People Unity : “ทศพล เพ็งส้ม” กาง รธน.เบรก “ธนาธร” นั่ง กมธ.งบประมาณฯ เหตุศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ส่วนจะใช้ฐานะ “คนนอก” ก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะยังคงสถานะ ส.ส.อยู่ ถาม “อนาคตใหม่” หวังให้ พ.ร.บ.งบประมาณฯโมฆะหรือไม่ แนะ “ธนาธร” ต้องเลือกลาออก ส.ส.หรือไขก๊อก กมธ.
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 22 ต.ค.2562 สถานีโทรทัศน์รัฐสภา ได้ออกอากาศรายการ “มองรัฐสภา” ดำเนินรายการโดย พ.ท.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ในหัวข้อ “จับตาบทบาท กมธ.งบฯ 63 หลากหลายขั้วการเมือง” โดยได้เชิญ นายทศพล เพ็งส้ม ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 มาให้ความเห็นเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานของสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังที่ประชุมสภาฯได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63) ในวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 จำนวน 64 คน กำหนดกรอบการพิจารณา 105 วันไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา
นายทศพล ได้กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีที่พรรคอนาคตใหม่เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเป็นหนึ่งใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่ว่า อำนาจการตั้ง กมธ.วิสามัญของสภาฯ บัญญัติไว้ในมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า สภาฯ มีอํานาจเลือกบุคคลผู้เป็น ส.ส.หรือมิได้เป็น ส.ส.ตั้งเป็น กมธ.วิสามัญเพื่อกระทํากิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาฯทราบตามระยะเวลาที่กําหนด ฉะนั้นจึงมี 2 ทางเลือกสำหรับ กมธ.วิสามัญ ว่าจะเป็น ส.ส. หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้ จึงต้องมาพิจารณาดูว่า การเสนอชื่อ นายธนาธร ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เป็นการชั่วคราว ในระหว่างรอคำวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของ นายธนาธร ในกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน เข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 นั้นมาในสถานะใด
“เมื่อดูหลักกฎหมายแล้ว ก็พบว่าคนที่จะเป็น กมธ.วิสามัญ ได้ต้องเป็น ส.ส.หรือมิได้เป็น ส.ส. จึงต้องถามว่าคุณธนาธรเข้ามาในเงื่อนไขไหน ถ้าเข้ามาในฐานะ ส.ส.ถือว่าไม่ได้เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงทำหน้าที่ ส.ส.ไม่ได้ ส่วนจะใช้สิทธิ์คนนอกก็มีปัญหาอีกว่า คุณธนาธรเป็นคนนอกหรือไม่ เพราะยังมีสมาชิกภาพ ส.ส.อยู่ ไม่สามารถถอดสถานะ ส.ส.และเดินเข้ามาในฐานะคนนอกได้เอง” นายทศพล กล่าว
นายทศพล กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากว่า นายธนาธร ขาดคุณสมบัติในการที่จะเข้ามาเป็น กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่กำลังจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 24 ต.ค.นี้แล้ว หากมีการเสนอความเห็น หรือสงวนความเห็น ตลอดจนร่วมลงมติใดๆ ก็อาจส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 เป็นโมฆะได้ ดังนั้นเจตนารมณ์ของเขา เพื่อให้กฎหมายใช้ไม่ได้หรือไม่ เพราะเอาคนที่ขาดคุณสมบัติการเป็น กมธ.วิสามัญ มาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 จึงควรที่จะมีการยื่นคำร้องเพื่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน มิเช่นนั้นหากสภาฯพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 แล้วเสร็จในวาระที่ 2 และ 3 เกิดมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า มีผู้ขาดคุณสมบัติร่วมเป็น กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว
“ในกระบวนการมี 2 ทางเลือก หนึ่ง คุณธนาธร ต้องไปลงออกจาก ส.ส. เพื่อใช้สถานะคนนอก เข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญ หรือสอง หากอยากเป็น ส.ส.ต้องลาออกจาก กมธ.วิสามัญ ต้องเลือกเอาว่าอยากเป็นอะไร ซึ่งไม่ใช่เรื่อกีดกันการทำหน้าที่ของคุณธนาธร เพียงแต่เป็นการทำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น มิเช่นนั้นก็จะมีคนมองว่า พรรคอนาคตใหม่ตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติ พรรคคุณต้องรับผิดชอบ หากกฎหมายมีปัญหา” นายทศพล ระบุ
นายทศพล กล่าวต่อว่า ในกรณีที่นายธนาธรขาดคุณสมบัติ ซึ่งส่งผลต่อการทำหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ประธานสภาฯอาจต้องเรียกประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง กมธ.แทนนายธนาธร เพื่อให้ครบ 64 คนตามมติที่ประชุมสภาฯ อย่างไรก็ดีมองว่า ช่วงที่พรรคอนาคตใหม่เสนอชื่อนายธนาธรเมื่อวันที่ 19 ต.ค.นั้น ที่ประชุมสภาฯอาจจะยังไม่ทราบว่าประเด็นคุณสมบัติดังกล่าว จึงไม่มีผู้คัดค้านหรือทักท้วง แต่เมื่อมีประเด็นขึ้นมา ก็ต้องมาตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อความถูกต้อง ผู้ที่เป็นประธานในการดำเนินการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 นัดแรกในวันที่ 24 ต.ค.นี้ จำเป็นต้องหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะไม่สามารถเริ่มประชุมได้ ก่อนทำหนังสือแจ้งประธานสภาฯต่อไป
นอกจากนี้ นายทศพล ยังได้อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนของ กมธ.สามัญต่างๆของสภาฯนั้นได้สงวนไว้เฉพาะผู้ที่เป็น ส.ส.เท่านั้น ขณะที่ กมธ.วิสามัญ ซึ่งตั้งตามวาระต่างๆที่ภารกิจไม่เข้ากับ กมธ.สามัญ ที่มีอยู่แล้ว สำหรับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้คนนอกเข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญได้นั้น ก็เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาหรือศึกษาเรื่องใดๆที่ ส.ส.บางคนอาจจะไม่ถนัด อาทิ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณแผ่นดินมาร่วมร่วมทำงานกับ ส.ส. เป็นต้น