วันที่ 2 เมษายน 2025

พม. ดันนิคมสร้างตนเอง สร้างมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 กุมภาพันธ์ 2568 พัทลุง – “วราวุธ” เผย พม. ดันนิคมสร้างตนเอง สร้างมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ขยายผล ช่วยกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ลงพื้นที่นิคมสร้างตนเองควนขนุน ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการพัฒนาทุนมนุษย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสังคม ส่งเสริมอัตลักษณ์ในนิคมสร้างตนเอง (นิคม NEXT) เยี่ยมชมกิจกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เป็นการส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรกรรม มอบวัวให้กับครอบครัวเปราะบางจำนวน 2 ตัว เป็นการส่งเสริมด้านการปศุสัตว์ และร่วมกิจกรรมทักทอผ้าลายโบราณ เป็นการส่งเสริมด้านหัตถกรรม การสาธิตการทอ “ผ้าลานข่อย”

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาสังคม สร้างความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม อีกทั้งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายคนทุกช่วงวัย และในปีนี้ได้มีการกำหนดพันธกิจสำคัญ (Flagship Project ) 9 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ส่งเสริมพันธกิจสำคัญที่ 3 คือการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง โดยมีการขับเคลื่อน โครงการนิคม Next เริ่มต้นที่นิคมสร้างตนเองกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแห่งแรก จากนั้นขยายผลไปยังพื้นที่นิคมสร้างตนเองทั้งสิ้น 25 แห่ง โดยในปีหน้าจะขยายผลให้ครอบคลุมครบทุกแห่งทั้งสิ้น 43 นิคม

นายวราวุธ กล่าวว่า ครั้งนี้มาลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการนิคม Next ที่นิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม พร้อมมอบโอกาสและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อคนทุกช่วงวัย ผนวกกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ BCG โมเดล การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ โดยใช้พื้นที่นิคมสร้างตนเองที่มีกฎหมายเฉพาะด้านการบริหารจัดการที่ดิน และการดูแลราษฎรในพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวง พม. เป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านอาชีพและรายได้ของประชาชนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของกระทรวง พม. กับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

Advertisement

ออมสิน คว้า 7 รางวัลรัฐวิสาหกิจ ปี 2567 มากสุดเป็นประวัติการณ์ ผลจากความสำเร็จ ธนาคารเพื่อสังคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 กุมภาพันธ์ 2568 ออมสิน ท็อปฟอร์ม!  คว้า 7 รางวัลรัฐวิสาหกิจ ปี 2567 “ระดับดีเด่น” มากสุดเป็นประวัติการณ์ นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลสูงสุด พร้อมครองรางวัลเกียรติยศ “รัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม” 2 ปีซ้อน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2567 ให้แก่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คณะกรรมการธนาคารออมสิน และผู้บริหาร รวมทั้งสิ้น 7 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น และ รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น (ด้านนวัตกรรม) จัดขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 ถึง 7 รางวัล มากสุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารในการได้รับรางวัลในระดับดีเด่นทั้งหมด และเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในครั้งนี้ ที่สำคัญได้รับรางวัลเกียรติยศรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม 2 ปีติดต่อกัน ความสำเร็จในการได้รับรางวัลดังกล่าว นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของบุคลากรธนาคารออมสินทุกคน ที่มุ่งมั่นตั้งใจในการรักษามาตรฐานการดำเนินงานในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล โดยเฉพาะการเดินหน้าตามภารกิจการเป็นธนาคารเพื่อสังคม เพื่อสร้าง Social Impact ให้กับผู้คนและสังคมในวงกว้าง และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว

สำหรับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 ที่ธนาคารออมสินได้รับ ประกอบด้วย รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีมาตรฐานการดำเนินงานที่โดดเด่นในทุก ๆ ด้าน สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศ รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น มอบให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นภาครัฐ ในความมุ่งมั่นและมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และผลักดันการบริหารงานของฝ่ายจัดการให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น ได้รับติดต่อกันเป็นปีที่ 6 มอบให้รัฐวิสาหกิจที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการดำเนินงานได้เป็นเลิศ สามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันและพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล จากความมุ่งมั่นในการยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มาบริหารจัดการและพัฒนาองค์กรในมิติต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงขององค์กร ยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

