People Unity : “อนุทิน” ย้ำจุดยืน “บัตรทอง” ไม่ต้องร่วมจ่าย พร้อมหนุนขยายสิทธิ์ครอบคลุมรักษา “ทุกโรค”
วันที่ 21 ต.ค.2562 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์รการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ในงานประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การเำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับทิศทางในอนาคต ความตอนหนึ่งว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ไม่อายใครในโลก บางที่จัดให้อยู่อันดับ 6 แต่ตนขอจัดให้อยู่อันดับ 1 เพราะบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างน่าชื่นชม ส่วนใครจะวิพากษ์วิจารณ์ให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่สามารถเอาใจทุกคนได้หมด แต่ถ้าทำเต็มที่แล้ว ก็ขอให้สบายใจ ปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพของไทยมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง เราพยายามขยายสิทธิ์การรักษาโรคให้มากที่สุด วันนี้ โรคที่พบยาก ก็อยู่ในการครอบคลุมแล้ว เรื่องงบประมาณ ถ้าเป็นไปเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น จะไม่เสียดาย
ในอนาคตอันใกล้ หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข จะไม่หยุดแค่การรักษา แต่ต้องสร้างชุดความคิด ให้คนไทยดูแลสุขภาพตัวเอง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารสะอาด ถูกสุขลักษณะ และไม่พาตัวเองไปอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพ วันนี้ เรามีหน่วยงานด้านสุขภาพมากมาย เราให้งบ ขอให้นำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค คนไทยต้องตระหนักรู้ถึงการดูแลตนเอง อาทิ เรื่องการใช้ช้อนกลาง ถ้าทำให้คนไทยทำเป็นเรื่องปกติ จะลดความเจ็บป่วยไปได้มาก
เป็นที่ชัดเจนว่า ประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขคือ ทำให้สังคมผู้สูงอายุของไทยเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เป็นผู้สูงอายุ ที่มีพลังผลักดันประเทศ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ภายใต้กองทุนบัตรทอง คนไทยทุกคนต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดี รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ไม่ต้องร่วมจ่าย บนหลักการคือ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ภายใต้ 5 นโยบายสำคัญ ดังนี้
1. กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของดูแลสุขภาพตนเอง อาทิ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหรือเจ็บป่วย ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งกับประชาชนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
2. จัดระบบการคลังด้านสุขภาพที่ยั่งยืน (Sustainability) มี 2 ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.2 และรายจ่ายรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 16.7แม้ว่าขณะนี้ตัวชี้วัดของประเทศจะยังไม่เกินเป้าหมาย แต่ควรเร่งรัดหามาตรการรองรับ โดยเฉพาะการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืน
3. การจัดบริการให้เพียงพอด้วยการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ การดำเนินนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยผู้ป่วยรับยาร้านยาใกล้บ้านที่ช่วยลดการรอคอย เพิ่มการให้คำปรึกษาโดยเภสัชกรเพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสม เป็นต้น การใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีเพื่อนัดตรวจ การเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง
4. การลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิประโยชน์และคุณภาพการบริการของ 3 กองทุน เปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในประเด็นที่ยังเป็นปัญหา อาทิ การร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่ยังขาดความชัดเจน การกระจายบริการสุขภาพสู่ในพื้นที่ชนบทและเขตเมืองที่เหมาะสม และดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น
5. เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการกองทุนและจัดการทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ กำลังคน พร้อมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ให้กับประชาชน เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเช้าร่วม เป็นจำนวนทาก อาทิ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เป็นต้น