People Unity : “บิ๊กป้อม”เผยครม.ไฟเขียว”ชิม ช้อป ใช้”เฟส 2 เริ่ม 24 ต.ค. ลดค่าธรรมเนียมโอน-จำนองห้องชุดไม่เกิน 3 ล้าน “สมคิด”ชูกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ด้านบิ๊กบอสเครือสหพัฒน์จี้แบงก์ชาติดูเงินบาทอย่าแข็งมากเกิน
วันที่ 22ต.ค.2562 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้อนุมัติมาตรการชิมช็อปใช้ ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 62 ระยะที่ 2 ใน 4 มาตรการ ประกอบด้วย
1.มาตรการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ (ชิมช้อปใช้ เฟส 2) จำนวน 3 ล้านคน โดยรับลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน เริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 24 ต.ค.62 นอกจากนี้ ยังขยายมาตรการออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.62 จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.62
โดยสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนได้รับมี 3 ส่วน
1) รัฐบาลสนับสนุนวเงินเพื่อเป็นสิทธิซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 1,000 บาท/คนผ่านแอพฯ “เป๋าตัง”
2) กรณีผู้ที่ลงทะเบียนเติมเงินใน g-wallet ช่อง 2 เพื่อใช้จ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม ที่พัก รวมถึงบริการต่างๆ ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น จะได้รับ cash back เท่ากับ 15% ของยอดการชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาท/คน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท/คน)
3) ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-wallet ช่อง 2 โดยรัฐบาลจะสนับสนุน cash back เท่ากับ 20% ของยอดการชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาท/คน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท/คน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาท/คน) ซึ่งจะรวมถึงผู้ที่ได้รับสิทธิ 10 ล้านคนแรกที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ
2. มาตรการลดภาษีเพื่อที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง (ที่ต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน) โดยจะเป็นการลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัย ที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้-24 ธ.ค.63 ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากการปรับลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวราว 2,652 ล้านบาท
3. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ตั้งวงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท
4. มาตรการเร่งรัดการเบิกค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ซึ่งมาตรการนี้จะเริ่มตั้งแต่ พ.ย.-ธ.ค.62 รวม 2 เดือน
“สมคิด”ชูกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ด้านบิ๊กบอสเครือสหพัฒน์จี้แบงก์ชาติดูเงินบาทอย่าแข็งมากเกิน
ทางด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการชิมช้อปใช้เฟส 2 ยังจำเป็นต้องแจกเงิน 1,000 บาทให้กับผู้ลงทะเบียน เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และที่ผ่านมามองว่าประชาชนใช้จ่ายเงินคล่องมากขึ้น นับว่าการออกโครงการชิมช้อปใช้ เป็นวิธีการที่ได้ผล เพราะดึงดูดให้ประชาชนผู้ลงทะเบียนออกไปใช้จ่ายต่างจังหวัดมากขึ้น และยังดึงดูดให้ร้านค้ารายย่อย รายใหญ่ รายใหม่นับแสนรายเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องเร่งพัฒนาระบบข้อมูล Big Data เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายหน่วยงานของรัฐ เพื่อรองรับการให้สวัสดิการรูปแบบต่างๆเพิ่มเติม
สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย.62 แม้ติดลบร้อยละ 1.4 ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และไทยยังมีสินค้าอีกหลายกลุ่มสามารถทำตลาดเพื่อการส่งออกได้ เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าทำตลาดเฉพาะกลุ่มในประเทศเป้าหมาย
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่เหมือนที่หลายฝ่ายกังวล เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง และการชะลอตัวลักษณะดังกล่าวเป็นแบบนี้มานานหลายปี เศรษฐกิจไทยยังดำเนินอยู่ไปได้ เศรษฐกิจไทยจึงไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ กำลังซื้อของรายย่อยที่ขาดหายไป จึงต้องเติมกำลังซื้อรูปแบบต่างๆเช่น ชิมช้อปใช้ เพื่อให้ภาคเกษตร ร้านค้ารายย่อย วิสาหกิจชุมชน มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้สิ่งสำคัญต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้เหมาะสม ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลดีต่อการลงทุน นำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาขยายการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างหลักของประเทศ อีกมุมหนึ่งการดูแลส่งออก ด้วยการให้เงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ดูแลสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้เกษตรกร ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล
ขณะที่การทำงานปัจจุบัน ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จนทำให้กองทุนเฮดฟันด์จับทิศทางนโยบายการเงินของไทยได้ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าในปัจจุบัน ท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรรายย่อยของประเทศ ขณะที่หลายประเทศทั้งพัฒนาแล้วหรือบางประเทศ ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินช่วยดูแลเศรษฐกิจในประเทศในช่วงทั่วโลกประสบปัญหา จึงอยากให้ ธปท.พิจารณาปัจจัยดังกล่าวนี้ เพื่อดูแลเงินบาทอ่อนค่าลงดูแลภาคเกษตร