พร้อมกันนี้ ยังได้รับ รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน จากการที่ธนาคารให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่ารวม โดยคำนึงถึงมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากโครงการ “ออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” ที่ธนาคารใช้กลยุทธ์การพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม โดยยึดโยงกับบริบทแวดล้อมของพื้นที่ เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้ธุรกิจเติบโตควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคม รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ธนาคารได้รับรางวัลด้านนวัตกรรม จากโครงการ GSB ESG Score : Portfolio Low-Carbon โดยนำนวัตกรรมทางการเงินมาพัฒนาเป็น ESG Score เครื่องมือในการพิจารณาสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน ทั้งองค์กรธุรกิจ ธนาคาร ประเทศชาติ และโลกได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

Advertisement

เผยปีที่แล้วสถาบันการเงินรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันเงินทุนเกษตรกร-SME จำนวน 167,302 ต้น วงเงิน 185 ลบ.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 กุมภาพันธ์ 2568 ไม้ยืนต้นก็ค้ำเงินกู้ได้ รัฐบาลย้ำต้องอำนวยความสะดวกกับเกษตรกรให้มากที่สุดสั่งบูรณาการความร่วมมือเดินหน้าช่วยเกษตรกร-SME ให้ใช้ไม้ยืนต้นค้ำประกันนำเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจ ได้เร็วขึ้น เผยปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้วจำนวน 167,302 ต้น วงเงินกว่า 185 ล้านบาท

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2568 ) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบ Host to Host ซึ่งจะช่วยรับส่งข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับ ธ.ก.ส. ได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น และช่วยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้เงินทุนไปต่อยอดธุรกิจได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ จะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการ ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงการนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไป

สำหรับทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกัน ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ 1.กิจการ เช่น ร้านอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัค) 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิในเงินฝาก 3.สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร 4.อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น คอนโดมิเนียม 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6.ทรัพย์สินอื่น ได้แก่ ไม้ยืนต้น ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2567 สถาบันการเงินมีการจดทะเบียนรับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้วจำนวน 167,302 ต้น วงเงินหลักประกันกว่า 185 ล้านบาท และเฉพาะ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกที่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้ว จำนวน 1,520 ต้น วงเงินหลักประกันมากกว่า 10 ล้านบาท

“การใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เกษตรกรและผู้ประกอบการ SME สามารถนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องตัดต้นไม้ และยังสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต จากการเติบโตของต้นไม้ รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเครดิต สอดรับกับการพัฒนาธุรกิจของไทยสู่อนาคตที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว” นายอนุกูล ย้ำ

Advertisement

บลจ.ทิสโก้ ชี้สงครามการค้าเริ่มเร็วขึ้น หลัง ”ทรัมป์” ลงนามขึ้นภาษีสินค้าเม็กซิโก-แคนาดา-จีน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กุมภาพันธ์ 2568 บลจ.ทิสโก้ ระบุสงครามการค้าเริ่มเร็วขึ้น หลัง ”ทรัมป์” ลงนามขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก-แคนาดา-จีน ชี้แม้ไทยยังไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่หวั่นปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ภาพรวมลงทุนหุ้นครึ่งปีแรกยังเสี่ยง คาดฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง ตาด SET Index สิ้นปี 2568 ที่ 1,500-1,530 จุด เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2567

นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (TISCOASSET) กล่าวถึงกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยผ่านทรูธ โซเชียลของตนเองว่า ได้เริ่มบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก และแคนาดา ร้อยละ 25 และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ร้อยละ 10 เพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติดที่ทะลักเข้าสู่สหรัฐฯ ว่า การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดามากกว่าที่มีการคาดการณ์ ขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ มองว่าน่าจะมีการเว้นช่องสำหรับการเจรจา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น ชี้เห็นว่าสงครามการค้าได้เริ่มต้นเร็วขึ้น มองว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนสูงมาก จากนโยบายทั่วโลกที่มีความไม่แน่นอน

