วันที่ 3 เมษายน 2025

“มาริษ” ไม่หนักใจรับไม้ต่อ “ปานปรีย์” โวเป็นลูกหม้อเก่า กต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 พฤษภาคม 2567 ทำเนียบ – “มาริษ” มั่นใจทำงานได้แม้ไร้ตำแหน่งรองนายกฯ ไม่หนักใจรับไม้ต่อ “ปานปรีย์” โวลูกหม้อเก่าบัวแก้ว ปัดแจงกระแสใกล้ชิด “ทักษิณ”

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าสำหรับตนเองแล้วตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็น เพราะตนเองสามารถทำงานได้ไม่มีข้อจำกัด พร้อมเปิดเผยว่าตนเองไม่หนักใจที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อจากนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีผลงานเป็นที่ชื่นชม และมั่นใจว่าตนเองก็เคยเป็นเอกอัครราชทูตมาหลายประเทศ และเป็นลูกหม้อของกระทรวงการต่างประเทศมาก่อนเช่นกัน จึงไม่หนักใจใดๆ

ส่วนนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายงานใดๆ ให้แล้วหรือไม่นั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีการมอบหมายงานใดๆ เนื่องจากยังไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน

ส่วนได้มีการพูดคุยกับนายปานปรีย์ ในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับนายปานปรีย์มาก่อนหรือไม่นั้น นายมาริษ ยอมรับว่าได้มีการพูดกัน แต่ไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องงาน ซึ่งนายปานปรีย์ได้ฝากสานงานต่อ แต่ตนเองยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากยังไม่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

นายมาริษ ยังปฏิเสธที่จะชี้แจงถึงกระแสข่าวที่ตนเองนั้นมีความสนิทสนมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาก่อน

Advertisement

“สายพัวพัน อันยืนยง” นายกฯแพทองธาร กล่าวคำสำคัญผูกพันไทยลาว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 ตุลาคม 2567 “สายพัวพัน อันยืนยง” นายกฯแพทองธาร กล่าวคำสำคัญผูกพันไทยลาว ที่พิเศษมุ่งมั่นสานต่อการทำงาน กระชับความร่วมมือไทย-ลาวในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

วันนี้ (8 ตุลาคม 2567) เวลา 19.00 น. ณ โรงแรมลาวพลาซ่า เวียงจันทน์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ร่วมงานเลี้ยงต้อนรับเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เป็นเจ้าภาพเลี้ยง โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย เนื้อหาจากการกล่าวขอบคุณของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีสอนไซฯ และรัฐบาล สปป. ลาว ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นในการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นประเทศแรกที่เยือนอย่างเป็นทางการภายหลังเข้ารับตำแหน่ง สะท้อนความสำคัญของความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและผูกพัน

นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะสานต่อการทำงาน และกระชับความร่วมมือไทย-ลาวในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีรู้สึกประทับใจในความใกล้ชิดสนิทสนม จากที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานบุญปีใหม่ลาว ที่สถานเอกอัครราชทูต สปป. ลาว ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรียินดีความสัมพันธ์พิเศษ ที่ผูกพันใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม สามารถพูดคุยกันโดยไม่ต้องใช้ล่าม นอกจากนี้ ไทยและ สปป.ลาวยังมีความร่วมมือที่ครอบคลุม เป็นประเทศที่ไทยมีกลไกความร่วมมือด้วยมากที่สุด และมีความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงและการคมนาคมขนส่งที่มากที่สุดด้วย โดยปัจจุบันมีเส้นการทางเดินรถไฟกรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ ถือเป็นเส้นทางรถไฟแรกในอาเซียนที่เชื่อมโยงเมืองหลวงของสองประเทศ โดยได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนของสองประเทศ ซึ่งไม่ได้แค่เชื่อมโยงการค้า การลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เชื่อมประชาชนให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ตลอดปี 2568 ทั้งไทยและ สปป.ลาว จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ก่อนที่ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีจะเชิญร่วมดื่มอวยพร

