People unity news online : เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (1 เมษายน 2560) เป็นวันแรกที่โครงการเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน มีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องจ่ายเงินใน 72 ชม.แรก หลังจากที่ ครม.ได้อนุมัติหลักการเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปแล้ว และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศ 3 ฉบับให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม
“ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างมาก เพราะเป็นสิทธิพึงมีพึงได้ขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับจากรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเน้นย้ำให้โรงพยาบาลทุกแห่งศึกษาข้อมูลตามประกาศที่ สธ.กำหนด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งระบุด้วยว่า รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจริง ก็จะต้องดูแลช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่”
สำหรับกลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ใช้สิทธิยูเซปได้มี 6 กลุ่ม คือ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด 6.มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยหากติดต่อรับส่งผู้ป่วยผ่าน 1669 จะช่วยให้เกิดการคัดกรองที่ถูกต้องแต่แรก
ทั้งนี้ เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วจะต้องดูแลรักษา เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชม. แต่ให้เรียกเก็บจากกรมธรรม์ประกันภัย หรือกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ตามบัญชีและค่าอัตราค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐกำหนด เช่น ค่าห้องผ่าตัดใหญ่ ชม.ละ 2,400 บาท ค่าอัตราซาวด์ครั้งละ 1,150 บาท ค่า MRI สมองครั้งละ 8,000 บาท ค่าลิ้นหัวใจเทียมอันละ 29,000 บาท ค่าสายยางและปอดเทียมชุดละ 80,000 บาท เป็นต้น
ส่วนการรักษาพยาบาลหลัง 72 ชม.นั้น ให้โรงพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิรับการรักษาอยู่ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบปกติ แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรักษาต่อในโรงพยาบาลแห่งนั้นก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ ประชาชนที่มีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โทร 0 2872 1669 หรือสายด่วน สปสช.1330
People unity news online : post 3 เมษายน 2560 เวลา 11.03 น.