วันที่ 9 เมษายน 2025

ครม. เห็นชอบให้สภากาชาดไทย ออกสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2567

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 มิถุนายน 2567 ครม. มีมติเห็นชอบให้สภากาชาดไทย จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2567 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลากเช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้สภากาชาดไทย หรือเหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดอำเภอ ซึ่งเป็นตัวแทนของสภากาชาดไทย ผู้รับใบอนุญาต จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทยประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้มอบให้สภากาชาดไทย เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลาก ซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่ายตามข้อ 12 (4) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมา สภากาชาดไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และสภาบันการศึกษา จัดทำสลากบำรุงสภากาชาดไทยในทุกๆ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย

การเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทย ตามบัญชี ข. หมายเลข 16 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ข้อ 12 (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2543) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตการเล่นสลากกินแบ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลาก ซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่าย (หากไม่ใช่การออกสลากกินแบ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล ผู้รับใบอนุญาตฯ ต้องเสียภาษีร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 แล้วแต่กรณี) และในครั้งนี้ สภากาชาดไทยจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้สภากาชาดไทย ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2567 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลากเช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา

Advertisment

​รัฐบาลเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเว็บพนันบอลออนไลน์อ้างผลตอบแทนสูงช่วงบอลยูโร 2024

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 มิถุนายน 2567 ​รัฐบาลย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเว็บพนันบอลออนไลน์อ้างผลตอบแทนสูง หลอกให้เล่นพนันบอลยูโร 2024 ฝากผู้ปกครองดูแลลูกหลาน แนะดูเพื่อความสนุก เชียร์ทีมที่ชอบ อย่าหวังรวยจากการพนัน

วันนี้ (16 มิถุนายน 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2567 มีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ครั้งที่ 17 หรือ ฟุตบอลยูโร 2024 รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีพี่น้องประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียทรัพย์สินให้กับการพนัน ในช่วงเทศกาลฟุตบอลยูโร 2024 รัฐบาลฝากผู้ปกครองช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูกหลานอย่าให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันบอล ขอให้ดูเพื่อความสนุก ติดตามเชียร์ทีมที่ชอบ อย่าหวังรวยจากการพนัน นอกจากจะเสียเงินแล้วอาจจะเสียอนาคตตามมา

“รัฐบาลย้ำเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อกลุ่มเว็บไซต์พนันบอล ใช้อุบายโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์อ้างผลตอบแทนสูงจูงใจให้ประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ ทำให้สูญเสียเงินและทรัพย์สิน หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือพบเบาะแสเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ สามารถแจ้งไปยังสายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้เล่น ผู้ชักชวน และผู้จัดให้มีการพนันฟุตบอลจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายคารม ย้ำ

Advertisement

​รัฐบาล จับมือ บางจาก ยกระดับ “ปั๊มบางจาก” เปิดจุดบริการสุขภาพครบวงจร ร่วมขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 มิถุนายน 2567 ​รัฐบาลเดินหน้าเพิ่มช่องทางให้บริการสาธารณสุข จับมือ บางจาก ยกระดับ “ปั๊มน้ำมันบางจาก” เปิดจุดบริการสุขภาพครบวงจร ร่วมขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่”

วันที่ 13 มิถุนายน 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการให้บริการสุขภาพกับประชาชน ทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การเชื่อมโยงข้อมูล และบูรณาการบริการสาธารณสุขแบบครบวงจร ผ่าน “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ลดภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพทางอ้อม เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสรายได้ รวมถึงลดความแออัดในโรงพยาบาล

นายคารม กล่าวว่า การทำให้บรรลุเป้าหมายและเกิดประสิทธิผลตามนโยบายได้นั้น นอกจากการดำเนินการในส่วนภาครัฐแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนร่วมสนับสนุนอย่างความร่วมมือโครงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนวัตกรรมบริการสาธารณสุขฯ รัฐบาล โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนวัตกรรมบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชน” ซึ่งจะเป็นความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการบริการสาธารณสุขเชิงรุกของประเทศ ผ่านรูปแบบบริการต่าง ๆ เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างครบวงจรที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

นายคารม กล่าวต่อไปว่า โครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คลินิกเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. เป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุข  ร่วมให้บริการใน “สถานีบริการน้ำมันบางจาก” โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาร่วมให้บริการ อาทิ ระบบการแพทย์ทางไกล การตรวจคัดกรองสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน เป็นต้น ทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาชีพ ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยจุดบริการที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันมีความสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย นับเป็นความร่วมมืออันดีอย่างยิ่งจากภาคเอกชนที่ร่วมเป็นพันธมิตร ถือเป็นการยกระดับผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในสถานีบริการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาและคำปรึกษาจากแพทย์ได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว

Advertisement

นายกฯ เผย ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงเพิ่มปริมาณให้โทษกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่มีเพื่อเสพ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 มิถุนายน 2567 นายกฯ เผย ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงเพิ่มปริมาณให้โทษกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีในครอบครองเพื่อเสพ

วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) เวลา 12.40 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอร่างกฎหมายเพิ่มปริมาณให้โทษกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีในครอบครองเพื่อเสพ โดยสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ยาบ้า ยาไอซ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีในครอบครองเพื่อเสพ กำหนดให้มีปริมาณแอมเฟตามีน ยาบ้า มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม เดิมมีกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด หรือปริมาณ 500 มิลลิกรัม  และกำหนดให้ปริมาณแอมเฟตามีน ยาไอซ์ มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วย โดยให้สํานักงานกฤษฎีกาตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง

Advertisment

W

ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงใช้สิทธิการรักษา สปสช. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 มิถุนายน 2567 นายกฯ ห่วงใยสุขภาพคนไทย ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงใช้สิทธิการรักษา สปสช. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ‘ไม่มีค่าใช้จ่าย’ ถึง 31 สิงหาคม 67 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มักพบการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่งผลให้เกิดอาการป่วย มีไข้ จนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งนี้ ในปี 2567 รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสิทธิประโยชน์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถเข้ารับบริการได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขั้นตอนการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ประชาชนสามารถใช้สิทธิการรักษาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขอติดต่อเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกแห่ง อนึ่ง ประชาชนสามารถติดต่อเพื่อนัดหมายกับหน่วยบริการล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการเลือกวันเวลาที่เข้ารับบริการที่แน่นอน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1. หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 4. ผู้พิการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 5. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ที่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด 6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไปสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชน ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาการทำงานดูแลประชาชนในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมการทำงานเพื่อพัฒนาการรับสิทธิรักษาโรคในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อดูแล ป้องกัน ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มอ่อนแอ ที่มีโอกาสรับเชื้อโรคมากกว่ากลุ่มปกติ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนประชาชนติดตามการประกาศประชาสัมพันธ์ของรัฐในทุกช่วงเวลาเพื่อป้องกันตนเองจากโรคระบาด ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคภัย” นายชัยกล่าว

Advertisment

คสช. เห็นชอบ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ชง ครม. ประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 มิถุนายน 2567 คสช. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” บนกรอบทิศทางนโยบายภายใต้ 5 มาตรการสำคัญ มอบ สช. เตรียมเสนอมติเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ เน้นย้ำให้คงนโยบายห้ามขาย-นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชาฯ ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช. เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่าการสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริง จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่นๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวอีกว่า ปัญหาขณะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุมคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษา และส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“ความจริงแล้วสถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มาแล้ว โดยขณะนั้นเครือข่ายสมัชชาฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาใหม่จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนให้มากขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าคนในประเทศไหนจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ระบบบริการสุขภาพ 9% พันธุกรรม 16% พฤติกรรม 51% และ สิ่งแวดล้อม 24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีน้ำหนักถึง 75% ดังนั้น การจะทำให้คนสุขภาพดี จึงต้องมาจัดการที่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ซึ่งการสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้ชายไทยเจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ฯลฯ

“ประเทศไทยดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลดี คนสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบุหรี่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มุ่งตลาดที่เด็กและเยาวชนเป็นธุรกิจที่กินยาว ในปัจจุบันจะเห็นการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของประชากรไทยในยุค “เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” อย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะฯ เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง” นพ.สุเทพ กล่าว

Advertisment

กระทรวงดีอี เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจหลงเชื่อมากที่สุดในสัปดาห์ล่าสุด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 มิถุนายน 2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน” รองลงมาคือเรื่อง “ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,865  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 230 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 182 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 37 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website จำนวน 9 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 110 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 77 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 39 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 31 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 21 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รองลงมาเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง  เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน

อันดับที่ 2 : เรื่อง ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

อันดับที่ 3 : เรื่อง เพจ Thailand International Airport Center เปิดรับสมัครงาน รายได้ 10,000 บาท/สัปดาห์

อันดับที่ 4 : เรื่อง เปลี่ยนมิเตอร์ดิจิทัล ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที

อันดับที่ 5 : เรื่อง คันตามผิวหนังเพราะมีก๊าซเน่าเสียในลำไส้ กระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้หลั่งฮิสตามีน