Advertisement

นายกฯหารือผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง มุ่งมั่นกระชับความร่วมมือการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤษภาคม 2567 ฮ่องกง – นายกฯ หารือผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มุ่งมั่นกระชับความร่วมมือการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างไทย-ฮ่องกงให้ใกล้ชิด

ณ ห้อง Drawing สำนักงานผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honorable John Lee Ka-chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ต่างยินดีที่ได้พบกันอีกครั้ง หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือทวิภาคีกันเมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยไทยและฮ่องกงมีความร่วมมือใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ ซึ่งมูลค้าทางการค้าระหว่างกันมีตัวเลขที่สูงขึ้น พร้อมพูดคุยเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น โดยฝ่ายฮ่องกงชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน และนายกรัฐมนตรีชื่นชมศักยภาพของฮ่องกงที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งดึงดูดการลงทุน รวมถึงมีความพร้อมในการจัดการประชุมด้วย

สำหรับการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายพร้อมแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว โดยไทยขอบคุณที่ฝ่ายฮ่องกงยินดีให้ไทยมาจัดงานสงกรานต์ที่ฮ่องกง ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปมาหาสู่กันเพิ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายพร้อมทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“สุทิน” ประชุม คกก.ชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 มีนาคม 2567 กัมพูชา  – “สุทิน” ประชุม คกก.ชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 16 ยกปัญหาหมอกควันข้ามแดน คอลเซ็นเตอร์ หารือ พร้อมสานต่อเก็บกู้ระเบิดแนวชายแดน

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เป็นประธานร่วม ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 16 ณ โรงแรมการ์เด้น ซิตี้ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือชายแดนระหว่างราชอาณาจักรไทย และราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความสงบเรียบร้อยและมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยและกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศในทุกระดับ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงตลอดแนวชายแดน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงความก้าวหน้าความร่วมมือในพื้นที่ชายแดน โดยทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาทบทวนผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป กัมพูชา – ไทย ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เช่น ความร่วมมือในการผ่านแดนและการสัญจรข้ามแดน ความร่วมมือด้านแรงงาน ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติด การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยกับหน่วยทหารและตำรวจของกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน ความร่วมมือด้าการเกษตร ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งที่ประชุมสรุปว่าที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางและมาตรการที่กำหนดไว้ในบันทึกการประชุม ครั้งที่ 15 ทุกประการ รวมทั้งความจริงจังในความร่วมมือจะเห็นได้จากการนำผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาคทหาร ตำรวจ และพลเรือน มาร่วมประชุมครั้งนี้ ซึ่งสื่อถึงความแนบแน่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไป

ที่ประชุมได้เพิ่มเติมความร่วมมือด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน การลักลอบค้าอาวุธ และปัญหาคอลเซ็นเตอร์ อีกด้วย ทั้งสองฝ่ายจะดำรงความสัมพันธ์และมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนในทุกๆ ด้าน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนของสองประเทศมีความสงบสุข มั่นคง และได้รับการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 17 โดยจะแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ให้ทราบต่อไป

Advertisement

นายกฯ สปป.ลาวเยือนไทย 15 ส.ค. และเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 สิงหาคม 2567 นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (Official Visit)

วันนี้ (13 สิงหาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) มีกำหนดเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก และเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศ

ซึ่งในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

สำหรับกำหนดการสำคัญระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ได้แก่ การพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี และงานเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันอย่างเป็นทางการซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการหารือจะเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พลังงาน ความเชื่อมโยง และการท่องเที่ยว รวมทั้งประเด็นความมั่นคงมนุษย์ เช่น ความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การค้ามนุษย์ การฉ้อโกงออนไลน์ และหมอกควันข้ามแดน

“สปป. ลาว เป็นมิตรประเทศที่มีความสำคัญ เชื่อมั่นว่าการเยือนไทยครั้งนี้ เป็นโอกาสให้กระชับความร่วมมือเพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ และร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ” นายชัย กล่าว

Advertisement

เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

People Unity News : เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยืนยันพร้อมสนับสนุนไทยด้านเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยรับมือโควิด19

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอุมาพร พิมลบุตร นายพิศาล พงศาพิชณ์ ตัวแทนหน่วยราชการในกระทรวง ให้การต้อนรับ นายจอง จิน คิม (Mr. Jong-Jin Kim) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการหารือครอบคลุมประเด็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิด (Hand in Hand initiative) และความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (South-South Cooperative Programmed) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และการสนับสนุนโครงการในการพัฒนาด้านการเกษตร ระหว่าง FAO กับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (FAO/RAP) ในการประเมินผลกระทบของโรคที่มีต่อภาคการเกษตร (the COVID-19 country assessment of impact and response option on food system, food security and nutrition and livelihoods) โดย FAO มีโครงการสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาหลัง COVID และสนับสนุนโครงการความร่วมมือที่มีอยู่เดิมได้แก่ การลดการสูญเสียอาหาร (National Food loss baseline) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Center of Excellence on Soil Research in Asia : CESRA) และการขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกการเกษตรโลกที่จังหวัดพัทลุงและเพชรบุรี โดย FAO ชื่นชมความก้าวหน้าของการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยและยืนยันว่า FAO ยินดีสนับสนุนพร้อมทั้งขยายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกษตร (Excellence center) ทั่วทั้งประเทศเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางของ FAO เพื่อรับมือโจทย์สำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยทางอาหารและพร้อมขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับ FAO ตามข้อเสนอที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

สำหรับการพบหารือของผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือกับทาง FAO ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงโรมของที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯเมื่อปลายปีที่แล้ว ตามมาด้วยการเดินทางมาเยือนไทยของผู้อำนวยการใหญ่ FAO (นายฉู ตงหยู) เมื่อวันที่ 17 -18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยหารือความร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

Advertising

“จุรินทร์” รุกตลาดกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันการเจรจา FTA

People Unity News : รัฐบาลกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย เพิ่มการค้า-การลงทุน ผลักดันสู่เจรจา FTA

23 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลเดินหน้าขยายตลาดการค้า การลงทุนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union) ประกอบด้วย ประเทศรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาเมเนีย และคีกีซสถาน โดยจะมีการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission: EEC) ครั้งที่ 2 แบบทางไกล ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 27 ก.ย.นี้  โดยฝ่ายไทยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

ที่ผ่านมาไทยและกลุ่มประเทศยูเรเซีย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ผ่านกลไกคณะทำงานร่วม โดยในปี 2563 มูลค่าการค้ารวมประมาณกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรับอากาศ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้า คือ น้ำมันดิบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย ยาจำกัดศัตรูพืช สินแร่โลหะ เป็นต้น

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของประเทศไทย จะมุ่งเน้นไปที่ 1) การหาแนวทางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย กฏระเบียบด้านการค้าและการลงทุน เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย มาตรการเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบด้านศุลกากรและกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัย จะผลักดันความร่วมมือในสาขา อาทิ นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล เกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG โมเดล) และความร่วมมือด้านยางพารา และ 3) ติดตามความคืบหน้าเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกระบวนการจัดทำ FTA ของแต่ละฝ่าย

“รัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษา และเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยทุกเรื่องได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน สำหรับการประชุมกับกลุ่มประเทศยูเรเซียในครั้งนี้ ผลลัพธ์จะนำไปสู่การยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันการนำไปสู่การเริ่มต้นเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต” นางสาวรัชดากล่าว

Advertising

นายกฯ หารือนายกฯ กัมพูชา เสนอโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 ตุลาคม 2567 นายกฯ หารือนายกฯ กัมพูชา เร่งแก้ปัญหาข้ามแดน-แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์-ยาเสพติด พร้อมร่วมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา ในปีหน้า

สปป ลาว วานนี้ (9 ต.ค.) – นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (44th and 45th ASEAN Summits)

โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักของนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันถึงมิตรภาพที่ใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-กัมพูชา และขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ พร้อมกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนไทยอย่างเป็นทางการด้วย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ คือ 1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ควรดำเนินงานต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 2) ไทยเสนอโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” (Six Countries, One Destination) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 3) ไทยส่งเสริมบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน โดยพร้อมที่ปรับปรุงการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนามตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-กัมพูชา

ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น ไทยพร้อม จัดการการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนในประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ การหลอกลวงทางออนไลน์ ไทยยินดีกับคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมระหว่างหน่วยงานตำรวจไทยและกัมพูชา ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งการช่วยเหลือเหยื่อ และทำลายเครือข่ายอาชญากรรมทั้งหมดด้วย การลักลอบค้ายาเสพติด ไทยและกัมพูชาจะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเพิ่มขึ้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนหารือเพิ่มความร่วมมือต่อต้านยาเสพติดตามแนวชายแดน

ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีทั้งสอง แสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน พร้อมร่วมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและกัมพูชาในปีหน้า โดยกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะประสานงานจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชน

Advertisement

 

ประยุทธ์ เสนอแนวทาง 5P เพื่อความกินดีอยู่ดี การพัฒนาที่ยั่งยืน ก้าวผ่านวิกฤต ต่อที่ประชุม ASEM 13

People Unity News : ประยุทธ์ ชูแนวทาง 5P เพื่อความกินดีอยู่ดี การพัฒนาที่ยั่งยืน และก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ในพิธีเปิดการประชุมเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ 13

วันนี้ 25 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียน สำหรับพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ 13 (The 13th ASEM Summit: ASEM13) ผ่านระบบการประชุมทางไกล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การประชุมครั้งนี้มีหัวข้อหลักคือ “Strengthening Multilateralism for Shared Growth” ที่มุ่งสร้างพหุภาคีนิยมที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของ ASEM ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่าพหุภาคีนิยมเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือที่จะนำพาโลกผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ

พร้อมเสนอความร่วมมือตามแนวทาง 5P ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ ดังนี้

1.People ต้องสร้างความมั่นคงให้ประชาชน ASEM กว่าสี่พันล้านคน ทั้งด้านสุขภาพ ความกินดีอยู่ดี และความปลอดภัยในชีวิต

2.Partnership เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมบนพื้นฐานความเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน

3.Peace ความร่วมมือระหว่าง ASEM ต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อสันติภาพ ไม่ให้เกิดการแข่งขันหรือขัดแย้ง

4.Prosperity ต้องเติบโตร่วมกัน ยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีบนกฎกติกาขององค์การการค้าโลก

5.Planet ต้องร่วมมือกันรักษาโลกใบนี้ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030

Advertising

นายกฯ ไทย-ลาว หารือกระชับความร่วมมือทุกมิติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 กุมภาพันธ์ 2568 ทำเนียบ – นายกฯ ไทย-ลาว หารือกระชับความร่วมมือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์-ยาเสพติด ขอ สปป ลาว กำหนดหน่วยงานหลักประสานงานปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ กับ ตร.ไทย เสนอ แนวทางแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน พร้อมขยายการค้าสู่เป้าหมายทวิภาคี 11,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ร่วมฉลอง 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ขอให้ลาวกำหนดหน่วยงานหลัก เพื่อประสานงานร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป ลาว ร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ ภายในตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีนายสอนไซ สีพันดอน ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว โดยเน้นย้ำถึงมิตรภาพและความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ โดยไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การสร้างความมั่นคงชายแดนให้ปราศจากปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และ Online Scam 2.การส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ และ 3.การเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างประชาชนไทยและลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้ทั้งสองประเทศก้าวหน้าพร้อมกันอย่างยั่งยืน

ด้านนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ยินดีที่ไทยและ สปป ลาว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะในด้านภาษา วัฒนธรรม และประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการเยือนครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเริ่มต้นเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว พร้อมกล่าวแสดงความประทับใจต่อการต้อนรับที่อบอุ่นจากรัฐบาล และหวังว่า ไทยและ สปป.ลาวจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนให้มีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในทุกด้าน

ด้านยาเสพติด ทั้งสองฝ่ายต่างมองเห็นถึงความสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย-ลาว ที่ได้มีการประชุมและสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มงวด

