วันที่ 3 เมษายน 2025

Krungthai ชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing ตลาดผันผวน แนะลงทุนหุ้นคุณภาพ รับผลตอบแทนที่ดี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 19 ตุลาคม 2567 Krungthai CIO ชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing แนะสะสมหุ้นคุณภาพ รับผลตอบแทนที่ดีในภาวะตลาดผันผวน

Krungthai CIO ชี้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หลายตลาดทำสถิติสูงสุดตลอดกาล   ท่ามกลางความผันผวนของตลาด ซึ่งตามสถิติในเดือนกันยายนมีความผันผวนมากที่สุดของปี แนะสะสมหุ้นคุณภาพดีของสหรัฐฯ ราคาน่าสนใจ สร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในสภาวะตลาดผันผวน

ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารกรุงไทย (Krungthai Chief Investment Office) วิเคราะห์ตลาดและการลงทุนประจำเดือนตุลาคม 2567 โดยยังคงมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลง แต่ไม่ถดถอย และเดินหน้าไปสู่ภาวะ Soft Landing โดยเงินเฟ้อทั่วโลกมีการทยอยปรับตัวลง กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลก จะเริ่มวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อหยุดการชะลอตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังประกาศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ที่มีทั้งนโยบายการเงินและการคลัง มองว่าจะช่วยหยุดการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ทำให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตได้ตามเป้า แต่ในภาคอสังหาฯ ที่มีปัญหามาอย่างยาวนานนั้น อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นมากกว่าปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นได้รับรู้ข่าวดีต่างๆ ไปบ้างแล้ว โดยปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่ระดับ Forward P/E  19.15 เท่า  สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 17.0 เท่า จึงมองว่า Upside การลงทุนเริ่มจำกัด ตลาดจะตัวแกว่งในกรอบ นอกจากนี้ ราคาหุ้นที่ค่อนข้างตึงตัว หากกำไรบริษัทจดทะเบียนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวลง อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และตลาดอาจปรับตัวลงแรง เช่นเดียวกับช่วงต้นเดือนกันยายน ดังนั้น จึงแนะปรับพอร์ตการลงทุนอย่างระมัดระวัง เพื่อรับผลตอบแทนที่ยั่งยืนในทุกสภาวะตลาด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ในสภาวะที่ตลาดโดยรวมอาจจะยังคงตึงตัว มองว่ายังมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากที่ผ่านมา การปรับตัวขึ้นไปกระจุกตัวของหุ้นขนาดใหญ่ไม่กี่ตัว สร้างแนวโน้มการทำกำไรในหุ้นตัวอื่นๆ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาที่ไม่ตึงตัวมากเกินไป ทำให้มองว่าการลงทุนที่น่าสนใจช่วงนี้ ควรเข้าสะสมหุ้น Laggard ที่คุณภาพดี เช่น หุ้นเทคโนโลยี ที่ไม่ใช่เทคฯ ขนาดใหญ่ โดยมีกระแสเงินสดและการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มองว่าตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market  ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว โดยตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงแรงช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวยังมี Upside อยู่ ในขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับไม่สูง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ที่มองว่ายังมี Upside ถึงแม้จะปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ดี และเริ่มมีสัญญาณเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยอีกรอบ หลังจากไหลออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า

Advertisement

ธนาคารโลกเตือนหนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน แนะประเทศร่ำรวยยื่นมือช่วย

People Unity News : ธนาคารโลกเตือน หนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน เมื่อปีที่แล้ว

14 ตุลาคม 2564 ประธานธนาคารโลก เดวิด มอลพาสส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยตัวเลขหนี้ระหว่างประเทศประจำปี 2022 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางกำลังมีความเสี่ยงในเรื่องหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยยื่นมือเข้าช่วยซึ่งรวมถึงการลดหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และการเพิ่มความโปร่งใส

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า เวลานี้ครึ่งหนึ่งของประเทศยากจนทั่วโลกต่างมีปัญหาหนี้ต่างประเทศ และจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจนได้

รายงานของธนาคารโลกเปิดเผยด้วยว่า หนี้ต่างประเทศของประเทศรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.3% ในปี ค.ศ. 2020 เป็น 8.7 ล้านล้านดอลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาค

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประเทศยากจนเหล่านั้นถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากโครงการผัดผ่อนหนี้ Debt Service Suspension Initiative (DSSI) ของประเทศกลุ่มจี-20 กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้

ที่มา VOA

Advertising

ผู้นำเอเปค รับข้อเสนอ ABAC มุ่งสร้างความเชื่อมโยง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

People Unity News : 18 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้นำเอเปค รับข้อเสนอภาคเอกชน ABAC หวังร่วมมือฟื้นเศรษฐกิจเอเปค หวั่นหลายปัจจัยคุกคามเอเปค จากกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Leaders’ Dialogue with ABAC)

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ABAC กล่าวว่า  ปัจจุบันความท้าทายต่างๆ เป็นภัยคุกคามที่ทุกเขตเศรษฐกิจต้องเผชิญร่วมกัน จึงเน้นย้ำการร่วมมือกันอย่างจริงจัง เน้นการป้องกันการติดอยู่ในกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร อำนวยความสะดวกทางการค้า ดำเนินการตามเศรษฐกิจ BCG รับมือกับโรคระบาด การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม สนับสนุนความเชื่อมโยงและไร้รอยต่อ ภายใต้มาตรฐานและแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค สนับสนุน MSMEs โดยเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาและนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้

จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ ABAC สำหรับข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริง สะท้อนข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจว่า เอเปคจะต้องดำเนินการเรื่องต่างๆอย่างไรต่อไป ซึ่งการหารือจะเป็นโอกาสดีที่จะได้สานต่อความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาร่วมกันของภูมิภาค โดยเอเปคมีคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ อาทิ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อหาทางออกไปด้วยกัน รวมทั้งความสำเร็จของเอเปคในปีนี้ เป็นผลมาจากการรับข้อเสนอแนะของ ABAC มาขับเคลื่อนในเอเปค

“โดยเฉพาะแผนงานต่อเนื่องหลายปีสำหรับวาระเรื่อง FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) รวมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยได้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ช่วยฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ นอกจากนี้ ยังเสนอการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนวาระการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และครอบคลุม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของ ABAC” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผลงานของ ABAC ปีนี้ ส่งเสริม สอดคล้องกับการดำเนินงานของเอเปคเป็นอย่างดี พร้อมขอให้ใช้ประโยชน์จากการหารือกลุ่มย่อย เพื่อนำข้อเสนอของเอแบคไปสู่นโยบายที่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างอนาคตของภูมิภาคที่ยั่งยืนและครอบคลุม

Advertisement

“มาครง” ชี้โลกเผชิญความท้าทายใหม่ 3 อย่าง สงคราม-การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย-ภูมิอากาศ

People Unity News : 18 พฤศจิกายน 2565 “ปธน.มาครง” ปาฐกถาเวที APEC CEO Summit 2022  ชี้การสร้างสันติภาพและความมั่นคงคือกุญแจสำคัญ ช่วยโลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายจากความท้าทายใหม่ ด้านผู้ว่าฯ ททท. ประกาศแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

การประชุม APEC CEO Summit 2022  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565  ที่ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล เวทีคู่ขนานกับเวทีประชุมเอเปค 2022 การประชุมในวันนี้เป็นวันสุดท้าย โดยนายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ กรรมการบริหาร  การประชุม APEC CEO Summit 2022 กล่าวต้อนรับ โดยระบุว่าการประชุม APEC CEO Summit 2022 เป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำทางความคิดมาร่วมกันหาทางออกสำหรับอนาคตของเรา

ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ  Mr.Krishna Srinivasan  กรรมการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  ในประเด็น Achieving Economic Resilience in APEC”

นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การนำทางผ่านโลกที่ปั่นป่วนวุ่นวาย”  โดยชี้ว่า หลังจากที่โลกผ่านวิกฤติโควิด-19 มา ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ 3 อย่าง คือ สงคราม ที่ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานและอาหารตามมา สองคือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในโลก ที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลง และสามคือ ปัญหาสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

“ความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นปัญหาของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข และการมีกฎกติกาโลกที่ทุกฝ่ายปฏิบัติร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าการสร้างสันติภาพและความมั่นคง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายนี้ไปได้ การเจริญเติบโตของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียม” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

จากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ “การสร้างความเท่าเที่ยมทางเพศเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต”  ที่มีซีอีโอชั้นนำของไทยเข้าร่วม ได้แก่ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย Ms. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mr. Timothy D. Dattels สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) แคนาดา

การประชุมในช่วงเช้าจบลงที่การบรรยายในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ว่านับตั้งแต่ไทยเปิดประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 8.5 ล้านคน และ ททท.ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากรายได้ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 80% ทั้งนี้ ททท.จะเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการเน้นที่ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว เป็นการเน้นให้นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง

“ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่เน้นความรู้และประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเฉพาะทาง เช่น การท่องเที่ยวที่เน้นกีฬา หรือการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ซึ่งจะพยายามทำงานโดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยตั้งเป้าให้ทุกฝ่ายได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ยุติธรรม นอกจากนี้ ททท. จะผลักดันการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยและการปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวางแผนประกาศให้เกาะหมาก เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศ” ผู้ว่า ททท. กล่าว

Advertisement

Gazprom บริษัทพลังงานรัสเซียหยุดส่ง ‘ก๊าซ’ ให้เดนมาร์ก-เยอรมนี ไล่หลังหยุดส่งให้เนเธอร์แลนด์

People Unity News : 1 มิถุนายน 2565 ก๊าซพรอม (Gazprom) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย ประกาศระงับการจัดส่งก๊าซให้เออร์สเตด (Orsted) บริษัทพลังงานรายใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก และระงับการจัดส่งก๊าซให้เยอรมนีภายใต้สัญญาเชลล์ เอเนอร์จี ยุโรป (Shell Energy Europe) โดยมีผลตั้งแต่วันพุธที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (30 พ.ค.) Gazprom ได้หยุดส่ง ‘ก๊าซ’ ให้เนเธอร์แลนด์ หลังปัดซื้อด้วย ‘รูเบิล’

ทั้งนี้ ก๊าซเทอร์รา (GasTerra) บริษัทก๊าซของเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่าก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานของรัสเซีย จะยุติการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่วันอังคาร (31 พ.ค.) เป็นต้นไป หลังก๊าซเทอร์ราปฏิเสธชำระเงินด้วยสกุลรูเบิล

คำแถลงจากก๊าซเทอร์ราระบุว่าการตัดก๊าซของรัสเซีย หมายความว่าจะไม่มีการจัดส่งก๊าซตามสัญญากับก๊าซพรอม จำนวน 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร แก่เนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึง 30 ก.ย. ขณะสื่อท้องถิ่นรายงานว่าปริมาณก๊าซที่ถูกตัดคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 5 ของการใช้ก๊าซรายปีในเนเธอร์แลนด์

ก๊าซเทอร์รา ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าของส่วนหนึ่ง เผยว่ามีการซื้อก๊าซจากแหล่งอื่นๆ เพื่อรับมือกรณีนี้ ขณะตลาดก๊าซยุโรปมีความเป็นหนึ่งเดียวและความครอบคลุมสูง และมิอาจคาดการณ์ได้ว่าการตัดก๊าซจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์อุปทานและอุปสงค์อย่างไร หรือตลาดยุโรปจะรับมือกับการสูญเสียก๊าซครั้งนี้โดยไม่เกิดผลร้ายแรงตามมาได้หรือไม่

ด้าน ร็อบ เจ็ตเทน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเนเธอร์แลนด์ โพสต์ทวิตเตอร์ว่ารัฐบาลเข้าใจมติของก๊าซเทอร์ราที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินของก๊าซพรอม โดยมติดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการจัดส่งก๊าซแก่ครัวเรือนในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศแผนยุติการซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียอย่างสิ้นเชิงภายในสิ้นปี 2022 และจะพยายามบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน และการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้น โดยเนเธอร์แลนด์นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราวร้อยละ 15

Advertisement

 

เตือนจับตาตลาดจีนใกล้ชิด สัญญาณชะลอตัวเศรษฐกิจ ส่งออกไทยไปจีนหดตัว

People unity news online : Krungthai Macro Research จับตาตลาดจีนอย่างใกล้ชิด เหตุมีสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ระบุตัวเลขส่งออกไทยไปจีนชะลอลง หลังสินค้ากลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์หดตัวแรง

26 ตุลาคม 2561 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินจากรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2561 หดตัวลง 5.2% ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน เหตุส่งออกไปจีนหดตัวแรงถึง 14.1% และประเทศกลุ่ม ASEAN-5 ชะลอลงมาก โตเพียง 0.9%

Krungthai Macro Research ชี้จับตาตลาดส่งออกจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง เห็นได้จากตัวเลขสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายน 2561 หดตัว ทั้งยานยนต์ ยางล้อ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตลาดยานยนต์ของจีนชะลงตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวต่อไปว่า จับตาสินค้าสินค้ากลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ เนื่องจากสินค้ากลุ่มยางพารามีสัดส่วนต่อการส่งออกไปจีนถึง 6.1% และยอดส่งออกหดตัวถึง 39.7% สำหรับผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 33.9% ขณะที่การส่งออกยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไป ASEAN-5 มีสัดส่วนถึง 13.6% ของยอดส่งออกไป ASEAN-5 ทั้งหมด ล่าสุดหดตัวที่ 12.8% หดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ผู้ประกอบการที่อยู่ใน supply chain ของอุตสาหกรรมนี้จึงควรติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด

สำหรับสินค้านำเข้าของไทยในเดือนกันยายน 2561 เติบโต 9.9% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่เติบโต 22.8% เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ส่งออกไปจีนจะหดตัวลง แต่สินค้าจีนยังไม่ทะลักเข้าไทยอย่างที่กังวล ไม่ว่าจะเป็นเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจัยภายในประเทศของจีนเอง เช่น การลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และการขอสินเชื่อจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าลดลงอย่างมากในปีนี้  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ควรประมาท เพราะในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ อัตรากำแพงภาษีที่สหรัฐฯ ตั้งกับสินค้าจีนจำนวนมากจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 25% ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้สินค้าจีนออกมามากขึ้น

People unity news online : post 28 ตุลาคม 2561 เวลา 08.10 น.

พิษสงครามยูเครน เศรษฐกิจเยอรมนีดำดิ่ง SME กระทบหนักสุด

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเยอรมนีถือเป็นต้นแบบของเสถียรภาพและความแข็งแกร่งมายาวนาน แต่วิกฤตพลังงานที่มีชนวนมาจากสงครามยูเครนพ่วงด้วยภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ได้ผลักให้แดนอินทรีเหล็กดำดิ่งในวิกฤตและสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในอนาคตได้

มาร์เซล แฟรตส์เชอร์ ประธานสถาบัน German Institute for Economic Research เปิดเผยกับวีโอเอว่า “สงครามยูเครนและวิกฤตพลังงานกระทบกระเทือนเยอรมนีอย่างหนัก เพราะเยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ เมื่อราคาปรับพุ่งสูงขึ้น ได้ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมนี โดยเมื่อปี 2020 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจ้างงานชาวเยอรมันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ธุรกิจกลุ่มนี้กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตล่าสุด

ยาน ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ เจ้าของธุรกิจเบเกอรีซึ่งมีพนักงาน 20 คน เลอ โบร็ต ในเมืองนอยเคิร์น ชานกรุงเบอร์ลิน บอกกับวีโอเอว่า “ความท้าทายสำคัญที่เราเผชิญในตอนนี้คือความไม่แน่นอนของราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่พุ่งสูง และภาวะไฟฟ้าดับที่อาจเกิดขึ้นในฤดูหนาวปีนี้ ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น 30% ไปแล้ว เราคาดว่าราคาพลังงานจะไปต่ออีก 100% แน่นอน แต่นั่นขึ้นกับฤดูหนาวที่จะมาถึงประกอบกับทิศทางการเมืองในช่วงนั้นด้วย”

ผู้บริโภคเองต่างได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าไป

เจ้าของธุรกิจเบเกอรี เลอ โบร็ต เสริมว่า “เราพยายามลดต้นทุนและเปิดรับลูกค้าทั้งหมดแล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อเราปรับราคา ลูกค้าก็หดหายไป”

ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้บริโภคหลายอย่าง แต่ผลพวงการสงครามยูเครนที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน กดดันให้เยอรมนีเผชิญกับความท้าทายใหญ่ที่จะมาถึง

แฟรตส์เชอร์ เพิ่มเติมว่า “ความท้าทายที่ใหญ่กว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีหน้าเท่านั้น แต่จะยิงยาวไปราว 5-10 ปี เนื่องจากเยอรมนีกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในหลายมิติ บริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนีต้องเตรียมรับกับการเสียเปรียบทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ ที่ไม่เผชิญกับการปรับขึ้นของราคาพลังงานมากเท่ากับบริษัทเยอรมนี”

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่า ครัวเรือนเยอรมันที่มีรายได้ 39,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,486,000 บาทต่อปี จะเจอกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นราว 4,800 ดอลลาร์ หรือราว 183,000 บาทต่อปีทีเดียว นั่นหมายความว่า ต้นทุนพลังงานจะส่งผลกระทบครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลางอย่างมาก

ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ทุกธุรกิจเจอกับความท้าทายกันทั้งนั้น แต่หากไม่เดินหน้าต่อก็เท่ากับว่าต้องปิดกิจการหรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นแทน แต่หากทำเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับเหล่าพนักงานที่ถูกลอยแพ เพราะธุรกิจเบเกอรีของเราจ้างงานถึง 20 ชีวิต และนั่นหมายถึงรายได้หาเลี้ยงครอบครัวของพวกเขา สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป”

ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังผ่านพ้นไปและฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามาเยือน เยอรมนียังต้องเตรียมรับมือกับอนาคตที่ไม่มีแน่นอนมากกว่าที่เป็นมาในรอบหลายปีต่อไป (ที่มา: วีโอเอ)

Advertisement

‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีกในการประชุมครั้งหน้า

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ที่ระดับ 1.5-1.75% ในวันพุธ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ต้องประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงข่าวหลังการประชุมด้านนโยบายเป็นเวลาสองวันว่า เป้าหมายในการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อดึงระดับเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งต่อไป แต่สิ่งที่ชัดเจนขึ้นตอนนี้ ก็คือ หลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นมา

แม้ว่าเฟดจะฉีดยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ในวันพุธ เฟด คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ

นอกจากนี้ เฟด ยังปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 1.7% ในปีนี้ พร้อมคาดว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ 3.7% ภายในสิ้นปีนี้ และจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 4.1% ในอีก 2 ปีข้างหน้า

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งหน้า แต่ไม่คาดหมายว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้จะกลายเป็นความปกติ

Advertisement

ลาวตั้งเป้าช่วย ‘สองแสนครอบครัว’ หลุดพ้นจากความยากจน

People Unity News : 26 มีนาคม 65 รัฐบาลลาวตั้งเป้านำพาครอบครัวชาวลาวหลุดพ้นจากความยากจนเพิ่มอีก 204,360 ครอบครัว ในช่วงปี 2021-2025

หากทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย  ลาวจะมีครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด 1,168,509 ครอบครัว และมี 71,193 ครอบครัวที่ยังคงถูกจัดว่าเป็นผู้ยากจน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.74 ของทั้งหมด

ลาวรายงานเป้าหมายดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีว่าด้วยการประเมินการพัฒนาชนบทและการบรรเทาความยากจนในปี 2021 เพื่อร่างแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2022

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นเวลาสองวันตั้งแต่วันพุธถึงพฤหัสบดี (23-24 มี.ค.) ในนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว โดยมี คำม่วน คำพูแก้ว รักษาการอธิบดีสำนักงานพัฒนาชนบทและสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ เป็นประธานการประชุม และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานฯ ระดับแขวงหลายแห่งเข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างพูดถึงความสำเร็จของตนในปีที่ผ่านมา และหารือถึงความท้าทายที่พวกเขาประสบและวิธีจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น

ในอดีต หมู่บ้านที่ยังไม่พัฒนาและหมู่บ้านในพื้นที่ชายแดนถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของลาว

คำม่วนกล่าวว่า ลาววางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งฝึกอบรมด้านการเกษตรและปศุสัตว์แก่คนท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาปรับปรุงวิถีชีวิตให้ดีขึ้นได้

การประชุมยังหารือเรื่องแผนช่วยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวยากจน 204,360 ครอบครัว  ช่วงปี 2022-2025  โดยในช่วงปี 2016-2020 มี 85,655 ครอบครัวในลาวหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.64 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 148,592 ครอบครัว

ประชากรลาวมากกว่าหนึ่งในสามอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีอัตราความยากจนสูง เนื่องจากอาศัยอยู่ห่างไกลและมีการเข้าถึงที่จำกัด โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภูเขา

รายงานระบุว่า การเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ตลาด โรงพยาบาล โรงเรียน และน้ำสะอาด ทำให้ประชาชนลาวเสี่ยงประสบความยากจนมากยิ่งขึ้น

Advertising

โลกจับตา “ผู้นำสหรัฐฯ – จีน” พบกันครั้งแรก 6-7 เม.ย.นี้

People unity news online : 6 เมษายน 2560 เว็บไซต์ voathai.com รายงานบทวิเคราะห์โลก ว่า นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนอาจใช้ความสำคัญทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่า จีนอาจช่วยให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้ตามคำขวัญของทรัมป์ ในระหว่างที่ประธานาธิบดี สี จิน ผิง ของจีน และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะพบกันเป็นครั้งแรกสัปดาห์นี้ ที่สถานตากอากาศของครอบครัวทรัมป์ Mara-a-Logoในรัฐฟลอริด้า

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯออกคำสั่งฝ่ายบริหารสองฉบับ เรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องการขาดดุลการค้า และให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ประเทศที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันเห็นว่าค้าขายอย่างไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ

แม้จะไม่มีการกล่าวถึงจีนอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นที่ทราบดีว่าประธานาธิบดีทรัมป์ตำหนิจีนเรื่องการค้าและค่าเงินหลายครั้งก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเยือนสหรัฐฯของประธานาธิบดีจีน อาจช่วยลดทอนความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักระหว่างสองประเทศ แม้ว่าคงจะไม่สามารถสลายความซับซ้อนในหลายเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเป็นมิตรกัน

นักวิเคราะห์การเมืองเอเชีย Ross Feingold กล่าวว่า “เห็นชัดเจนว่าประธานาธิบดีสี จิน ผิง ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกันได้กับประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อที่จะได้พูดคุยกันในเรื่องต่างๆระดับทวิภาคี ซึ่งจะได้ประโยชน์มากหากทั้งคู่มีความเป็นมิตรต่อกัน”

ขณะนี้จีนกำลังติดตามท่าทีของอเมริกาอย่างใกล้ชิด และดูว่าจะสามารถชี้ให้สหรัฐฯเห็นถึงประโยชน์ร่วมกัน เพราะจีนก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งตามคำขวัญ “Make America Great Again” ของผู้นำสหรัฐฯ

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศจีน เชง จีกวง กล่าวว่า “จีนมีแนวทางกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และนั่นหมายถึงการซื้อสินค้าจากอเมริกาด้วย”

นอกจากนั้น เขากล่าวว่าการลงทุนของชาวจีนในอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนน่าจะใช้การพบกันสัปดาห์นี้ของผู้นำสองประเทศเป็นโอกาสออกแถลงการณ์ที่ดูดี เพื่อช่วยปรับบรรยากาศให้เป็นไปในทางบวกสำหรับการทำงานร่วมกันต่อไปจากนี้

อุปสรรคประการหนึ่งคือเรื่องเกาหลีเหนือ ซึ่งทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ นิคกี้ เฮลลี่ เคยกล่าวว่าสหรัฐฯต้องการเห็นจีนแข็งขันกับการช่วยนานาชาติกดดันเกาหลีเหนือ

เธอกล่าวว่า “ที่ผ่านมามากกว่า 25 ปี สหรัฐฯได้ยินจีนพูดมาตลอดว่ากังวลกับเกาหลีเหนือ แต่การกระทำของจีนไม่เหมือนกับว่าจีนห่วงในเรื่องนี้ อเมริกาจึงอยากเห็นจีนลงมือทำอย่างจริงจังตามที่ได้แสดงความกังวลไว้” (รายงานโดย Bill Ide / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ voathai.com ก็ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “จับตาประเด็นสำคัญและความขัดแย้ง “สหรัฐฯ – จีน” ก่อนหน้า “สี จิน ผิง” เยือนสหรัฐฯ” ว่า สื่อหลายสำนักในสหรัฐฯรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีกำหนดต้อนรับประธานาธิบดีจีน สี จิน ผิง ในเดือนหน้า ที่บ้านพักตากอากาศของทรัมป์ที่รัฐฟลอริด้า เป็นเวลาสองวันคือวันที่ 6 – 7 เมษายน ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของผู้นำทั้งสองคนนี้

โฆษกทำเนียบขาว ฌอน สไปเซอร์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จะหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์และการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน

ที่ผ่านมา สหรัฐฯมักออกมาเรียกร้องให้จีนช่วยควบคุมท่าทีก้าวร้าวของเกาหลีเหนือ โดยชี้ว่ารัฐบาลปักกิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของระบอบผู้นำ คิม จอง อึน

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ต่อต้านการที่จีนสร้างสิ่งก่อสร้างบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ และได้ส่งเรือลาดตระเวนไปใกล้เกาะแห่งนั้นเป็นประจำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพของการเดินเรือในบริเวณดังกล่าว

ทางด้านจีนเองก็ได้แสดงอาการไม่พอใจ เมื่อคราวที่ ปธน.ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งใหม่ๆ และได้รับโทรศัพท์แสดงความยินดีจากประธานาธิบดีไต้หวันโดยตรง ซึ่งถือว่าขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมายาวนานระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

รวมทั้งการที่ ปธน.ทรัมป์ ตั้งคำถามถึงนโยบายจีนเดียว ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อาจไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างของปักกิ่งที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ต่อมา ปธน.ทรัมป์ ได้ต่อโทรศัพท์ถึง ปธน.สี จิน ผิง เพื่อให้คำรับรองว่า การยอมรับของสหรัฐฯต่อนโยบายจีนเดียวนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นการปูทางสู่การพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศนี้

สำหรับในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาจีนไว้หลายครั้งระหว่างการหาเสียงว่า จีนคือผู้แทรกแซงค่าเงินหยวนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ส่งออกชาวจีน และยังวิจารณ์ไปถึงการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯที่มีต่อจีนด้วย

โดยเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯขาดดุลการค้าต่อจีนเป็นมูลค่าถึง 347,000 ล้านดอลลาร์

ปธน.ทรัมป์ รับปากไว้ว่าจะแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าต่อจีน รวมทั้งจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆของสหรัฐฯ ย้ายกลับมาตั้งโรงงานในอเมริกา แต่นักวิเคราะห์หลายคนยังไม่แน่ใจว่า ปธน.ทรัมป์ จะสามารถทำได้เหมือนที่กล่าวไว้

มาตรการหนึ่งที่ทรัมป์บอกว่าจะนำมาใช้ คือการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกันที่มีโรงงานในประเทศจีน แต่มาตรการที่ว่านี้จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐฯเสียก่อน ซึ่งคงไม่ใช่ในเร็ววันนี้แน่นอน

ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า ในความเป็นจริง คนอเมริกันจำนวนมากยังต้องการซื้อสินค้าราคาถูกที่ผลิตจากจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะทำให้ประชาชนเหล่านี้ยอมรับการซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น แม้ว่าสินค้านั้นจะผลิตในอเมริกาก็ตาม

ขณะเดียวกัน คำกล่าวของ ปธน.ทรัมป์ ยังก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดสงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสองประเทศนี้ได้ในอนาคต (Ken Bredemeier รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

People unity news online : post 6 เมษายน 2560 เวลา 19.33 น.

Verified by ExactMetrics