วันที่ 5 เมษายน 2025

นายกฯ ประชุมขันนอตความปลอดภัยทางถนน คมนาคมตั้ง คกก. ยกระดับรถโดยสารสาธารณะเร่งด่วนภายใน 15 วัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 ตุลาคม 2567 นายกฯ ประชุมขันนอตความปลอดภัยทางถนน ยกระดับการเดินทางทุกประเภท ของไทยต้องดีขึ้น สั่งการทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้านคมนาคมตั้ง คกก. เพื่อยกระดับรถโดยสารสาธารณะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนภายใน 15 วัน

วันนี้ (7 ตุลาคม 2567)  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้  (7 ตุลาคม 2567)  เวลา 10.40 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า  เหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567  เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ  ทำให้รัฐบาลต้องกลับมามองทุกกรอบอีกครั้ง  โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนน  รวมทั้งกฎหมายหลายฉบับที่ไม่ทันสมัย ต้องมีการพูดคุยหารือเพื่อปรับแก้กฎหมาย ข้อบังคับใช้ ต่าง ๆ ให้เข้ากับยุคสมัยเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย   กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และกระทรวงศึกษาธิการ  ต้องการพูดคุยกันในวันนี้  ทั้งการบังคับใช้ในทุกเรื่อง ทั้งนี้มีข้อเสนอเกี่ยวกับ “รถบัส“ ว่าควรมีการแนะนำเหมือนการโดยสารบนเครื่องบินว่าทางออกไปทางไหน  ใช้ อุปกรณ์นั้นความปลอดภัยต่างๆ อย่างไร  โดยในโซเชียลก็มีการนำเสนอเรื่องการแนะนำประตูทางออกฉุกเฉินที่ค่อนข้างดี  ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลองศึกษาและดูตัวอย่างที่ประชาชนเสนอแนะมาถือว่าได้ประโยชน์

นายกรัฐมนตรี  กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน  โดยเฉพาะโครงการร่วมกับทางสหประชาชาติหรือยูเอ็น คือ Mr. Jean Todt ในนาม UN Special Envoy for Road Safety ที่จะเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้   และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้เห็น ถึงการคมนาคม  การใช้รถใช้ถนน   ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ  โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน   ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ   ผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชน จะได้บอกได้ว่าปัญหาจริง ๆ ที่พบคืออะไร ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร  หรือมองเห็นสิ่งที่จะพัฒนาร่วมกันได้อย่างไร

นายจิรายุฯ  กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมที่ได้ตั้งคณะกรรมการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหายกระดับรถโดยสารสาธารณะอย่างเร่งด่วนภายใน 15 วัน พร้อมทั้งมอบหมายกรมการขนส่งทางบกเรียกตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะที่ติดตั้งแก๊ส NGV ซึ่งจากข้อมูล  มีทั้งหมด จำนวน 13,426 คัน ประกอบด้วย รถบัสจ้างเหมา จำนวน 1,336 คัน รถบัสประจำทาง จำนวน 5,967 ค้น และรถตู้/รถมินิบัส จำนวน 6,123 คัน หากพบสภาพไม่พร้อมใช้งานให้สั่งห้ามการนำรถออกใช้งาน หากพร้อมใช้งานให้ออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการตรวจสอบต้องตรวจสอบอย่างละเอียด คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

“ขอให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบสภาพรถ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน และสร้างความปลอดภัยต่อการใช้รถใช้ถนน” นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ

 Advertisement

นายกฯไปเป็น ปธ.ประชุม ก.ตร.พรุ่งนี้ ชี้ใครมาเป็น ต้องปราบยาเสพติด ลดอาชญากรรมตามนโยบายรัฐบาลให้ได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรียืนยันไปเป็น ปธ.ประชุม กตร.พรุ่งนี้ ชี้ใครมากุมบังเหียน ตร. ต้องปราบยาเสพติด ลดอาชญากรรมทุกประเภทตามนโยบายรัฐบาลให้ได้

วันนี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  นายกรัฐมนตรีจะไปเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ตร.ครั้งที่ 8/2567 ในวันพรุ่งนี้ (7 ตุลาคม)  เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีวาระสำคัญที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ คือการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีชื่อผู้มีอาวุโส 3 คน ได้แก่พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจและ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก ผบ.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 มาตรา 78 ระบุว่า ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกรายชื่อเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยการประชุมเมื่อเข้าพิจารณาวาระนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พล.ต.อ.ไกรบุญ และพล.ต.อ.ธนา จะต้องออกจากห้องประชุม เนื่องจากถือว่ามีส่วนได้เสียองค์ประชุมจึงมีเพียง นางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายปิยะวัฒน์ ศิวะรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะก.ตร. โดยตำแหน่ง และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก  พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ รองศาตราจารย์ประทิต สันติประภพ และศาสตราจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็นคณะกรรมการพิจารณา