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางเพิ่มเติม เช่น การแลกเปลี่ยนข่าวสารและขยายผลการสืบสวน และการสนับสนุนชุมชนปลอดยาเสพติดด้วยการปลูกพืชทดแทน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับจังหวัด-แขวง

ด้านขบวนการคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงไทยและสปป ลาว เน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งกับการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยไทยชื่นชมความสำเร็จของลาวในการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่แขวงบ่อแก้วเมื่อปีที่ผ่านมา และเสนอให้มีการป้องกันไม่ให้ทรัพยากรต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อละเมิดกฎหมาย

ด้านนายกรัฐมนตรี สปป ลาว พร้อมประสานความร่วมมือกับไทยอย่างต่อเนื่องในการขจัดปัญหาทั้งยาเสพติด คอลเซ็นเตอร์ และความมั่นคงตามชายแดนอื่นๆ ต่อไป

ด้านหมอกควันข้ามแดน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ชื่นชมความร่วมมือไทย-ลาว ที่ได้เกิดผลเป็นรูปธรรม และขอบคุณฝ่ายไทยในการสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการตรวจสอบจุดความร้อน ส่งผลให้จุดความร้อนลดลง และหมอกควันความร้อนลดลง

นอกจากนี้ ไทยได้เสนอแนวทางขยายความร่วมมือเพิ่มเติม เช่น การจัดตั้งห้องปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกันเพื่อการแจ้งเตือนล่วงหน้า รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีจาก GISTDA (จีสด้า) ของไทยในการสนับสนุนการตรวจวัดคุณภาพอากาศ

การค้าชายแดน ผู้นำทั้งสองประเทศได้แสดงความยินดีกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัน โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ไทยและ สปป ลาว ขอให้มีการขยายเป้าหมายการค้า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปจนถึงปี 2027

โดยนายกรัฐมนตรี ขอบคุณ สปป ลาว ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าเกษตรผ่านแดน โดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งทำให้การขนส่งราบรื่นและรวดเร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี สปป ลาว ยังเห็นพ้องให้มีการพัฒนาความร่วมมือในด้านการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลดการเผาในอุตสาหกรรมเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในทั้งสองประเทศ

โลจิสติกส์และความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวมองว่าการพัฒนาโลจิสติกส์และความเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว โดยเฉพาะในด้านการคมนาคมทั้งทางบกและราง จะช่วยส่งเสริมบทบาทของทั้งสองประเทศ และยินดีกับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งจะมีการเชื่อมกึ่งกลางสะพานเร็ว ๆ นี้ และจะมีพิธีเปิดในช่วงปลายปีนี้ ด้านนายกรัฐมนตรีหวังว่าจะร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทย-ลาว-จีน ในอนาคต รวมทั้งการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ที่หนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อรองรับการขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

ความสัมพันธ์ระดับประชาชน นายกรัฐมนตรี ยินดีในการร่วมเปิดตัวตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว พร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองกว่า 20 โครงการตลอดปี โดยไฮไลต์สำคัญคือการมอบทุนการศึกษา 75 ทุนให้แก่ สปป.ลาว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเยาวชน พร้อมกล่าวขอให้นายกรัฐมนตรี สปป ลาวช่วยดูแลนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวไทยด้วย

ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีกับความสำเร็จของ สปป ลาว ในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว และสนับสนุนให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน นอกจากนี้ ยังเชิญนายกรัฐมนตรีลาวเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Summit) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี สปป ลาว กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่จะได้ร่วมเปิดตัวตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาวครบ 75 ปี ร่วมกับนายกรัฐตรีหลังจากนี้ รวมถึงขอบคุณรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเยาวชน ให้แก่ สปป ลาว นอกจากนี้ ยังยินดีที่มีนักธุรกิจไทยและนักท่องเที่ยวไทยมีการลงทุนและเดินทางในประเทศลาวจำนวนมาก โดยสปป ลาว พร้อมยินดีดูแลนักคนไทยและนักลงทุนไทยพร้อมหวังว่าไทยจะดูแลนักท่องเที่ยวลาว รวมถึงแรงงานลาวในไทยเช่นกัน

Advertisement

Verified by ExactMetrics