วันที่ 2 มกราคม 2025

เปิดจอง -จำหน่ายเข็มที่ระลึกพระพันปีหลวง 90 พรรษา

People Unity News : 24 มิ.ย. 65 สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เปิดรับการสั่งจองและจำหน่ายเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระพันปีหลวง 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2565 รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พร้อมตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เพื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯในครั้งนี้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาชนและประเทศไทย ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งนี้ รัฐบาลเห็นชอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 จำนวน 10,000 ชุด เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปสำหรับใช้ประดับในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และในโอกาสสำคัญตามวาระอันสมควร โดยจำหน่ายราคาเข็มละ 199 บาท

ทั้งนี้ เข็มที่ระลึกจัดทำด้วยวัสดุทองเหลือง แข็งแรงทนทาน ขึ้นรูปแบบตามตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ขนาดความสูงประมาณ 4 x 2.7 เซนติเมตร ชุบทองด้านหน้าและหลัง พื้นด้านหน้าและหลังเป็นลายรัศมี ขอบสีทอง อักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ลงยา ตัวอักษร “ส” สีฟ้า ตัวอักษร “ก” สีขาว กรอบรูปหัวใจ ขอบสีทอง ลงยาสีแดง พื้นลงยาสีน้ำเงิน ด้านบนเป็นพระมหามงกุฎภายในประดิษฐานพระแสงจักรและพระแสงตรี ขนาบซ้าย ขวา พระมหามงกุฎด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ฉัตรขาว 7 ชั้น รูปลายหงส์ประคองฉัตร ซ้าย ขวา เลขไทย “๙๐” ลงยาสีฟ้า ภายใต้มาลัยหัวใจ ผ้าแพรแถบสีฟ้าอักษรบอกชื่องาน “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕” ด้านหลัง จารึกตัวอักษร “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕” เข็มกลัดด้านหลังพร้อมหัวล็อคใช้วัสดุทองเหลืองชุบทอง กล่องบรรจุจัดทำด้วยกระดาษอาร์ตอัดลายความหนา 120 แกรม เคลือบสีฟ้า หุ้มพลาสติกขึ้นรูปทรงกล่อง ขนาดความสูงประมาณ 6.3 x 6.7 x 2.8 เซนติเมตร ฝากล่องด้านบนประดับด้วยตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พิมพ์ด้วยสีทอง ด้านข้างในกล่องเป็นสีขาวงาช้าง

สำหรับผู้สนใจสามารถสั่งจองผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (thailandpostmart.com) ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หรือซื้อด้วยตนเอง ณ กองคลัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2283 4305, 0 2283 4310, 0 2283 4312 และ 0 2283 4318

Advertisement

รัฐบาลเผยรายละเอียดการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 90 พรรษา

People Unity News : วันที่ 14 มิถุนายน 2565 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการฝ่ายพิธีการการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ  เครืองาม) เป็นประธานกรรมการ ได้มีการประชุมเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ตามที่รัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯแล้ว สรุปการจัดงาน ดังนี้

1.กำหนดชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า “การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” และชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Celebrations on the Auspicious Occasion of Her Majesty Queen Sirikit The Queen Mother’s 90th Birthday Anniversary 12th August 2022”  โดยกำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

2.มีตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งกรมศิลปากรดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์ พร้อมความหมาย โดยผู้ประสงค์ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ฯ จะต้องเป็นนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือ บริษัท ห้าง ร้าน ซึ่งการนำตราสัญลักษณ์ฯ เพื่อประดับหรือประดิษฐานบนสิ่งของใดๆ จะพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องรูปแบบ วัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ และจะต้องมีแผนดำเนินงานในระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยสามารถยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 และส่งคำขออนุญาตไปยังคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2283 4789 – 91 หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.opm.go.th

3.การจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ

การเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ ในระยะเวลาขอบเขตการจัดงาน ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานเสนอโครงการและกิจกรรมเข้าร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วกว่า 1,000 โครงการ/กิจกรรม โดยมีโครงการและกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

3.1 รัฐบาลจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “ด้วยรักแห่งแผ่นดิน : With Love  for the Nation” กำหนดระหว่างวันที่ 1 – 15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 จัดกิจกรรม ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดยการจัดนิทรรศการในรูปแบบ Live Exhibition ซึ่งมีแนวความคิดการจัดนิทรรศการเชื่อมโยงกับโครงการป่ารักน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โซนที่ 2 จัดกิจกรรมการสาธิตและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และผลผลิตจากการน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และการจำหน่ายสินค้า รวมถึงสาธิตการทำขนม หรืองานประดิษฐ์ต่างๆ ณ ซอยดำเนินกลางใต้ (ฝั่งวัดราชนัดดาราม) โซนที่ 3 จัดกิจกรรม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยการนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทยที่น้อมนำพระราชดำริเพื่อมาปรับใช้ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคต่างๆ โซนที่ 4 จัดกิจกรรม ณ บริเวณป้อมมหากาฬ โดยจัดการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน (Free Space) ได้แสดงความสามารถและผลงานที่มีความสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในด้านต่างๆ และโซนที่ 5 จัดกิจกรรม ณ บริเวณป้อมมหากาฬและตลอดแนวคลองโอ่งอ่าง โดยจัดการออกร้านเลิศลิ้มชิมรส ซึ่งเป็นการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากร้านที่มีชื่อเสียงจากทุกเขตของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะสถานที่สำคัญ และร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ภายในวัดเทพธิดารามและวัดราชนัดดาราม

3.2 โครงการมหกรรมผ้าไหมไทย ไหมไทยสู่เส้นทางโลก เฉลิมพระเกียรติฯ กำหนดในวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีการจัดนิทรรศการผ้าไหมไทย การแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมไทย ซึ่งผู้เดินแบบเป็นผู้แทนจากรัฐบาลไทย คณะทูตานุทูตและคณะกงสุลจากประเทศต่างๆ รวม 100 ประเทศ

3.3 โครงการหนังสือสมาร์ท – สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหมและผู้ประกอบการทั่วประเทศแบบดิจิตอลเฉลิมพระเกียรติฯ โดยนำรายชื่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าไหมเข้าสู่ระบบดิจิตอล เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลในรูปแบบ Social Media สื่อสิ่งพิมพ์ และ E-Book ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดทำสมุดรายนามฉบับพิเศษเพื่อทูลเกล้าฯถวาย และเป็นของที่ระลึกแด่ผู้นำพร้อมคู่สมรส และผู้แทนจากต่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิค (APEC) ปี 2565

4.การจัดทำสารสารคดีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติฯ ในนามคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อเผยแพร่ ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา

5.การจัดพิธีทางศาสนา

5.1 โครงการบรรพชาอุปสมบท 910 รูป เฉลิมพระเกียรติฯ กำหนดดำเนินการโครงการฯ ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ส่วนกลางกำหนดจัดพิธี ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร จำนวน 91 คน และส่วนภูมิภาคกำหนดจัดพิธี ณ วัดในจังหวัดต่าง ๆ ที่กำหนด จำนวน 819 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

5.2 พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 91 รูป จากโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ ถวายพระราชกุศล ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง เวลา 07.30 น. ส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

5.3 พิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศล ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เวลา 09.09 น. ส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง พระสงฆ์ จำนวน 91 รูป ซึ่งเป็นพระสงฆ์จากโครงการพรรพชาอุปสมบทฯ และส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม

6.พิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. และเวลา 19.19 น. ตามลำดับ ส่วนกลางจัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง ส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

7.กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล เพื่อถวายพระราชกุศลในระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสามารถจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาได้ตามความเหมาะสม

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดปี 2565 โดยร่วมจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายพระราชกุศลให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ ในโอกาสดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมขอให้ดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตกแต่งสถานที่ประดับพระฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติคู่กับธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 พร้อมประดับผ้าระบายสีฟ้าร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน จัดทำคำถวายพระพรชัยมงคลเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของหน่วยงาน และจัดการลงนามถวายพระพรชัยมงคลภายในหน่วยงานหรือทางเว็บไซต์ โดยดำเนินการตลอดเดือนสิงหาคม 2565

Advertisement

ครม.ประกาศให้วันที่ 12 ส.ค. ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ” น้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณพระพันปีหลวง

People Unity News : 30 พฤษภาคม 2565 ครม. ประกาศให้วันที่ 12 ส.ค. ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ”

ที่ประชุม ครม. (30 พ.ค. 65) เห็นชอบประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ เพื่อรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย ให้เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

วันผ้าไทยแห่งชาติ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า National Thai Textile Day โดยได้นิยาม “ผ้าไทย” คือ ผ้าที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมรดกภูมิปัญญาของไทยที่ได้รับการสืบทอดต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่ผลิตขึ้นภายในประเทศโดยฝีมือคนไทย โดยใช้เทคนิค เช่น การทอ จก ยก ขิด ล้วง ปัก มัดหมี่ มัดย้อม บาติก พิมพ์ โดยใช้เส้นใยธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ไหม ฝ้าย ใยกัญชง ใยสับปะรด ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เป็นต้น

Advertisement

กระทรวงเกษตรฯประชุมวางกรอบการดำเนินงานโครงการพระราชดำริของ 9 พระองค์

People Unity News : 23 เมษายน 65 นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมได้รับทราบแนวทาง/กรอบเวลาการจัดทำฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบ ให้มีความครอบคลุมทั้งในมิติพระราชดำริ (ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์) ครอบคลุมพระราชดำริของ 9 พระองค์ คือ

1) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

2) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

3) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

4) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

5) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

6) สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี

7) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

8) ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

และ 9) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

มิติโครงการ ครอบคลุม 4 ลักษณะโครงการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กำหนด ประกอบด้วย 1) โครงการตามพระราชประสงค์ 2) โครงการหลวง 3) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ และ 4) โครงการตามพระราชดำริ หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมิติงบประมาณ ครอบคลุมโครงการที่ดำเนินการโดยใช้งบประมาณจากแหล่งงบประมาณต่างๆ ได้แก่ 1) งบประมาณปกติหรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของหน่วยงาน/ส่วนราชการ 2) งบประมาณของสำนักงาน กปร. และ 3) งบประมาณสนับสนุนจากแหล่งงบประมาณอื่น โดยแบ่งกรอบระยะเวลาการดำเนินการ ออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก (ระยะเร่งด่วน) ให้ดำเนินการจัดทำรูปแบบที่กำหนด (Platform) ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และรายงานผลโครงการในระบบได้ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ระยะกลาง ให้ดำเนินการจัดทำรูปแบบที่กำหนด (Platform) ให้แล้วเสร็จ และรายงานผลโครงการ ในระบบได้ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วันที่ 30 กันยายน 2566) และระยะยาว ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกมิติ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (วันที่ 30 กันยายน 2567)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบรูปแบบการจัดทำระบบฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานทบทวน/ปรับปรุงฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้มิติโครงการ ๔ ลักษณะโครงการ ตามที่สำนักงาน กปร. กำหนด ประกอบด้วย 1) โครงการตามพระราชประสงค์ 2) โครงการหลวง 3) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ และ 4) โครงการตามพระราชดำริ หรือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันและสามารถนำฐานข้อมูลที่พัฒนามาบริหารจัดการโครงการพระราชดำริของกระทรวง ลดความซ้ำซ้อน และสามารถบูรณาการและติดตามผลการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

รัฐบาลเตรียมงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

People Unity News : วันนี้ 18 เม.ย. 65 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (Centenary Celebration of Her Royal Highness Princess Galyani Vadhana, 2023) ครั้งที่ 1/2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล

โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นงานที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจัดงาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหากรุณาให้การจัดงานอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

เพื่อให้งานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ และบรรลุวัตถุประสงค์ของการน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกกลุ่ม และผลงานพระกรณียกิจต่างๆ ยังเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล ดังที่องค์การยูเนสโกได้มีมติร่วมเฉลิมฉลองในวาระบุคคลสำคัญที่มีผลงานดีเด่น

ขณะนี้ แผนกิจกรรมเฉลิมฉลองของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีจำนวนกิจกรรมเฉลิมฉลองทั้งสิ้น 110 โครงการ แบ่งเป็น

☑️โครงการด้านการส่งเสริมการศึกษา 24 โครงการ คือ โครงการในประเทศ 21 โครงการ ในต่างประเทศ 3 โครงการ (สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสมาพันธรัฐสวิส)

☑️โครงการด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและคณิตศาสตร์ จำนวน 21 โครงการ

☑️โครงการด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างวัฒนธรรม จำนวน 22 โครงการ คือแบ่งเป็นโครงการในประเทศ 19 โครงการ และโครงการในต่างประเทศ 3 โครงการ

☑️โครงการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 19 โครงการ

☑️โครงการประชาสัมพันธ์พระกรณียกิจและงานเฉลิมฉลอง จำนวน 23 โครงการ คือ โครงการในประเทศ 20 โครงการ และโครงการในต่างประเทศ 3 โครงการ

☑️พิธีบำเพ็ญพระกุศลถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

Advertisement

ครม.รับทราบผลดำเนินงานโครงการจิตอาสาฯ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.64 มีจิตอาสาฯกว่า 6.8 ล้านคน

People Unity News : ครม.รับทราบผลดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน

15 มี.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 มี.ค. 2565 ได้รับทราบการการรายงานผลดำเนินงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ระหว่างเดือน ต.ค. – ธ.ค. 2564  โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2564 มีประชาชนลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทานแล้ว 6,896,296 คน จำแนกเป็นกรุงเทพมหานคร 455,861 คน และส่วนภูมิภาค 6,440,408 คน

ทั้งนี้  มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาของส่วนราชการต่างๆ 17 หน่วยงาน ที่มีผู้เข้าร่วม 963,925 คน รวมกิจกรรมจิตอาสา 10,163 ครั้ง ประกอบด้วย 1) จิตอาสาพัฒนา เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ทำงานและบริเวณโดยรอบ การอำนวยความสะดวกให้ประชาชน การบริจาคโลหิต หรือสิ่งของ การปลูกต้นไม้ พัฒนาแหล่งน้ำ การบริจาควัคซีนแก่ประชาชน รวม 9,217 ครั้ง 2) จิตอาสาภัยพิบัติ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ การอบรมภัยพิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 885 ครั้ง 3) จิตอาสาเฉพาะกิจ เช่น การจัดเตรียมสถานที่และร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ การบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล รวม 43 ครั้ง และ 4) วิทยากรจิตอาสา เช่น การบรรยายความรู้ในเรื่องการขับเคลื่อนงานจิตอาสาภาคประชาชน การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองและโครงการจิตอาสาพระราชทานตามพระราชดำริ  รวม 18 ครั้ง

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้บูรณาการงานจิตอาสาภาครัฐและติดตามโครงการจิตอาสาพระราชทานโดยต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการหลายโครงการ เช่น โครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์”  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร การดำเนินการคลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว การพัฒนาคูคลองในพื้นที่เขตหลักสี่ การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน และศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก

นอกจากนี้ สปน. ได้รายงานว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาเพื่อให้เกิดความรู้รัก สามัคคี เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชน สังคมและประเทศชาติโดยรวมอย่างต่อเนื่อง

Advertising

การบินไทย นำผลิตภัณฑ์โครงการพัฒนาดอยตุง เปิดตัว Black Silk Blend บริการบนเที่ยวบิน

People Unity News : การบินไทย สนับสนุนโครงการพระราชดำริ นำผลิตภัณฑ์โครงการพัฒนาดอยตุง บริการบนเที่ยวบิน

15 มี.ค.2565 นายกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทย ร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการนำผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม จากแหล่งผลิตแบบยั่งยืน (Sustainable Production) ของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มาให้บริการผู้โดยสารของการบินไทย พร้อมเปิดตัว Black Silk Blend กาแฟดริปแบบพรีเมียม ที่นำมาให้บริการผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจบนเที่ยวบินของการบินไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้โดยสาร ในเส้นทางบินสู่ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งมีความพิเศษกลิ่นหอมละมุนเมื่อดื่มที่ระดับความสูงกว่า 30,000 ฟุต จะทำให้สัมผัสได้ถึงความเข้มข้นที่นุ่มนวล

อย่างไรก็ตาม โครงการความร่วมมือระหว่างบริษัท การบินไทย สายการบินแห่งชาติที่มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนแบรนด์ประเทศไทยและโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากเพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟบนยอดเขาสูง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างงานและคุณภาพชีวิตชุมชนแบบยั่งยืน ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำเมล็ดกาแฟที่ปลูกโดยเกษตรกรท้องถิ่น นอกจาก Black Silk Blend แล้ว ยังมีเมนูกาแฟพิเศษอื่นๆ หมุนเวียนบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการนำเมนูกาแฟแบบคาเฟ่ที่หลากหลาย มาให้บริการบนเที่ยวบินของการบินไทยจากทีมลูกเรือที่ได้รับการอบรมมาโดยเฉพาะ เสมือนมี Barista On-board

Advertising

รัฐบาลเตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา

People Unity News : รัฐบาลเตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

7 มี.ค.2565 วันนี้ (7 มี.ค. 65) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนหน่วยงานในพระองค์ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเนื่องด้วยวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระชนมพรรษา 90 พรรษา นับเป็นมหามงคลพิเศษอย่างยิ่ง รัฐบาลเห็นควรให้มีการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติทุกประการ และขอให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการต่างๆ และพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและความผาสุขของประชาชนชาวไทยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ และเพื่อให้เยาวชนและประชาชนไทยทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลัง ได้ศึกษาหาความรู้จากโครงการต่างๆเหล่านี้ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แสดงออกถึงความจงรักภักดี ทั้งนี้ ให้ช่วยกันจัดทำกิจกรรมและโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ สอดคล้องกับโครงการต่างๆของพระองค์ เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด ขยายผลให้เจริญเติบโต เกิดผลเป็นรูปธรรม และเห็นสมควรให้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะถวายเป็นพระราชกุศลและถวายพระชัยมงคล

อนึ่ง ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ครบ 6 รอบ และในวันที่ 5 ธันวาคม 2570 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะมีพระชนมพรรษา 100 พรรษา หรือ 100 ปีชาตกาล ซึ่งเป็นมหามงคลอีกวาระหนึ่ง รัฐบาลจะได้เตรียมการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ จึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยเป็นโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม/โครงการขอให้ดำเนินการตามแบบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีที่ได้ดำเนินการเช่นที่ผ่านมา

ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ เช่น

  1. การกำหนดชื่อการจัดงาน กำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการกำหนดชื่องานว่า “การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” โดยการกำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
  2. การแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ จำนวน 3 คณะ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานและเพื่อให้การดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ โดยคณะกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย

(1) คณะกรรมการฝ่ายพิธีการการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ จัดงานรัฐพิธี ศาสนพิธี งานพิธีการในนามรัฐบาล ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

(2) คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจรการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ จัดทำแผนการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

(3) คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ วางแผนการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง การนำเสนอภาพของการจัดกิจกรรม และการถ่ายทอดสดในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ให้ข้อเสนอแนะควรให้มีการแต่งตั้งผู้ที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยด้านสารธาณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย เพื่อให้การจัดงานและกิจกรรมต่างๆ มีความปลอดภัยและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมย้ำการจัดงานให้ดำเนินการภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเป็นไปอย่างเหมาะสมโดยให้นำการจัดกิจกรรมและโครงการเสนอที่ประชุม ศบค. พิจารณาด้วย

Advertising

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชน พระราชทานอาหารและเครื่องดื่ม

People Unity News : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชน พระราชทานอาหารและเครื่องดื่ม ประชาชนต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

5 ธ.ค.64 บรรยากาศบริเวณโรงครัวพระราชทาน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ใกล้กับแยกนางเลิ้ง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่แจกจ่ายอาหารให้กับประชาชนที่เดินทางเข้ามาร่วมงานพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ให้ได้รับประทานอาหารตลอดทั้งวัน ซึ่งเดิมกำหนดการเปิดโรงครัวพระราชทานจะให้บริการในเวลา 11.00 น. แต่เนื่องจากมีประชาชนที่เดินทางเข้ามาร่วมงานตั้งแต่ช่วงเช้า โรงครัวพระราชทานจึงให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 น. ซึ่งอาหารที่ทำมาแจกจ่ายนั้นมีทั้งจากสนามครัวกองทัพบกและร้านอาหารจากสมาคมภัตตาคารอาหารไทย ที่นำอาหารคาวหวาน เช่น ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ส้มตำ ข้าวไก่ตุ่น รวมถึงน้ำดื่มและกาแฟ มาแจกจ่ายให้กับประชาชนตลอดทั้งวัน รวมถึงหลังเลิกงานก็จะมีการแจกจ่ายอาหารให้ประชาชนสามารถนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ด้วย

ขณะที่ ประชาชนที่เข้ามารับประทานอาหารในโรงครัวพระราชทาน ต่างก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยประชาชนมอบอาหารและน้ำดื่มได้รับประทานอาหารตลอดทั้งวันและรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เดินทางเข้ามาร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ดีวันนี้

นอกจากนี้ ที่บริเวณโรงครัวพระราชทาน ยังมีการแสดงดนตรีจากดุริยางค์ตำรวจและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานเฉลิมพระเกียรติโดยผู้พันเบิร์ดและจิตอาสา พร้อมยังมีหน้าจอขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในบริเวณนี้ เพื่อถ่ายทอดบรรยากาศภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติให้ประชาชนรับชมระหว่างการรับประทานอาหาร หรือระหว่างนั่งคอยด้วย

Advertising

“บิ๊กตู่” ขอบคุณทุกภาคส่วนขับเคลื่อน “โคก หนอง นา โมเดล” ตามทฤษฎีใหม่ ร.9 – พระราโชบาย ร.10

People Unity News : “ประยุทธ์” ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อน “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ดำเนินการแล้ว 73 จังหวัด 566 อำเภอ 22,773 หมู่บ้าน

วันนี้ (10 พ.ย.64) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ที่ได้ประยุกต์การใช้ศาสตร์พระราชา ตามหลักทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด จากทฤษฎีใหม่สู่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ภายใต้การออกแบบพื้นที่เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เน้นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เพื่อให้เกิดสมดุลของระบบนิเวศ ตลอดจนการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ เป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ขณะเดียวกัน ช่วยรองรับกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน วงเงินกว่า 4,780 ล้านบาท  ปัจจุบันได้มีการดำเนินการแล้วใน 73 จังหวัด 566 อำเภอ 22,773 หมู่บ้าน โดยได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.20

นายธนกร กล่าวว่า โครงการ โคก หนอง นา โมเดล ครอบคลุม 7 กิจกรรม ได้แก่ 1) การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรม 2) ปรับปรุงพื้นที่ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ 3) การสร้างงานสร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน 4) การกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน 5) การบูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล 6) การพัฒนาสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูป และการตลาด ตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย และ 7) การพัฒนาระบบดิจิทัลรองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรมและระบบฐานข้อมูลที่สามารถใช้ต่อยอดในประโยชน์ด้านต่างๆในอนาคต นายกรัฐมนตรีติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งได้กำชับให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง  พร้อมชื่นชมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ที่ได้ให้ความร่วมมือกันดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี ร่วมกัน พลิกโฉมประเทศไทยทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน ประชาชนมีความรู้ มีกิน มีใช้ แม้ในห้วงสถานการณ์วิกฤตนี้

Advertising

Verified by ExactMetrics