สำหรับประเทศไทยที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐเป็นอันดับที่ 12 แม้ยังไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้นๆ แต่ก็ยังวางใจไม่ได้เนื่องจากเมื่อมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทย แทน ซึ่งไทยจึงต้องเตรียมการรับมือในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในปี 2568 ยังคงมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันราคาหุ้นทั่วโลกมีมูลค่า (Valuation) ค่อนข้างแพง โดยเฉพาะฝั่งตลาดประเทศพัฒนาแล้วประกอบกับความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์ที่เดินหน้ามาตรการสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งบลจ.ทิสโก้คาดว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่หาเสียงไว้ในครั้งนี้อย่างจริงจังมากกว่าการดำรงตำแหน่งครั้งก่อนอย่างแน่นอน โดยคาดว่าหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินของสหรัฐฯ หุ้นกลุ่มการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐฯ หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นในปีนี้ โดยหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินจะได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ขณะที่หุ้นกลุ่มการบริโภคของสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์จากการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่ง และหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่ราคาหุ้นไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนักในช่วงปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนเป็นอีกตลาดหุ้นหนึ่งที่น่าจับตาเพราะราคาหุ้นอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ เริ่มเห็นผล แต่ยอมรับว่าความเสี่ยงต่างๆ ที่จีนได้เผชิญในปีที่ผ่านมาก็ยังคงอยู่ และยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์เข้ามาเพิ่มในปีนี้

สำหรับตลาดหุ้นไทยในปี 2568 บลจ.ทิสโก้ คาดว่าดัชนีจะปิดปีที่ 1,500- 1,530 จุด หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปี 2567 แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เป็นการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะบางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก พลังงาน อาหาร และซอฟต์แวร์ ซึ่งไม่ได้เป็นการเติบโตในวงกว้างจึงยังไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีแรงงานจำนวนมากนั้นยังไม่เติบโตดีเท่าที่ควร

ด้าน นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (TISCOASSET) เปิดเผยผลการดำเนินงาน มูลค่าสินทรัพย์รวมภายใต้การจัดการ (AUM) ของ บลจ.ทิสโก้ เติบโต 40% จาก 290,239 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 406,802 ล้านบาท ในปี 2567 หรือเฉลี่ยเติบโต 7% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2567 เปิดเสนอขายกองทุนทริกเกอร์ทั้งหมด 6 กองทุน สามารถบริหารและถึงเป้าหมายในระยะเวลาได้ทั้งหมด 5 กองทุน ถึงเป้าหมายเร็วที่สุดคือภายใน 8 วัน

สำหรับในปีนี้ ยังคงมุ่งเน้นการเติบโต การขยายฐานลูกค้า และ AUM ในทั้ง 3 ธุรกิจ ทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคล และโดยเฉพาะธุรกิจกองทุนรวม

ทั้งนี้ ณ วันที่ 27 มกราคม 2568 บลจ.ทิสโก้ออกกองทุนทริกเกอร์ฟันด์มาแล้วทั้งหมด 152 กองทุน (ถึงเป้าหมายในระยะเวลา 88 กองทุน และถึงเป้าหมายนอกระยะเวลาลงทุน 32 กองทุน) มีกองทุนที่อยู่ระหว่างลงทุน 1 กองทุน (ยังไม่ถึงเป้าหมายและเกินกว่ากำหนดเวลาลงทุน 11 กองทุน) และกองทุนไม่ถึงเป้าหมายและเลิกกองทุนแล้ว 20 กองทุน

ขณะเดียวกัน บลจ.ทิสโก้ จะเดินหน้าแนะนำ 2 ธีมกองทุนรวมที่โดดเด่นของปี 2568 ได้แก่ ธีมที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย 2.0 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกอบด้วย กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในธุรกิจ AI ของสหรัฐฯ กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ และกองทุนหุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ รวมถึงธีมกองทุนที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาด (Laggard Play) ในปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย กองทุนหุ้นขนาดกลาง – เล็กของสหรัฐฯ กองทุนหุ้นเอเชีย และกองทุนหุ้นเวียดนาม

