People Unity : กรมสุขภาพจิต แนะวิธีการป้องกันความรุนแรงที่เหมาะสมที่ควรทำในการขับขี่ยานพาหนะ คือ 1. เผื่อเวลาก่อนออกเดินทาง 2. ตั้งสติก่อนสตาร์ท เตรียมกาย-ใจให้พร้อม 3. สร้างบรรยากาศดีๆ 4. อย่าคาดหวังในการปรับพฤติกรรมผู้อื่น และ 5. เป็นคนใจดีบนท้องถนน
วันที่ 24 ต.ค.2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปัจจุบันการเดินทางบนท้องถนนเป็นเรื่องที่เครียดสำหรับใครหลายๆ คน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานานอยู่บนท้องถนนที่มีการจราจรติดขัด เกิดมลภาวะ และมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยเคารพกฏจราจรและขับขี่อันตราย ความเครียดต่างๆ เหล่านี้ อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งบนท้องถนนได้บ่อยครั้ง ซึ่งการบันดาลโทสะบนท้องถนน หรือ road rage มักพบได้ตั้งแต่การแสดงภาษากาย การแสดงความรุนแรงทางวาจา การทะเลาะวิวาททางกายภาพ หรือแม้แต่การใช้อาวุธทำร้ายร่างกายกัน โดยส่วนมากมักจะเริ่มจากความรุนแรงเล็กๆ และขยายตัวเป็นความรุนแรงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การทะเลาะกับคนแปลกหน้าบนท้องถนนเล็กน้อยอาจนำไปสู่ปัญหาที่เป็นคดีความทางอาญาได้หากไม่มีวิธีการป้องกันที่ดี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การป้องกันความรุนแรงที่เหมาะสมที่ควรทำในการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน มีดังนี้ 1. เผื่อเวลาก่อนออกเดินทาง เพราะเส้นทางอาจมีการจราจรติดขัดหรือมีอุบัติเหตุ การเผื่อเวลาจะทำให้เราไม่ร้อนรนในการขับขี่ 2. ตั้งสติก่อนสตาร์ท ให้มีสติรู้ตัวเสมอว่าตนเองกำลังจะไปไหน มีใครรออยู่ และเตรียมสภาพกายและจิตใจให้พร้อมก่อนการขับขี่ยานพาหนะ โดยดูว่ามีความพร้อมหรือไม่ 3. สร้างบรรยากาศ โดยการเปิดเพลงที่ชอบและร้องตาม หรือพูดคุยเรื่องดีๆ กับคนที่โดยสารมาด้วย 4. อย่าคาดหวัง เพราะเราอาจต้องพบเจอผู้คนที่มีมารยาทบนท้องถนนแตกต่างกัน จึงไม่ควรคาดหวังว่า เราจะปรับพฤติกรรมของคนอื่นได้ ควรมองการขับขี่ถูกต้องและปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก และ 5. เป็นคนใจดีบนท้องถนน โดยขับขี่เคารพกฏจราจร แบ่งปันน้ำใจต่อผู้ร่วมเส้นทาง ให้อภัย ไม่เก็บเอาความรุนแรงจากคนอื่นมาใส่ใจ ไม่มองถนนเป็นสนามแข่งที่ต้องมาเอาชนะกัน เน้นการเดินทางถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัยพร้อมรอยยิ้ม
ทั้งนี้ จากการที่มีการกล่าวอ้างถึงปัญหาความรุนแรงบนท้องถนนกับอาการป่วยทางด้านสุขภาพจิตของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายๆ เหตุการณ์ สังคมไทยควรทำความเข้าใจว่า แม้การมีปัญหาด้านสุขภาพจิตควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และปัญหาด้านสุขภาพจิตบางกลุ่มโรค เช่น โรคทางอารมณ์ โรควิตกกังวล ที่อาจทำให้มีอารมณ์แปรปรวนง่าย เศร้าเสียใจ หรือหงุดหงิดได้ง่ายกว่าปกติ อาจจะทำให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ได้ยากก็ตาม แต่พฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นล้วนเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิเลือกวิธีตอบสนองอารมณ์ของตัวเองภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง ดังนั้นปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ควรถูกยกมาเป็นคำอธิบายในการกระทำไม่ดีต่อผู้อื่นหรือกระทำไม่ดีกับสังคม เพราะจะทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ผู้ป่วยจิตเวชในแง่ลบ โดยขอฝากทิ้งท้ายว่า “สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยืนหยัดในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะให้อภัย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว