People Unity : “จุรินทร์”ยันอีก! มะกันตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวกับแบน 3 สารพิษ ขี้ข้อเท็จจริงตัวเลขสิทธิพิเศษทางภาษีที่ถูกตัดประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทเท่านั้น “หมอตี๋”ยัน สธ.มีจุดยืนปกป้องสุขภาพคนไทยจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

วันที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 13.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิทางภาษีหรือ GSP ว่า ขอเรียนให้ทราบว่าในเรื่องกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ตัดจีเอสพีสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกานั้น ประเด็นก็คือ ปัจจุบันนี้สหรัฐฯให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือที่เรียกว่าจีเอสพี ที่ส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมดราคา 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิ์เรา ใช้สิทธิ์แค่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ส่งออกไปในทุกวันนี้

ประเด็นของการจากตัดจีเอสพี ก็หมายความว่าต่อไปนี้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จำนวนยอดขายรวมกัน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้นจะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐ จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี ภาษีที่ต้องเสียตกร้อยละ 4-5 โดยประมาณ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่าต่อไปนี้สินค้าไทย ที่จะส่งไปขายสหรัฐอเมริกาจะต้องมีภาระภาษีแทนที่จะไม่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้วตกประมาณ 1,500 ถึง 1800 ล้านบาท

“กล่าวโดยสรุปก็คือการตัดสิทธิ์พิเศษภาษีทางศุลกากรของสหรัฐทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปขายยังสหรัฐอเมริกา มีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 1500 -1800 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นที่มาของสหรัฐฯ อ้างว่าใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ์ ทำให้เราต้องเสียภาษีคือเรื่องแรงงาน สหรัฐต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถตั้งสหพันธ์แรงงานได้อันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ส่วนประเด็นอื่นนั้นขอให้ทางทรวงแรงงานเป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาประจำปีของเขาแต่เราสามารถที่จะอุทธรณ์หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างเช่นปีที่แล้วก็ทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ และปีนี้เราก็จะยื่นขอทบทวนอีก ถ้าเขาไม่ทบทวนถือว่าเป็นอำนาจของเขาเข่นกันเพราะเขามีสิทธิ์ฝ่ายเดียวเขาสามารถให้หรือไม่ให้ประเทศใดก็ได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เขาให้ฝ่ายเดียว เมื่อเขาไม่ให้หรือทบทวนแล้วไม่ให้เราก็จะไม่ได้สิทธิ์พิเศษนั้นต่อไปนี้เราก็จะต้องจ่ายภาษีตามเงื่อนไขที่เขากำหนดทำให้เรามีภาระทางภาษีเพิ่มขึ้น 1500 -1800 ล้านบาท ส่วนคำถามเรื่องสำหรับการแบน 3 สาร เท่าที่ติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขของครั้งนี้สิ่งที่เราทราบเป็นทางการ คือ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน สรุปว่าสิ่งที่เขาอ้างในการตัดสิทธิ์ไม่เกี่ยวกับ 3 สาร แต่อย่างใด

“หมอตี๋”ยัน สธ.มีจุดยืนปกป้องสุขภาพคนไทยจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยจากการประกาศแบน 3 สารเคมีนั้นว่า ในฐานะกระทรวงสาธารณสุข ถือพันธกิจสำคัญคือเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพเพราะฉะนั้นเมื่อเรามีข้อมูลว่า ทั้ง 3 สารมีอาจจะมีอันตรายต่อผู้ใช้ ซึ่งกระทรวงก็ได้ประกาศไปแล้ว และทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ได้ประการแบน 3 สารเคมีไปแล้ว ดังนั้นถือ เป็นสิทธิของกระทรวงสาธารณสุข ที่เราเน้นความปลอดภัยของประชาชนในการบริโภคอาหาร และเป็นสิทธิที่เราจะปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงในการดูแลสุขภาพของคนไทย

ดร.สาธิต กล่าวด้วยว่า ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมาดูแลว่า เกษตรกรจะต้องมีสารทดแทนอย่างไร ซึ่งก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่รัฐบาลจะตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยนั้น ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นสิทธิในการแสดงจุดยืนเรื่องการดูแลสุขภาพของคนไทย

“มัลลิการ์”โพสต์เตือนอย่าตื่นตูมอย่าปั่นกระแสจนเกินเหตุ

นางมัลลิการ์ บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ ได้โพสต์เตือนว่า อย่าตื่นตูมมากไป และ อย่าปั่นกระแสจนเกินเหตุ แล้วพวกที่กระโจนใส่ท่านนายกรัฐมนตรีนั้น ลืมอะไรไปหรือเปล่า?

1.โดยหลัก ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ 2.ส่วนกรณีสิทธิด้านแรงงานตามกล่าวนั้น อเมริกาและไทยเจรจากันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2556 ที่สมาพันธ์แรงงานUSAยื่นหนังสือร้องเรียน (ตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์) 3.ส่วนเรื่อง GSP (สิทธิด้านภาษี) เราได้รับสิทธินี้เป็นพิเศษมาตั้งแต่ปี 2519 และเราก็ใช้สิทธินี้อย่างเต็มที่มาเรื่อยๆซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้รับเป็นพิเศษ 4.การทบทวนเพิ่มหรือลดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP เป็นกระบวนการปกติที่มีการเจรจาและทำกันมาอยู่ตลอด (เราได้สิทธิ 3,500 รายการแต่เราใช้เพียง 1,285 รายการเท่านั้นเพราะนอกจากนั้นเราไม่ได้ผลิตหรือไม่ได้ส่งUSA) 5.ต้องแก้ไขข่าวที่สื่อลงนิดหนึ่ง คือ ตัวเลข 40,000 ล้านบาท ที่สื่อฯลงนั้นไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกตัดสิทธิ (อันนั้นเป็นตัวเลขโดยรวมของการส่งออกUSAใน 573 รายการ) แต่ตัวเลขที่ถูกตัดคือสิทธิด้านภาษี ก็คือ 61 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,800 ล้านบาทเท่านั้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกไปUSAต้องจ่ายเป็นภาษีศุลกากรเขาและเป็นกรณีภาษีที่เรายังมีโอกาสในการเจรจาซึ่งมีระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ ซึ่งการเจรจานี้ก็เป็นเรื่องปกติสามารถทำได้ตามฟอรัมต่างๆที่เราจะได้เจอเขาโดยเฉพาะในต้นเดือนพย.นี้)

6.มาตรการรองรับจากกระทรวงพาณิชน์ โดยท่านรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ได้ให้นโยบายตั้งแต่ต้นโดยเป็นมาตรการรองรับสงครามการค้าและมาตรการเชิงรุกด้านตัวเลขส่งออกอยู่แล้ว คือ เราเน้นฟื้นตลาดเก่า เพิ่มตลาดใหม่ รุกตลาดยุโรปและอื่นๆ รวมทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย จีน อินเดีย เป็นต้น และเพิ่มมูลค่าทางสินค้าโดยการปรับเปลี่ยนเพิ่มคุณภาพและนวัตกรรมต่อไป

7.ภาพรวมที่ผ่านมา การส่งออกไป USA นั้นไทยเราได้ดุลการค้า ในสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ และกลุ่มอาหาร #ไม่มีใครนิ่งเฉย #อย่าตกใจจนขย้ำผู้นำประเทศตน