Advertisement

บอร์ดบีโอไอเห็นชอบ 5 ยุทธศาสตร์ ดึงลงทุนปี 2568 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานอุตสาหกรรมชั้นนำโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 มกราคม 2568 บอร์ดบีโอไอ ชิงจังหวะเร่งเครื่องต่อเนื่องดึงลงทุนต่อเนื่อง ประเดิมปี 68 อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท บิ๊กโปรเจกต์ TikTok และ Siam AI ทุ่มทุนปักหลักโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล – AI ในไทย พร้อมเดินหน้าส่งเสริมกิจการเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ เร่งขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ ดึงลงทุนปี 2568 ผลักดันไทยขึ้นแท่นฐานอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนัดแรกของปี 2568 ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการสำคัญ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วยกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Data Hosting ของบริษัทในเครือ TikTok Pte. Ltd. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ยอดนิยม โดยจะลงทุนติดตั้ง Server และอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน Data Center ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนรวม 126,790 ล้านบาท และกิจการ AI Cloud Service ของบริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับเลือกให้เป็น NVIDIA Cloud Partner (NCP) จะตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและปทุมธานี มูลค่าลงทุนรวม 3,250 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติโครงการลงทุนผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่าลงทุนรวม 40,400 ล้านบาท

“ปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่าง Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย รวม 16 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะมีบริษัทชั้นนำระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI รวมทั้งการจัดเก็บและประมวลผล Big Data การลงทุนของทั้งสองโครงการนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว

นอกจากนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศมากขึ้น บอร์ดบีโอไอ ได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้

1.เปิดส่งเสริม “กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)” ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตร เศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตร เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานระหว่างประเทศ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ “กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนแบบผสม” ซึ่งจะนำ SAF มาผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (JET Fuel) เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทันที โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

2.ปรับปรุงกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ให้เป็น “กิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ” เพื่อให้มีขอบข่ายธุรกิจที่กว้างขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านเกษตร อาหาร พลังงานทดแทน และบริการสนับสนุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

บอร์ดบีโอไอ ยังได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568 โดยมุ่งยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคใน 5 ด้านสำคัญที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง ได้แก่ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้าน BCG (Bio-Circular-Green Industries Hub) ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech Hub) ซึ่งจะครอบคลุมหลายสาขา เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ศูนย์รวมบุคลากรทักษะสูงจากทั่วโลก (Talent Hub) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และธุรกิจระหว่างประเทศ (Logistics & International Business Hub) และศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Soft Power and Creative Hub)

นายนฤตม์ กล่าวว่า สถานการณ์ความผันผวนของโลก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการช่วงชิงฐานการลงทุน บีโอไอจึงได้มีแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และพร้อมรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีแผนดำเนินงาน 5 ด้านสำคัญ ดังนี้

1) เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งดึงดูดการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV), เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง, ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยการบูรณาการผ่านคณะกรรมการระดับชาติ ทั้งบอร์ดอีวี บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ และคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน และเตรียมขยายสำนักงานบีโอไอเพิ่มอีก 2 แห่งที่นครเฉิงตู ประเทศจีน และสิงคโปร์

2) ยกระดับผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs และสร้างโอกาสในการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศ และการจัดกิจกรรมการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม

3) พัฒนาบุคลากรทักษะสูง โดยบีโอไอทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะด้าน Semiconductor, PCB, ดิจิทัล และ AI ทั้งการจัดทำ Roadmap ที่ชัดเจนและการกำหนดมาตรการสนับสนุน นอกจากนี้ จะดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ ผ่านมาตรการ LTR Visa และ Smart Visa รวมทั้งการขยายการให้บริการของศูนย์ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศการลงทุน โดยส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัลที่สำคัญเพื่อรองรับการลงทุน พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาและเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการลงทุน และพัฒนาเครื่องมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Global Minimum Tax) ร่วมกับกระทรวงการคลัง

5) การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การรีไซเคิล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อการลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ บีโอไอจะทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการออกแบบกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งกลไก Utility Green Tariff (UGT) และการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct PPA)

Advertisement

โอดตรุษจีนเยาวราชปีนี้จับจ่ายไม่คึกคักเท่าปีที่แล้ว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 มกราคม 2568 ผู้ค้า-ปชช. เผยตรุษจีนเยาวราชปีนี้จับจ่ายไม่คึกคักเท่าปีที่แล้ว โอดเศรษฐกิจไม่ดี ด้านร้านทอง เผยยอดขายลดลง 20-30% จากตรุษจีนจีนปีที่แล้ว

บรรยากาศการจับจ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีน 2568 วันนี้ยังมีประชาชนทยอยออกมาจับจ่ายกันอย่างต่อเนื่อง จากการสอบถามผู้ค้าย่านเยาวราชหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายอดขายลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมากเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ส่วนใหญ่ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเสาร์-อาทิตย์กันไปแล้ว วันนี้จึงค่อนข้างบางตา ผู้ค้าบางราย ยอมรับว่าสั่งของมาน้อยลงจากปีที่แล้ว และปีนี้ไม่ได้ปรับราคาเพิ่มขึ้น ยังคงขายราคาเดิม

ขณะที่ประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอย มีทั้งที่สามารถซื้อได้เหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าเป็นประเพณียังอยากทำเหมือนเดิม แต่หลายคนยอมรับ ต้องปรับตัว ซื้อของลดลงจากปีที่แล้ว เช่น ผลไม้ที่ซื้อลดลงจำนวนลง ส่วน ของสด เช่น หมู เลือกที่จะเปลี่ยนเป็น หมูแผ่น หมูหยอง ซึ่งเป็นของแห้ง ยังสามารถเก็บไว้กินได้

ผู้สื่อข่าวสำรวจราคาสินค้าย่านเยาวราช พบว่าราคาขนมเข่ง ขนมเทียน บางร้านปรับราคาขึ้นมาเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับเพิ่มขึ้นทั้ง น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ แป้งข้าวเหนียว ทำให้ต้องขายขนมเข่ง คู่ละ 30-40 บาท ขนมเทียนไส้เค็ม-หวาน ลูกละ 10 บาท

ส่วนราคาหมูสามชั้นต้ม ชิ้นละ 250-280 บาท ไก่สด กิโลกรัมละ 150 บาท ไก่ไทยต้มตัวละ 550-600 บาท แล้วแต่ขนาด ไก่เนื้อ ตัวละ 350 บาท แล้วแต่ขนาด เป็ดพะโล้ ตัวละ 420-500 บาท แล้วแต่ขนาดเช่นกัน และกระดาษไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้า ราคาทรงตัวจากปีที่ผ่านมา ส่วนผลไม้ที่นิยมนำไปไหว้เทพเจ้าอย่างส้มโลละ 150 บาท แอปเปิ้ลฟูจิญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 100 บาท องุ่น ครึ่งโล 250 บาท

ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายทองคำในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ นายวรชัย ตั้งสิทธิ์ภักดี รองเลขาธิการสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า ยอดขายลดลงประมาณ 20-30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาทองปรับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยราคาทองรูปพรรณปีนี้อยูที่ระดับ 44,050 บาทต่อบาททองคำ จากช่วงเดียวกันปีก่อนปีมี่ระดับ 33,000 บาทต่อบาททองคำ เพิ่มขึ้นราว 10,000 บาท ทำให้ห้างร้านบางแห่งเปลี่ยนจากเดิมที่เคยซื้อทองเป็นของขวัญตรุษจีนไปซื้อผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เนื่องจากสู้ราคาทองคำในขณะนี้ไม่ไหว ขณะที่ประชาชนทั่วไป เลือกที่จะนำทองรูปพรรณที่มีอยู่เดิมมาเปลี่ยนลาย ทดแทนการซื้อใหม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ตลาดคาดการณ์ว่าหลังจากที่โดนัล ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ราคาทองคำจะย่อลง นักลงทุนจึงรอเข้าซื้อ แต่กลับพบว่าเมื่อทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง ราคาทองคำยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนยังชะลอการซื้อทองคำ นอกจากนี้ยังต้องจับตา ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ รวมถึงประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS และหลายธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเดินหน้าสะสมทองคำ โดยคาดว่าปีนี้อาจได้เห็นราคาทองคำไปแตะที่ 48,000 บาทต่อบาททองคำ

Advertisement

 

SCB มอง ศก.โลก-ศก.ไทย ปี 68 ข้างนอกท้าทาย ข้างในยากขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 ธันวาคม 2567 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดเศรษฐกิจโลกปี 2568 เติบโต 2.5% ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดปี 2567 เติบโต 2.7% ขณะที่ปี 2568 จะเจอแรงกดดันจากนโยบาย ทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง คาด จีดีพี จะเติบโตแค่ 2.4%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2568 เหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) จากนโยบาย Trump 2.0 ซึ่งจะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันการค้าให้รุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจโลกผ่านการค้า การลงทุน และแรงงานเป็นหลัก หลายประเทศหลักได้เตรียมชุดมาตรการลดผลกระทบเชิงลบจาก Trump 2.0 ไว้บ้างแล้วแต่ปัญหาการเมืองในบางประเทศอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้แนวทางการรับมือของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบสุทธิของชุดนโยบาย Trump 2.0 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นลบแต่จะไม่แรงมาก เพราะหลายนโยบายจะช่วยเร่งการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลดภาษีเงินได้ การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ (Deregulation)

ทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินโลกจะเริ่มแตกต่างกันและมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าและการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อโลกอาจไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ลง อีกทั้ง ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามอุปสงค์โลกและการเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐฯ จากนโยบายสนับสนุนของ Trump ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่จะชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัย Trump 2.0 กดดันเพิ่มเติม แต่สำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์เดิม ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันเงินเยนอ่อนค่ามากจาก Trump 2.0

เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ปีหน้าจะเจอแรงกดดันจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 อาจขยายตัวได้ถึง 4% ตามแรงส่งการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่โตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 รวมถึงการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ 2.7% สำหรับปี 2568เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ปัญหา China’s overcapacity จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกระตุ้นการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมในปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.4%

การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ฟื้นไม่แรงมากนักจากความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดและอุปสงค์ในประเทศซบเซา สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2024 ผู้บริโภคกว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ต่ำสะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และมีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลงเพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะความต้องการซื้อบ้านและรถในปีหน้า โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญคือการขออนุมัติสินเชื่อ ปัจจัยราคา รายได้และภาระชำระหนี้

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า คุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มจะปรับแย่ลง ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวดต่อเนื่อง จากข้อมูล NCB สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะคลี่คลายได้ช้า ส่งผลกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้นและยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ สำหรับผลสำเร็จของมาตรการฯ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก

SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือน ก.พ. 2568 ไปอยู่ที่ 2%และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง

สำหรับเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกไม่มาก อยู่ในกรอบราว 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ยังต้องจับตาความผันผวนของเงินสกุลอื่นที่อาจกระทบเงินบาทได้ สำหรับปี 2568 คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไหลออกต่อเนื่องกดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของ Fed ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ มองกรอบปลายปีที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

แนวโน้มธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบาย Trump 2.0 การแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ แรงกดดันจาก Mega trends รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตของไทยเอง แต่ขนาดผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจเช่น ธุรกิจยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของครัวเรือน ซ้ำเติมด้วยแรงกดดันเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับตัว ขณะที่ธุรกิจอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย แม้ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถปรับตัวเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพทดแทนได้

ความท้าทายภายนอกและความอ่อนแอภายในของประเทศไทยที่เห็นนี้ กำลังสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงในระยะสั้นและมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ขณะที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงในโครงสร้างทางสังคมได้อย่างเสรี ข้อจำกัดเหล่านี้นำพาให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนโลก ‘สองใบ’ ที่แตกต่างกันใน 3 มิติ คือ

1.มิติ : อ่อน-แข็ง โลกสองใบของครัวเรือนฐานะการเงินอ่อนแอกับครัวเรือนฐานะการเงินเข้มแข็งสะท้อนครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก โดยครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอมีรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีรายได้เข้ามาไม่สม่ำเสมอ เมื่อครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ขาดรายได้ โลกของครัวเรือนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง

2.มิติ : เก่า-ใหม่ โลกสองใบของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ ภาคการผลิตโลกเก่าไม่ได้เติบโตไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี หรือจะเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ภาคการผลิตโลกใหม่มีโอกาสเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้อยกว่า

3.มิติ : ใหญ่-เล็ก โลกสองใบของธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก กำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ผ่านมารายได้ธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงCOVID-19 ไม่ได้ลดลงเลย และสามารถเติบโตได้เกือบ 10% หลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง ในทางตรงข้ามรายได้ของธุรกิจขนาดเล็กหดตัวราว 2-3% ในช่วงCOVID-19 และยังไม่ฟื้นตัว

แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจึงควรมุ่งลดระยะห่างระหว่างโลกสองใบ ผ่านเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1.คนไทยควรมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้คนในโลกที่รายได้น้อยกว่าออกไปคว้าโอกาสในการเติบโต ผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรายได้น้อย โดยผู้ดำเนินนโยบายมีบทบาทเป็นกลไกเสริมผ่านการช่วยเหลือทางสังคมและประกันทางสังคม ควบคู่ไปกับการออกแบบกติกาในภาคการเงินเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาตลาดประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก

2.คนไทยควรเติบโตจากการพัฒนาและปรับตัวทันกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไป โดยในการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวและพัฒนาให้ทันภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจะเป็นกลไกเสริมผ่านการหาโอกาสทางธุรกิจผ่านการเจรจาทางการค้าและการลงทุนกลับมาให้ธุรกิจภายในประเทศ

3.คนไทยควรมีโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเติบโตไปพร้อมกัน ผู้ดำเนินนโยบายจะมีบทบาทในฐานะผู้ออกแบบกติกาของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และการแข่งขัน เพื่อสร้างโอกาสให้คนจากโลกที่รายได้ต่ำกว่าเข้าถึงทรัพยากร สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างทั่วถึง

Advertisement

S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+ มองจีดีพีไทยโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ช่วงปี 67-70

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 ธันวาคม 2567 S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+ มองจีดีพีไทยโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ในช่วงปี 2567-2570 รัฐบาลผลักมาตรการเศรษฐกิจต่อเนื่อง อาจมีลุ้น “A-“

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings (S&P) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) S&P คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 2.8 และ 3.1 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจีดีพีแท้จริง (Real GDP Growth) เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.0 ในช่วงปี 2567-2570 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ยร้อยละ 3.3 ในช่วงปี 2568 – 2569

S&P มองว่ารัฐบาลไทย ยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาเขตอีอีซี และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) จะช่วยขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยหนี้ภาครัฐบาลสุทธิต่อ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในปี 2568 ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโอนเงิน 10,000 บาท คาดว่าตั้งแต่ปี 2567-2570 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลเฉลี่ยร้อยละ 2.3 จากการฟื้นตัวของภาคส่งออก

สำหรับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วยหนุนเศรษฐกิจในระยะ 2 ปีข้างหน้า ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.3 เทียบกับปีก่อน ปัจจัยสำคัญ S&P จะติดตาม Credit Rating ของไทย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ หากการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง จะมีผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ “A-” โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง ควรกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ

Advertisement

บอร์ดไตรภาคี ยังไม่เคาะข้อสรุปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นัดประชุมใหม่อีกครั้ง 23 ธ.ค.นี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 ธันวาคม 2567 ก.แรงงาน วานนี้ (12 ธ.ค.) – บอร์ดไตรภาคี ยังไม่เคาะข้อสรุปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปลัดแรงงาน เผยเหตุจากรายงานตัวเลข 77 จังหวัด มีรายละเอียดมากและสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็เปลี่ยนไป ทำให้ต้องศึกษาตัวเลขรอบคอบ นัดประชุมอีกครั้ง 23 ธ.ค.นี้

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือ บอร์ดไตรภาคี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ว่าวันนี้ มี 3 เรื่องที่แจ้งที่ประชุม คือ1.เรื่องผู้แทนฝ่ายภาครัฐที่มาใหม่จำนวนสองคน 2.รับทราบขั้นตอนเงื่อนไขรายละเอียดข้อกฎหมายในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และ 3.พิจารณาว่าวันนี้คณะกรรมการค่าจ้างมีความเห็นตกผลึกข้อสรุปเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างไร

โดยการแถลงวันนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้โอบเอว นายอรรถยุทธ ลียะวนิช และ นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการฝ่ายลูกจ้าง โชว์สื่อและแสดงให้เห็นว่า การพูดคุยวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่น

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมมีข้อมูลเสนอมาก ที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขการเสนอปรับค่าจ้างขึ้นจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีการเสนอมาเดิมจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัด ศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 มีข้อเสนอแนะว่า จนถึงปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นอาจจะต้องมีการพิจารณาตัวเลขแต่ละจังหวัดอย่างรอบคอบมากขึ้นและบางส่วนการทำเอกสารยังไม่สมบูรณ์ วันนี้จึงที่ประชุมเห็นตรงกันกันว่า จะขอนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2567

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย ส่วนตัวเลขแนวโน้มจะปรับขึ้นเป็นกี่บาทหรือเป็น 400 หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ และไม่ได้มีธงว่าจะต้องเป็น ตัวเลขเท่าไหร่ อยู่ที่ความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้าง และต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด สภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ สูตรที่ใช้คำนวณก็จะคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นนั้นเป็นข้อพิจารณาด้วย โดยข้อสรุปจะต้องยึดตามมติของไตรภาคี

ย้ำว่า จะดูตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ จะขึ้นไม่เท่ากัน ส่วนจะทันเป็นของขวัญปีใหม่ของแรงงานหรือไม่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จะพยายามปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันขึ้นวันที่ 1 มกราคม 2568

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการฝั่งนายจ้าง กล่าวว่า ทุกๆ ปี ฝั่งนายจ้างมีความยินดีที่จะให้ปรับอัตราค่าจ้าง เพียงแต่ให้เป็นไปตามรอบของแต่ละปีที่ควรจะเป็น ฝั่งนายจ้างไม่เคยคัดค้านแต่ตัวเลขจะปรับเท่าไหร่ ก็อยู่ที่ตามหลักเกณฑ์เป็นไปตามกลไกและตามกฎหมาย

ขณะที่ นายวีรสุข แก้วบุญปัน กล่าวว่า ทราบดีว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ฝ่ายลูกจ้าง ยังคงหวังให้ปรับขึ้น 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ และข้อมูลที่พิจารณาวันนี้ ทั่วประเทศมีรายละเอียดมาจริง ซึ่งจะพยายามผลักดันตัวเลขเพื่อลูกจ้างเต็มที่ แต่ก็ไม่ว่าอย่างไรทุกฝ่ายต้องยอมรับความเห็นของไตรภาคี

Advertisement

รัฐบาลเชิญชวนคนไทยท่องเที่ยว จองผ่านเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 ธันวาคม 2567 “ศศิกานต์” เชิญชวนคนไทยท่องเที่ยว ผ่านโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” ส่งความสุขพร้อมดีลพิเศษ เพียงจองผ่านเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com จองได้ถึง 31 มี.ค. 68

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเชิญชวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยว ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว นี้ ผ่านโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” มุ่งสร้างกระแสการเดินทางภายในประเทศช่วงปลายปี โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เปิด www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com  ซึ่งรวบรวมที่พักชั้นนำจากทั่วประเทศในสไตล์ที่หลากหลายกว่า 200 แห่ง ให้สามารถเลือกโปรโมชั่นส่วนลดสุดพิเศษ  โดยจองผ่านเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com  ซึ่งมีส่วนลดตั้งแต่ 15-35% และสามารถรับส่วนลดเพิ่มอีก 5-10% เมื่อจองผ่านเว็บไซต์นี้ ทำให้ได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 45% สำหรับโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ มีหลากหลายระดับทั้งโรงแรมชั้นนำที่ได้รับรางวัล และโรงแรมเครือดังที่ไม่เคยลดราคามาก่อน

ผู้ที่สนใจจองห้องพักสามารถเลือกใช้ 2 วิธีง่ายๆ บนเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com ดังนี้

1.เลือกโรงแรมที่ชอบ จากนั้นระบบจะนำไปที่เว็บจองของโรงแรมนั้นโดยตรง กรอกรหัส “happynow” เพื่อรับส่วนลดพิเศษทันที

2.กรอกรหัส “happynow” บนเว็บของโรงแรมที่เลือก ระบบจะยืนยันผ่านอีเมลพร้อมเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง

“ผู้สนใจสามารถจองได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 31 มีนาคม 2568 และสามารถเข้าพักในโรงแรมหรือที่พักที่ได้ทำการจองไว้ได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 31 มีนาคม 2568 ติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมที่ Facebook: Amazing ไทยแลนด์ หรือโทร 1672 Travel Buddy” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics