People unity news online : “มือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จับมือ การเคหะแห่งชาติ ปักธงเปิดตลาดประชารัฐใจกลางกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ชุมชนการเคหะขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง คลองจั่น และบ่อนไก่ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง โดยก่อให้เกิดกำลังซื้อ-กำลังขายในชุมชนฐานรากในเมืองกรุง พร้อมเล็งเปิดตลาดขยายไปยังชุมชนการเคหะในต่างจังหวัดอีกด้วย
16 มิถุนายน 2560 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือร่วมกับ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และผู้บริหารการเคหะแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้พื้นที่ของชุมชนการเคหะแห่งชาติ เปิด “ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะ” ขึ้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ชุมชนการเคหะในกรุงเทพฯ 4 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนเคหะห้วยขวาง ดินแดง บ่อนไก่ และคลองจั่น มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยจะพิจารณานำร่องเปิดตลาดประชารัฐฯขึ้นเป็นแห่งแรกในชุมชนใดชุมชนหนึ่งภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณาจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม และจัดระเบียบพื้นที่ แล้วให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาจัดสร้างตลาดในลักษณะอาคารถาวร พร้อมกับนำสินค้ามาจำหน่ายให้แก่พี่น้องประชาชน ทั้งประชาชนในชุมชนการเคหะ และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำให้ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะเป็นตลาดที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากตลาดทั่วไปที่มีอยู่ ทั้งในแง่รูปแบบตลาด และในแง่สินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่าย เพื่อก่อให้เกิดกำลังซื้อและกำลังขายมากที่สุด อันจะทำให้ตลาดประชารัฐฯเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมืองกรุง สร้างรายได้ สร้างการจับจ่ายใช้สอย และนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างกำลังการผลิตให้กับผลผลิตต่างๆ
สำหรับสินค้าที่อยู่ในข่ายจะนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะ ประกอบด้วย ผลผลิตทางการเกษตร พืชผัก ผลไม้ ข้าวสารจากชาวนา หรือผลผลิตอื่นๆ จากเกษตรกรหรือสหกรณ์ทั่วประเทศโดยตรง เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯได้มีตลาดประจำเป็นแหล่งซื้อผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกร และเกษตรกรเองก็จะได้มีสถานที่ประจำเพื่อจำหน่ายผลผลิตของตนในพื้นที่ กทม.โดยตรง นอกจากนี้ จะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าโอทอป หรือสินค้า sme จากทั่วประเทศ เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นได้มีตลาดประจำจำหน่ายให้แก่ประชาชนใน กทม.และนักท่องเที่ยวต่างชาติใน กทม.ได้หาซื้อ อีกทั้งจะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจากโรงงานและผู้ประกอบการ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ร้านอาหารหนูณิชย์ เพื่อช่วยเหลือด้านการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนใน กทม. ขณะที่ชาวชุมชนการเคหะเองก็จะได้มีตลาดถาวรที่มีมาตรฐานเพื่อจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป หรือผลผลิตของชุมชนของตน อันเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวชุมชน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลโดย ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มีนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องใช้กลไกตลาดสร้างกำลังการบริโภค และกำลังการผลิตให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำมาสร้างกลไกตลาดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งการเปิดตลาดแห่งใหม่ และการเข้าไปพัฒนาตลาดเก่าที่มีอยู่แล้ว ให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างกำลังซื้อกำลังขายให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การที่การเคหะแห่งชาติมีแนวคิดที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงถือเป็นการเข้ามาบูรณาการร่วมกันที่มีนัยะสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะการเคหะแห่งชาติมีชุมชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ
“ตามแนวคิดของผมเห็นว่า ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะจะไม่ใช่ตลาดที่จำหน่ายสินค้าหรือผลผลิตราคาถูกอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นตลาดที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตคุณภาพสูงด้วย เพื่อดึงกำลังซื้อจาก 2 ส่วนเข้ามาพร้อมกัน คือกำลังซื้อสินค้าราคาถูก และกำลังซื้อสินค้าคุณภาพสูง ด้านหนึ่งเพื่อช่วยเหลือด้านลดค่าครองชีพประชาชน อีกด้านหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าคุณภาพสูง ทั้งนี้ผมมีแนวคิดว่าจะเปิดตลาดสดคุณภาพสูงขึ้นภายในตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะด้วย โดยจะเป็นตลาดที่จำหน่ายผลผลิตอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ พืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นตลาดที่มีการควบคุมคุณภาพผลผลิตอาหารตลอดเวลา ด้วยการตรวจสอบคุณภาพสินค้าประเภทอาหารสดทุกวัน” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ด้าน ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนฐานราก โดยเป็นหน่วยงานหลักของรัฐในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี นอกจากภารกิจหลักดังกล่าวแล้ว การเคหะแห่งชาติยังมีภารกิจรองในด้านการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนการเคหะในมิติต่างๆอีกด้วย เช่น มิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ
“ผมเห็นว่า มิติทางเศรษฐกิจเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับปากท้อง และเป็นการยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชุมชน เพื่อให้ชุมชนการเคหะทั่วประเทศก้าวไปเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากจะช่วยเหลือในเรื่องปากท้องของชาวชุมชน และยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชุมชน ควรใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือ จึงนำมาสู่การหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในวันนี้” ดร.ธัชพล กล่าว
ด้าน นายพูลเดช กรรณิการ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าการเคหะ และคณะทำงานขับเคลื่อนด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ชุมชนการเคหะในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกแห่ง และในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ มีศักยภาพสูงที่จะสร้างแรงกระตุ้นการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชน เพราะชุมชนแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น อีกทั้งเป็นประชากรฐานรากตัวจริงที่มีการอยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่อย่างถาวร แตกต่างจากประชากรฐานรากในชุมชนแออัด หรือที่อื่นๆ ที่มักจะเป็นการอยู่อาศัยแบบไม่ถาวร มีการเคลื่อนย้ายไปมาอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งชาวชุมชนการเคหะยังมีการประกอบอาชีพประจำ ทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่-ลูกจ้างของรัฐ พนักงานเอกชน และประกอบอาชีพอิสระ จึงเป็นชุมชนที่มีการไหลเวียนของเงินเข้า-ออกภายในชุมชนจำนวนมาก มีกำลังซื้อ มีกำลังการบริโภคอยู่อย่างสูง และมีมากกว่าชุมชนตำบลหมู่บ้านในต่างจังหวัด ดังนั้น ชุมชนการเคหะทั่วประเทศจึงถือเป็นชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญ และจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การเปิดตลาดประชารัฐในชุมชนการเคหะแห่งชาติจึงเป็นการตอบโจทย์ทางด้านการกระตุ้นและการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากที่ตรงเป้ามากที่สุดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่เศรษฐกิจฐานรากในเมืองกรุง
People unity news online : post 16 มิถุนายน 2560 เวลา 23.20 น.