดงใต้และปิยะพร ดำเนินการล้างทำความสะอาดบ้านเรือนให้ประชาชนเรียบร้อยแล้ว  เหลือพื้นที่เหมืองแดง  ไม้ลุงขน เกาะทราย และสายลมจอย กำลังพลของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ยังเร่งดำเนินการต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จ.ลำพูนขณะนี้ นายจิรายุ กล่าวว่า ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกจุดแล้ว โดย นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รายงานว่า สามารถระบายน้ำที่ไหลเข้ามา ลงสู่ลำน้ำสายหลักได้แล้วร้อยละ 60 ยังเหลืออีกร้อยละ 40 คาดว่าจะใช้เวลาอีก 5 วันสถานการณ์คลี่คลาย และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเส้นทางน้ำ เพื่อเร่งเปิดทางน้ำ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มบางจุด ไม่ได้ถอนเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนกรณีน้ำท่วมขังเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นในพื้นที่บางจุด วันนี้ (13 ต.ค.) สถานีพัฒนาที่ดินลำพูน กรมพัฒนาที่ดิน แจกน้ำหมักและสารเร่งซุปเปอร์พด.6 ที่เป็นเชื้อจุลินทรีย์ ช่วยบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น จำนวน 500 ขวดและ500 ซอง ให้ผู้ประสบภัยหมู่ 1 , 2 และ 4 ต.หนองช้างคืน อ.เมือง ณ อาคารเอนกประสงค์ วัดหนองช้างคืน พร้อมแนะนำวิธีการใช้ด้วย

“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนันและผู้ใหญ่บ้านอย่างเร่งด่วน โดยการสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร็ว บำบัดน้ำเสีย กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ หากเกินขีดความสามารถในพื้นที่ ให้ประสานศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ประสบภัย ที่เอกสารสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน  โฉนดที่ดิน ใบรับรอง หรือหนังสือสำคัญของทางราชการ สามารถติดต่อขอรับใหม่ได้ โดยขอรับ “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยประเภทบุคคลธรรมดา” จาก อปท.ในพื้นที่ก่อน แล้วนำหนังสือรับรองดังกล่าวไปดำเนินการขอรับเอกสารสำคัญในขั้นตอนต่อไปได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยประเภทบุคคลธรรมดา” จำเป็นต้องใช้ในการประกอบเพื่อขอรับเงินเยียวยาตามนโยบายรัฐบาล ทั้งการเยียวยาเหมาจ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าล้างดินโคลน หลังละ 10,000 บาท

“เงินเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาท คาดว่าจะโอนเข้าบัญชีผู้ประสบภัยเร็วๆนี้ ส่วนเงินค่าล้างโคลน  เทศบาล/อบต.ในแต่ละพื้นที่จะต้องลงพื้นที่สำรวจ ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนประชุมพิจารณาและจ่ายเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป เน้นย้ำผู้ประสบภัย ขอให้ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนว่าอยู่ในการสำรวจของเทศบาลหรือไม่ ป้องกันรายชื่อที่่อาจตกหล่น” นายจิรายุ กล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จ.เชียงใหม่ นายจิรายุ กล่าวว่า ได้รับรายงาน ที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงใหม่ (ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่) ครั้งที่ 2 ล่าสุดมี 2 อำเภอได้รวบรวมเอกสารครัวเรือนที่ประสบอุทกภัย ส่งมาให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติขอรับเงินช่วยเหลือแล้ว คือ อ.ฝาง จำนวน 1,257 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,313,000 บาท และอ.สันทราย จำนวน 443 ครัวเรือน เป็นเงิน 3,987,000 บาท  ยอดรวมครั้งนี้ 1,700 ครัวเรือน เป็นเงินทั้งสิ้น 15,300,000 บาท จากนี้จะส่งเอกสารคำร้องไปให้ ปภ.เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและพิจารณาอนุมัติเงินจากรัฐบาล ก่อนจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของประชาชนโดยตรง ยืนยันไม่มีผู้ประสบอุทกภัยที่เข้าหลักเกณฑ์ตกหล่นแม้แต่รายเดียว ในส่วนของอำเภอที่เหลือ ให้เร่งสำรวจ รวบรวมและยื่นเอกสารให้คณะกรรมการฯพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งจะประชุมพิจารณาทันที ไม่เว้นวันหยุดราชการ กำชับต้องให้ความสำคัญและเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเร็วที่สุด

Advertisement

Verified by ExactMetrics