อันดับที่ 6 : เรื่อง รับสมัครคนพับถุงกระดาษ รายได้ 500-2,500 บาทต่อวัน/สัปดาห์

อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัคร Part time พับถุงกาแฟ

อันดับที่ 8 : เรื่อง 9 สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อันดับที่ 9 : เรื่อง  กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู

อันดับที่ 10 : เรื่อง ความชื้นในอากาศสูง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยระบายลมออกจากรูขุมขนยาก

“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ถึง 5 อันดับ และรองลงคือ เรื่องการรับสมัครงาน โดยส่วนใหญ่รูปแบบของการแนะนำด้านสุขภาพที่ผิด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันข่าวการหลอกลวงสร้างอาชีพ หารายได้เสริม ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ นำไปสู่ความเสียหายที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

“อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่

ไลน์ @antifakenewscenter

เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/

ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand

และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง”

Advertisment

สธ.เดินหน้าโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวง ให้ ปชช.ในพื้นที่ห่างไกล ตรวจรักษาโรคได้รวดเร็ว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 มิถุนายน 2567 “เกณิกา” เผย รัฐบาล โดย สธ.เดินหน้าโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวง ให้ ปชช.ในพื้นที่ห่างไกล ตรวจรักษาโรคได้รวดเร็ว

วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดโครงการในหลายจังหวัด เช่น ชัยนาท,ปราจีนบุรี,สุรินทร์,ศรีษะเกษ,พะเยา และอีกหลายจังหวัด

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชน ได้ให้บริการตรวจคัดกรองโรคเฉพาะทางและโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญในพื้นที่ให้ประชาชน โดยภาพรวมดำเนินการไปแล้ว 64 ครั้ง ใน 56 จังหวัด ประชาชนได้รับบริการกว่า 6.3 แสนราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนดำเนินการในวันหยุดทุกสัปดาห์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการตรวจรักษาโรคในระยะเริ่มต้นอย่างทันท่วงที ลดการป่วยและการเสียชีวิต

น.ส.เกณิกา ยังกล่าวต่อว่า โครงการนี้จะให้บริการตรวจคัดกรองรักษาประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกลโดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ให้บริการอย่างน้อย 7 คลินิก ได้แก่

1.คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี

2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม

5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ

6.คลินิกทันตกรรม

7.คลินิกกระดูกและข้อ และจัดบริการคลินิกด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่

“โครงการพาหมอไปหาประชาชน เป็นโครงการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ สามารถช่วยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้จำนวนมาก โดยรัฐบาลเชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะช่วยยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุข พร้อมเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน”

Advertisment

รองโฆษก รบ. แนะทำใบขับขี่ใหม่ จองคิวผ่านแอป DLT สะดวก เตือนอย่าหลงเชื่อเพจปลอมหลอกทำใบขับขี่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 มิถุนายน 2567 “เกณิกา” เผย กรมการขนส่งทางบก แนะทำใบขับขี่ใหม่ จองคิวผ่านแอป DLT สะดวก เตือนอย่าหลงเชื่อเพจปลอมหลอกทำใบขับขี่

วันนี้ (6 มิ.ย. 67)  น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการขอรับใบขับขี่ใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยผู้ขับขี่สามารถจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue โดยเลือกสำนักงานขนส่ง วันและเวลาที่สะดวก เพื่อเข้าตรวจสอบเอกสาร รับการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การอบรม การทดสอบข้อเขียน และการทดสอบขับรถได้ที่สำนักงานขนส่ง

โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้ 1) บัตรประชาชนตัวจริง 2) ใบรับรองแพทย์ ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมการทำใบขับขี่ใหม่ตามกฎหมายกำหนด (รวมค่าคำขอ) ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 205 บาท ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 105 บาท สำหรับผู้ที่ฝึกหัดขับรถด้วยตนเองสามารถศึกษาผ่าน e-Book คู่มือการอบรมใบอนุญาตขับรถและฝึกทำข้อสอบได้ที่ www.safedrivedlt.com หรือ www.ขับขี่ปลอดภัย.com กรณีผู้ขับขี่ที่เรียนกับโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รับรอง ผู้ขับขี่จะได้เรียนรู้ทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยโดยครูผู้สอนที่ได้รับการรับรอง พร้อมทั้งดำเนินการอบรม ทดสอบข้อเขียน ทดสอบขับรถ ณ โรงเรียนสอนขับรถได้เลย และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อนำไปยื่นและถ่ายรูปเพื่อออกใบอนุญาตขับรถที่สำนักงานขนส่ง

“รัฐบาลขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเพจมิจฉาชีพแอบอ้างรับทำใบขับขี่ อย่าโอนเงินหรือส่งเอกสารส่วนบุคคลให้เด็ดขาด โดยพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพจะนำรูปตราสัญลักษณ์กรมการขนส่งทางบกมาใส่ในรูปโปรไฟล์ หรือนำรูปภาพของผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่มาแอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยจะโฆษณาหลอกลวงว่า ทำใบขับขี่ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปอบรม ไม่มีเวลาสอบจะดำเนินการให้ทั้งหมด สามารถออกใบขับขี่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง”

น.ส.เกณิกา กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการขนส่งทางบกขอแจ้งว่า การดำเนินการธุรกรรมด้านใบอนุญาตขับรถต้องดำเนินการด้วยตนเองที่สำนักงานขนส่งเท่านั้น และเตือนประชาชนอย่าโพสต์รูปใบขับขี่ลงสื่อโซเชียลต่าง ๆ เพราะอาจถูกนำรูปภาพไปโพสต์หลอกลวงได้ หากมีข้อสงสัยในการรับบริการทำธุรกรรมกับ ขบ. สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน โทร. 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisment

“สมศักดิ์” ห่วงฤดูฝน “โควิด-หวัดใหญ่” ระบาด-ป่วยเพิ่ม ใช้ “พลังชุมชน” ปราบไข้เลือดออก-มาลาเรีย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 มิถุนายน 2567 “สมศักดิ์” ห่วงฤดูฝน “โควิด-หวัดใหญ่” ป่วยเพิ่ม ใช้ “พลังชุมชน” ปราบไข้เลือดออก-มาลาเรียพร้อมไฟเขียว 3 กฎหมายลูก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุม คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบ 3 อนุบัญญัติ กำหนดให้เจ้าของ-ผู้ควบคุมยานพาหนะ-ผู้เดินทาง-ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ห่วงหลายโรคระบาดช่วงฤดูฝน “โควิด” คาดสูงสุดช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม “ไข้หวัดใหญ่” ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรม ใช้ “พลังชุมชน” ปราบไข้เลือดออก-มาลาเรีย พร้อมรับทราบ 4 แนวทางยุติวัณโรคเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างอนุบัญญัติ 3 ฉบับ ที่ออกตามความใน พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ กรณีผู้เดินทางมากับพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักรจากท้องที่หรือเมืองท่าที่เป็นเขตติดโรค พ.ศ. … 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เดินทาง กรณีผู้เดินทางซึ่งเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด หรือเป็นพาหะนำโรค พ.ศ. … และ 3.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทนของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนด พ.ศ. … ซึ่งทั้งหมดเป็นการกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะ ผู้เดินทาง หรือผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริงในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ คือ 1.โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด 19 ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คาดว่าสูงสุดในช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากรร่วมกับเชื้อเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง และโรงพยาบาลมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ พบมากในกลุ่มเด็กเล็ก 0 – 4 ปี และเด็กวัยเรียน 5 – 14 ปี ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรม 2. โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัดและโรคไอกรนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอให้ผู้ปกครองตรวจสอบประวัติวัคซีนเด็ก หากได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

3.โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 29,554 ราย เสียชีวิต 36 ราย จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน 5 – 14 ปี ส่วนโรคไข้มาลาเรีย พบผู้ป่วยสะสม 4,498 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา มากสุดที่จังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน จึงยกระดับมาตรการควบคุมโรคโดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างบริการปฐมภูมิกับภาคีเครือข่าย โดยอาศัย “พลังชุมชน” และ 3 กิจกรรมสำคัญ คือ การกำจัดพาหะ, การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว และการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดำเนินการในอำเภอที่มีอัตราป่วยไข้เลือดออกสูงต่อเนื่อง และ 10 จังหวัดที่มีโรคไข้มาลาเรียสูง และ 4.วัณโรค พบเสียชีวิต 13,700 ราย มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 72,274 ราย อัตราความสำเร็จการรักษาร้อยละ 85 ได้กำหนดมาตรการสำคัญ คือ 1) ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง 2) วินิจฉัยให้พบโดยเร็วด้วยวิธีมาตรฐาน 3) ติดตามผู้ป่วยวัณโรคจนการรักษาสำเร็จมากกว่าร้อยละ 90 และ 4) ให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรค เพื่อยุติวัณโรคและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

นอกจากนี้ ยังรับทราบความก้าวหน้าการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2568 ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งกรมควบคุมโรค ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในปี 2567 ผลักดันให้มีการรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าระดับอำเภอ 163 อำเภอ ท้องถิ่น 1,136 แห่ง ใน 73 อำเภอ โดยจะมีแผนทำให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดท่องเที่ยวต่อไป

Advertisment

Verified by ExactMetrics