“ไม่ว่าท่านใดจะมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป้าหมายสำคัญตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาคือการดูแลทุกข์สุข พิทักษ์สันติราษฎร์ ให้กับพี่น้องประชาชน แก้ไขปัญหายาเสพติดและลดอาชญากรรมทุกประเภทให้ได้”

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ของ ก.ตร จะเป็นวาระการพิจารณาหาแนวทางการดำเนินการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ  เรื่องการขอขยายระยะเวลาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เรื่องการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งเฉพาะทาง  และเรื่องเพื่อทราบ อาทิ การรายงานการดำเนินการของ อ.ก.ตร.วินัย การรายงานการดำเนินการของ อ.ก.ตร. กฎหมาย ที่ ก.ตร. มอบหมายให้ทำ  การรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การรายงานผลการดำเนินการพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี  เป็นต้น

Advertisement

นายกฯ รู้สึกเป็นเกียรติ ติดโผผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ตุลาคม 2567 นายกฯ รู้สึกเป็นเกียรติติดโผผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต รัฐกาตาร์ – นายกฯ รู้สึกเป็นเกียรตินิตยสารไทม์ ยกเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต

วานนี้ เมื่อเวลา 13.50 น. ตามเวลาท้องถิ่นรัฐกาตาร์ ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนิตยสารไทม์ (Time) ประกาศรายชื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นหนึ่งใน 100 รายชื่อผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต ว่า รู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะเป็นสื่อต่างประเทศ ตอนแรกไม่ทราบรายละเอียด เห็นแต่ภาพข่าว นึกว่ามีคนแกล้ง แต่พอเห็นรายละเอียดก็รู้สึกดีใจ รู้สึกเป็นเกียรติ เพราะไม่ได้คิดไว้

Advertisement

นายกฯ ย้ำ ทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่พร้อมทำเกิดอุบัติเหตุ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 ตุลาคม 2567 นายกฯ ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปคืบหน้าช่วยเหลือเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ย้ำ ทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่พร้อมทำเกิดอุบัติเหตุ สั่งการคมนาคม วางกฎ-กรอบ รถเดินทางไกล

วานนี้ (2 ต.ค. 67) เวลา 12.00 น. ณ ห้องรับรอง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ก่อนที่จะออกเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue: ACD) ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนเกิดเหตุเพลิงไหม้

พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทั้ง 22 ศพ ทางสถาบันนิติเวชได้ตรวจอัตลักษณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรายสุดท้ายที่คุณแม่ ต้องการมาพิสูจน์ด้วยตัวเอง แต่ความจริงได้พิสูจน์ผ่านทางพี่สาวทั้งหมดแล้ว คาดว่าเวลา 15.00 น. วันนี้ การตรวจอัตลักษณ์ทั้งหมดจะเสร็จสิ้น จากนั้นประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรถขบวน เพื่อนำร่างของผู้เสียชีวิตทั้งหมดกลับภูมิลำเนา ส่วนคนขับตอนนี้ได้ควบคุมตัวอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรคูคต เพื่อทำการสอบสวนต่อไป ซึ่งได้เข้ามอบตัวตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากส่งเจ้าหน้าที่ไปกดดัน แต่ต้องสอบสวนในรายละเอียดทั้งหมดก่อน ขณะเดียวกัน พิสูจน์หลักฐานอยู่ระหว่างการตรวจสอบรถคันที่เกิดเหตุ ซึ่งหลังจากนี้จะนำไปวางมาตรฐานและกฎเกณฑ์ รวมถึงมีมาตรการเรื่องการตรวจสอบรถให้ฝ่ายปกครอง ขนส่ง เอกชน และส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเคร่งครัด

ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานจากตำรวจที่มีความคืบหน้าการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล จากนั้น จะลำเลียงส่งศพกลับจังหวัดอุทัยธานี ขณะที่กระทรวงคมนาคม ก็มีมาตรการเยียวยา และการตรวจสอบ กฎเกณฑ์ ระเบียบ ขนส่ง โดยเรื่องนี้จะต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งนักจิตแพทย์ลงไปในพื้นที่ โดยได้แบ่งการทำหน้าที่กระจายไปให้ครอบคลุม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วมากพอสมควร

ส่วนที่มีข้อเสนอว่าอยากให้รถโรงเรียนในไทยใช้เหมือนกับรถโรงเรียนในประเทศยุโรป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดคุยกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เพราะต้องวางแผน ทั้งนี้ การทัศนศึกษาเป็นการเปิดโลกให้กับเด็ก ซึ่งไม่อยากแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่มีการดูแล หรือถูกตรวจสอบสภาพ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ปัญหา ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะวางกฎ และกรอบอย่างไร ดังนั้นจะใช้โอกาสนี้มาวางแผน วางระบบให้ชัดเจนมากขึ้นได้

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รถทุกคันก่อนที่รถจะออกเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางไกล ต้องตรวจสอบสภาพ และต้องมีสภาพที่พร้อมออกเดินทาง พร้อมกำชับให้วางแนวปฏิบัติ ในการเดินทาง จะต้องมีการซักซ้อมความปลอดภัย และคำแนะนำในการปฏิบัติตนเช่นเดียวกับการโดยสารเครื่องบิน

ทั้งนี้ ให้บังคับใช้แนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อม กำชับให้กระทรวงคมนาคม เรื่องตรวจสภาพรถโดยสารจะต้องไม่ไช่เฉพาะรถบัส ต้องรวมไปถึงรถโดยสารทุกประเภท ทุกขนาด รวมถึงตรวจความพร้อมของบุคคลผู้ขับขี่ ผู้ช่วยประจำรถ ต่าง ๆ ด้วย

Advertisement

นายกฯ ยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เกิดสะดุด ปรับขึ้นไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 กันยายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” ยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เกิดสะดุด ปรับขึ้นไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้ เผยจะมีการหารืออีกครั้ง พร้อมเดินหน้าผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

วันนี้ (24 กันยายน 2567) เวลา  09.50 น. ณ บริเวณด้านหน้า ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาท เกิดการสะดุดและขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เกิดการสะดุดแต่ว่าในตอนนี้ นโยบายดังกล่าวจะมีการนำเข้าที่ประชุมอีกครั้ง โดยผู้สื่อข่าวได้ถามต่อไปว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถทำได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ควรจะเป็นอย่างนั้น

ต่อมา เวลา 12.10 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ล่าช้าออกไปว่า นโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการขึ้นค่าแรง แต่ต้องอาศัยไตรภาคี ว่าจะให้ความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งมีการพยายามนัดหมายกันเพื่อเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด และพยายามจะพูดคุยกัน พร้อมยืนยันที่จะเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และจะคอยผลักดันเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่ได้มีการเตะถ่วง อะไรในฝั่งผู้ประกอบการใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องคุยกันก่อนทั้งหมด ไม่ได้เตะถ่วงอะไร และทั้ง 3 ภาคส่วนก็ต้องพูดคุยกันในรายละเอียด และทุกอย่างต้องกฎหมาย

ส่วนได้มีการวางกรอบว่าจะดำเนินการได้เมื่อไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะทำให้เร็วที่สุด และต้องดูว่าติดอะไรบ้าง เมื่อถามว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่านั่นคือความตั้งใจว่าเป็นปีนี้

Advertisement

ครม.เห็นชอบ งดเก็บค่าไฟฟ้า เดือน ก.ย. และลด 30% ในเดือน ต.ค. พื้นที่ประสบอุทกภัย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 กันยายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” เผย ครม.เห็นชอบ งดเก็บค่าไฟฟ้า เดือน ก.ย. และลด 30% ในเดือน ต.ค. ให้ ปชช. พื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมอนุมัติฟื้นฟูช่วยเหลือลูกหนี้ ธ.ก.ส.ระยะ 2 – 3

วันนี้ (24 กันยายน 2567) เวลา 12.10 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับค่าไฟฟ้าในเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม 2567 โดยที่เดือนกันยายน จะไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า และในเดือนตุลาคมจะให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องของมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธกส. เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2568 ระยะที่ 3 1 ตุลาคม 2568 – 30 กันยายน 2569

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า จากการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร จึงได้สั่งการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะอนุกรรมการ คอส. และ ศปช. ดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ เพื่อใช้สำหรับการรายงานตัวของอาสาสมัคร เพื่อแบ่งหน้าที่ และความรับผิดชอบ และใช้ในการรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้รับคำแนะนำมาว่า การรายงานตัวของอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มีการรายงานซ้ำซ้อน ทำให้เสียเวลา และเตรียมจะใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวในการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา และการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้เกิดการบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในส่วนของภาครัฐ ภาคประชาชน รวมถึงเร่งรัดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย หรือ ปภ. เร่งดำเนินการใช้ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast Service เพื่อให้การเตือนภัยให้ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคตที่จะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในการจ่ายเงินเยียวยา และเช็คสิทธิต่าง ๆ ประชาชนควรโหลดแอปฯ ดังกล่าวเก็บไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้ได้เคยประชาสัมพันธ์ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ว่าให้โหลดแอปฯ ดังกล่าวไว้ เพราะนอกจากการลงทะเบียน และชื่อยังเป็นการต่อยอด เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเยียวยา รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลพยายามพัฒนาระบบนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลถึงประชาชนโดยตรง ให้ได้มากที่สุด เวลาที่เราจ่ายเงินเพื่อความรวดเร็วในเวลาที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยา ก็จะรวดเร็วขึ้น จึงขอให้ประชาชนโหลดแอปฯ ดังกล่าวไว้ และลงทะเบียนใส่ข้อมูลสำคัญให้ครบถ้วน

Advertisement

รมว.ดีอีเอสแจงเล็งปรับปรุงกฎหมายยึดทรัพย์มิจฉาชีพ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 กันยายน 2567 รัฐสภา – “ประเสริฐ” แจง เตรียมปรับปรุงกฎหมายยึดทรัพย์มิจฉาชีพ หลังใช้มา 5 ปี เผย 3 ต.ค.เริ่มระบบ ผู้ขายของออนไลน์จะได้รับเงินต่อเมื่อผู้ซื้อได้ดูสินค้าแล้ว พร้อมชะลอการจ่ายเงินเป็นระยะเวลา 5 วัน เตรียมหารือธนาคารควบคุมลิ้งก์ดูดเงิน

การประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถาม นายกรัฐมนตรี เรื่องการฉ้อโกงออนไลน์ ของนาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. ถามว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งในโลกออนไลน์และปกติมีการหลอกขายของล่าสุดมีการขายทองออนไลน์ เมื่อเอาไปขายร้านทองก็ไม่รับ ถือเป็นการฉ้อโกงในรูปแบบหลอกให้เชื่อหรือหลอกขายของ มูลค่าการซื้อขายของออนไลน์แต่ละปีเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท เมื่อเกิดเหตุการณ์หลอกขายของเกิดขึ้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องฉ้อโกงออนไลน์หมีเห็นทั่วไปเพราะมีการหลอกลวงกันเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ถ้าใครไม่ได้รับโทรศัพท์จากแก๊งก์คอลเซ็นเตอร์ถือว่าไม่รับโทรศัพท์เลยหรือไม่ทำทุรกรรมใดๆ บางคนทำธุรกรรมกับธนาคารไม่ถึงชั่วโมงก็มีคนโทรไปแล้ว ซึ่งตนยังโดนเลย และคิดว่าทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์อันเจ็บปวดกับแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ หลายคนถูกล่อหลวงให้กดลิ้งก์ เมื่อเร็วๆเร็วๆนี้เป็นของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเมื่อช่วงเช้านี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ดูแลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล บุกจับเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง ที่เอาข้อมูลไปขาย

“ทุกวันนี้มีการแอบอ้างทั่วไปหมด แต่ที่แย่คือการจับกุมผู้ที่ดำเนินการไปล่อลวงคนอื่นไม่ค่อยมีข่าว ยิ่งทำให้คนที่บางครั้งเป็นคนดี ก็อยากมาเป็นคนไม่ดีเหมือนกันเพราะไม่เคยเห็นคนไม่ดีโดนลงโทษ รัฐมนตรีอาจจะบอกว่าคนที่เป็นมิจฉาชีพอยู่ต่างประเทศ มีการต่อสายสัญญาณไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนไทย บางทีเขาอาจจะทำในประเทศไทยด้วยซ้ำไป ซึ่งคดีเหล่านี้ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับการพิจารณา หากเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ คดีก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้การดำเนินคดีเร็วขึ้น จึงอยากให้ทีมงานของกระทรวง ดีอีเอส ปรับกระบวนการแก้ปัญหาให้รวดเร็วขึ้น ทันต่อความต้องการของประชาชนและทันต่อยุคสมัย ยิ่งใกล้การเกษียณอายุอาจทำให้ผู้ที่เกษียณอายุถูกหลอกมากยิ่งขึ้น” นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า ผลของการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมาคดีต่างๆของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาในรูปแบบต่างๆ ประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หลักๆ มีประมาณ 5-6 เรื่อง คือ 1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการคิดเป็น 29.73% คือการซื้อสินค้าไม่ตรงปก ซึ่งขณะนี้กระทรวงดีอีเอส ทำงานร่วมกับ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้ออกมาตรการ COD ขึ้นมา นับตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 67 เรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้ขายจะได้รับเงินต่อเมื่อผู้ซื้อได้ดูสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วและมีการชะลอการจ่ายเงินเป็นระยะเวลา 5 วัน เพราะฉะนั้น ว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการหลอกลวงได้ในระดับที่มีนัยยะ เนื่องจากคดีนี้สูงสุด แต่มีความเสียหายไม่มากนัก 2.การหลอกลวงหารายได้พิเศษคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.44% 3. การหลอกลวงการลงทุนทางระบบคอมพิวเตอร์ คิดเป็น 16% แต่มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก รวมถึงการหลอกลวงที่เรียกว่าโรแมนซ์สแกม คือหลอกให้หลงรักก่อนแล้วชวนให้ลงทุนต่อ 4. การหลอกลวงโอนเงินเพื่อให้รับรางวัล 7% 5.หลอกให้กู้เงิน 7 % และ 6.คดีอื่นๆ 14%

“ยอมรับว่าคดีมีอยู่ 5 แสนกว่าเรื่อง ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) รับดำเนินคดีได้ประมาณ 6 หมื่นเรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยผมจะรับข้อเสนอนี้ไปทำการปรับปรุงการดำเนินการเพื่อที่จะทำอย่างไรให้คดีมีความคืบหน้าและประชาชนสามารถติดตามสถานะของบัญชีได้ว่าขณะนี้เรื่องที่ร้องไป สตช. สถานะคดีเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์เอโอซี 1441 เป็นศูนย์ที่บริการพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันพี่น้องประชาชนที่รับความเดือดร้อนเรื่องการถูกหลอกลวงสามารถติดตามสถานะของท่านได้ที่ 1141 เราก็จะติดตามให้” นายประเสริฐ กล่าว

ส่วนเรื่องการต่อสายสัญญาณไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายประเสริฐกล่าวว่า จริงๆเราได้ทำการปราบปรามอย่างหนักพอสมควรขณะนี้ตนได้ออกตรวจตามพื้นที่ในเขตชายแดนหลายแห่งและกำจัด แต่มิจฉาชีพก็มีความพยายาม ต่อสัญญาณเข้าไปเรื่อยๆเรื่องนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงกลาโหม กสทช. สตช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มิจฉาชีพเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะการใช้สัญญาณดาวเทียมที่เกิดจากดาวเทียมโคจรในระยะต่ำ ที่มีจานรับสัญญาณโดยตรงซึ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กสทช.จะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการปรับปรุงกฎหมายขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่มีอายุครบ 5 ปีและมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านไซเบอร์และโทษต่างๆ ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุง ซึ่งได้มีการพูดคุย กับปปง.ในเรื่องการเพิ่มมูลฐานความผิด การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน เกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต่อไปจะเป็นมูลฐานความผิดหนึ่ง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหมายถึงการนำไปสู่การที่เราสามารถที่จะยึดทรัพย์กลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ ได้

“ส่วนกรณีลิ้งก์ที่มากับเอสเอ็มเอสนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ย. มาหลังจากที่นายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่มีข้อความตอนหนึ่ง ว่า ในส่วนที่ประชาชนเกิดความเสียหาย ให้บริษัทโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ในอนาคตต้องมีความร่วมมือในการรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้ที่ประชุมศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ร่างข้อกำหนด และระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและเชิญธนาคารโอเปอเรเตอร์มาซึ่งสิ่งที่แนบมากับเอสเอ็มเอสนั้น ต่อไปจะต้องมีการควบคุมเพราะแอปดูดเงินหรือลิ้งก์ต่างๆ ที่มากับเอสเอ็มเอสนั้นมีเป็นจำนวนมากและเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงดีอีเอสจะต้องทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ และธนาคารแห่งประเทศไทยในการปราบปรามต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

Advertisement

นายกฯสั่งเน้นย้ำ เร่งกำจัดดินโคลน ระบุความทุกข์​ประชาชนต้องสั้นลง​ เผยเงินเยียวยาก้อนแรกเริ่มจ่ายแล้ว​

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 กันยายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” ส่งมอบสิ่งของอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือประชาชน จ.เชียงราย เน้นย้ำเร่งกำจัดดินโคลนระบุความทุกข์​ประชาชนต้องสั้นลง​ เผยเงินเยียวยาก้อนแรกเริ่มจ่ายแล้ว​

วันนี้ (22 กันยายน 2567) เวลา 09.30 น. ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งมอบสิ่งของอุปโภค-บริโภค และอุปกรณ์นำความสะอาดที่ได้รับจากเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้โครงการ “ประสานพลัง ประสานใจ” เพื่อส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชน ผู้ประสบภัยในจังหวัดเชียงราย โดยเครื่องบินกองทัพอากาศ (C130) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมส่งมอบสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมนำส่งสิ่งของอุปโภค-บริโภค และอุปกรณ์ทำความสะอาด ที่ได้รับจากภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้โครงการ “ประสานพลัง ประสานใจ” เพื่อส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในจังหวัดเชียงราย ซึ่งวันนี้จะขนส่งใส่เครื่องบินกองทัพอากาศ C130​ ลำเลียงไปยังพื้นที่​  โดย​​ นายกฯ​ ได้นำสิ่งของส่วนตัวมาสมทบ เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งมีทั้ง ไม้กวาด​ ถังน้ำ​ จอบ​ พลั่วแปรงขัดพื้น​ รวมไปถึงเสื้อผ้าเด็กอ่อน​ ของน้องธิธาร สุขสวัสดิ์ และ​น้องพฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์​ มาให้ด้วย​

นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์​สื่อมวลชน​ ถึงการนำเสื้อผ้าเด็กอ่อนมาร่วมบริจาคในครั้งนี้ ว่า ช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา​ให้ลูก ๆ ได้ช่วยกันเลือกว่า เสื้อผ้าชุดไหนที่เล็กแล้ว เพราะครั้งเมื่อไปจังหวัดเชียงราย ได้เห็นคนท้อง และมีเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นกันอยู่เต็มเลย จึงคิดว่าเสื้อผ้าเด็กเป็นอะไรที่ขาดแคลนนอกจากนี้ยังมีของใช้จำเป็น​ เช่น ไม้กวาด พลั่ว

ส่วนความคืบหน้าในการนำดินโคลนออกจากบ้านเรือนของประชาชน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พลเอกธีระยุทธ จินหิรัญ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นผู้ตอบแทน ว่า สถานการณ์ในการกำจัดโคลนเราเริ่มจากเส้นทางหลักก่อน จากนั้นจะเริ่มนำรถเข้าไปในพื้นที่ เพื่อที่จะเข้าตามบ้านเรือนแต่ละหลัง เพราะตอนนี้สภาพโคลนในบ้านแต่ละหลัง ท่วมสูงประมาณ 1-2 เมตร และที่จำเป็นต้องเคลียร์เส้นทางก่อนเพื่อที่จะสามารถขนดินบ้านเรือนของประชาชนออกได้

ขณะที่​ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเสริมว่า  ในส่วนของท่อระบายน้ำหลัก เราพยายามทำให้เคลียร์ก่อน เพราะถ้าดินโคลนที่เข้าไปแข็งตัวจะยิ่งปิดกั้นทุกอย่างและทำความสะอาดไม่ได้ ขณะที่บ้านเรือนต่างๆ ก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้ต้องแบ่งงานทุกภาคส่วนเพื่อจะได้รู้ใครทำอะไรบ้าง เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้วางกรอบหรือไม่กับการขนย้ายดินทั้งหมดออกจากบ้านเรือนของประชาชนจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จริงๆ แล้วอยากให้เร็วที่สุด และต้องดูหน้างานด้วยไม่อยากสัญญาว่าเท่าไหร่ แต่จะทำให้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้เพราะมันคือความเดือดร้อนจริงๆ พร้อมย้ำว่าเรื่องโคลนต้องเร็ว เพราะถ้ารอคือแห้งแข็งเอาออกยากกว่าเดิม แต่ในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดน้ำท่วมเรายังไม่มีการถอนกำลัง เผื่อมีพายุเข้ามาซ้ำจะได้มีกำลังช่วยเหลือ ทั้งพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ภาคอีสาน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง เช่น ศปช. ที่ตั้งขึ้นมา​ ก็มีการประชุมทุกวันในเวลา 09:00 น. ซึ่งตนจะเข้าร่วมประชุมด้วยในสัปดาห์หน้า

นายกรัฐมนตรี​ ยังกล่าวต่อว่า ทางผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับพระราชทานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จำนวน 100 ตัว ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ดีมากๆ มาร่วมช่วยผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย

ขณะที่นายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า การขนดินจะแบ่งเป็นโซน ใครรับผิดชอบส่วนไหนทำเลย ตอนนี้เรามีกำลังของกรมทางหลวง กรมทหารพัฒนา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และยังมีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาช่วยด้วย ขณะที่ส่วนกลางก็เติมอุปกรณ์การช่วยเหลือ นอกจากนี้ในเรื่องของการกำจัดขยะ ทางกองทัพที่จังหวัดเชียงราย ได้มีการไปขุดที่ดิน 1-2 ไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีก 20 ไร่ เพื่อนำขยะและดินโคลนไปฝังกลบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงเส้นทางที่ถูกตัดขาดบนภูเขา ขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้จัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการแล้ว

ส่วนเรื่องการเยียวยาจะมีการปรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากผู้ประสบอุทกภัย บางหลังคาเรือนได้รับความเสียหายถึงหลักล้านบาท นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องการเยียวยาก่อนหน้านี้ เราเคยมีการเยียวยาไปถึง 200,000 กว่าบาท เราก็ต้องมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นต้องได้รับเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์แรกก่อน จากนั้นจึงจะมาพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่อีกครั้ง เพราะไม่อยากให้รอพร้อมกันทีเดียว จะทำให้ชาวบ้านไม่ได้เงินไปซ่อมแซมบ้าน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การเยียวยาหลักเกณฑ์แรกมีการทยอยจ่ายไปแล้วหรือไม่ นายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า​ ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว รายละเอียดกลับมาโดยขณะนี้บางส่วนยังรอการสำรวจรายละเอียดกลับมา หากมีการยืนยันก็สามารถจ่ายได้เลย

ด้านนายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ได้มีการประเมินขั้นต้นว่ามีความเสียหายอย่างไรบ้างแล้ว ซึ่งใช้หลักเกณฑ์เดิมในการจ่ายไปก่อน ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ขณะนี้ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กำลังพูดคุยกัน เพื่อจะปรับหลักเกณฑ์และเพิ่มเงินเยียวยาใหม่ และในวันอังคารนี้จะมีการประชุมกับผู้ว่าฯทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าใจกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยา

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า หลักเกณฑ์แรกได้มีการสำรวจความเสียหายไปแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะแบ่งจ่ายเงินเป็นสองก้อน ก้อนแรกคือหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งจะทยอยจ่ายถึงมือชาวบ้านได้ ส่วนก้อนที่สองจะเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ ที่ ศปช. กำลังพิจารณาอยู่ เพราะหากต้องรอกรอบใหม่ เงินก็จะยังไม่ถึงมือชาวบ้าน ตอนนี้สิ่งที่เน้นย้ำคือความรวดเร็ว เพราะความทุกข์ นับเป็นวันๆ เป็นชั่วโมง จึงอยากดันทุกมาตรการออกมาให้เร็วที่สุด รวมถึงการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อบรรเทาความทุกข์ ให้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ากรอบใหม่จะได้ความชัดเจนเมื่อไหร่  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ใกล้มีความชัดเจนก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่ได้คุยกับคนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวันจันทร์นี้ก็จะมีการประชุมเรื่องนี้แล้ว

ส่วนหลังจากนี้ จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้างโดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัย นายกรัฐมนตรีระบุว่า ก่อนที่จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเบื้องต้นก็ได้มีการพูดคุยกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ตรึงราคาสินค้า เพราะไม่ใช่ว่ามีวิกฤตแล้วราคาสินค้าก็ขึ้นทันที ชาวบ้านก็ไม่ไหว ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ได้มีแผน รวมถึงเรื่องของการท่องเที่ยว และมีอีกหลายแผน ที่ได้พูดคุยไว้แต่ตอนนี้ ขอเรื่องความช่วยเหลือและเยียวยาให้สำเร็จก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้เริ่มมีการ ฉวยโอกาสขึ้นราคาค่าขนดิน ของเอกชนบางเจ้า จะมีการกำชับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราไม่ได้ไปพูดคุยกับเอกชน ในเรื่องธุรกิจของเขา แต่เราได้นำเอกชนของเราเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เรื่องนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล และเรื่องนี้ก็ต้องมีการพูดคุยแยกกัน แต่อยากจะขอประชาสัมพันธ์ ว่าใครที่อยากจะช่วยพี่น้องชาวเชียงราย ในเรื่องของการขุดดิน เรื่องน้ำและการทำความสะอาด และใครที่มีจิตอาสาก็สามารถมาร่วมกันได้ เพราะขณะนี้เรามีอุปกรณ์และเครื่องมือจำนวนมาก ส่วนเรื่องธุรกิจของใครเราขอไม่เข้าไปก้าวก่าย เพราะถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน แต่ถ้าใครจะมาเป็นอาสาสมัครเรายินดีและพร้อมเปิดรับ

ด้านนายภูมิธรรมกล่าวว่าเราได้จัดหน่วยราชการและเอกชน ที่มีความพร้อม เพื่อดำเนินการเรื่องดินโคลน ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาก่อน

“วันนี้เราได้มีการส่งต่ออาหารแห้ง แต่ในพื้นที่ก็ยังมีโรงครัวเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งสำหรับอาหารแห้ง ก็ยังเก็บไว้ต่อได้ ซึ่งก็จะเป็นต้นทุนในการฟื้นตัวหลังจากนี้  ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจังหวัดเชียงราย ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

นายกฯ ชื่นชมกองทัพทำงาน-ลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยต่อเนื่อง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 กันยายน 2567 ทำเนียบ – นายกรัฐมนตรีชื่นชมกองทัพทำงาน-ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ยืนยันทุกภาคส่วนพร้อมช่วยเหลือประชาชนเต็มที่

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชื่นชมกองทัพลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง เต็มกำลังความสามารถในทุกพื้นที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากรายงานกองทัพได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยได้ทำการช่วยเหลือประชาชน ดังนี้ 1. จุดซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า โดย รร.ชท.สปท. บริเวณหน้าด่านสะพานแม่สาย 1 2. ชุมชนบ้านเหมืองแดง โดย สนภ.3 นทพ. และ นพค.34ฯ 3. ถนนเกาะทรายริมน้ำ โดย นพค.35ฯ ร่วมกับ ปภ. และ 4. ชุมชนบ้านเกาะทราย โดย นพค.31ฯ นพค.32ฯ และ นพค.33ฯ

“ขอบคุณกองทัพและเป็นกำลังใจให้กำลังพลทุกนายที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน บรรเทาความเดือดร้อน อยู่เคียงข้างประชาชน เร่งทำงานฟื้นฟูให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยืนยันรัฐบาลและทุกภาคส่วนพร้อมช่วยเหลือประชาชนเต็มที่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertisement

ครม.อนุมัติงบกลาง เยียวยาน้ำท่วม 3,045 ล้านบาท สั่งลดขั้นตอนทางเอกสาร เร่งช่วยประชาชนให้เร็วที่สุด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 กันยายน 2567 ทำเนียบ – นายกฯ เผย ครม.อนุมัติงบกลาง เยียวยาน้ำท่วม 3,045 ล้านบาท กำชับลดขั้นตอนทางเอกสาร เร่งช่วยประชาชนให้เร็วที่สุด ชี้พรุ่งนี้ชัดเจนจ่ายเงินเยียวยา หลัง ศปช.ประชุมนัดแรก บอกมีแผนเตรียมพูดคุยกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หาทางออกระบายน้ำร่วมกัน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอในหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2567 วงเงิน 3,045 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์และลดขั้นตอนเอกสารที่จะต้องยื่น เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว

พร้อมสั่งการให้ทุกส่วนราชการ พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติม จากกรณีปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดที่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอ ครม. ก็ให้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนกรอบระยะเวลาที่จะจ่ายเงินเยียวยาได้เร็วที่สุดจะเป็นเมื่อไหร่ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวาน (16 ก.ย.) รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ซึ่งจะมีการเรียกประชุมในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.67) คาดว่าจะมีรายงานออกมาจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธาน ศปช.

เมื่อถามถึงการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นทางน้ำ เพื่อหารือถึงมาตรการการระบายน้ำร่วมกันหรือไม่ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศ กำลังจะมีการพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ประเทศเมียนมา เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่ไทยพบเจอเป็นระยะเวลายาวนาน และมีแผนในใจอยู่แล้วว่าอยากจะทำเรื่องนี้ให้จริงจัง เพราะเป็นความเดือนร้อนของประชาชนมายาวนาน และการจัดการน้ำก็เป็นแผนภาพใหญ่ซึ่งน้ำมาจากหลายทิศทาง ทั้งนี้ประเทศไทยก็เป็นประธานในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงด้วย คิดว่าไทม์ไลน์ก็สามารถเริ่มพูดคุยได้ทันที

Advertisement

Verified by ExactMetrics