People Unity News : “ผู้กองมาร์ค”เตือน”บิ๊กตู่”เร่งแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตร หากช้าระวังจะอยู่ได้ไม่ยาว
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมาธิการสารเคมีฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนลำดับที่ 76 และมีหนี้สินครัวเรือนอยู่ลำดับที่ 71 ของประเทศไทย รายได้ต่อคน ต่อปี เท่ากับ 53,416 บาท และอายุเกษตรกรค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี ซึ่งถือว่าสูงมาก ประชากรนิยมไปทำงานต่างถิ่น เพราะทำเกษตร แล้วรายได้น้อย ไม่มั่นคง ว่างงานนอกฤดูเก็บเกี่ยว การเกษตรที่นี้ใช้สารเคมีเยอะมาก การที่จะปรับเปลี่ยนวิธีในการ ทำเกษตรเป็นไปค่อนข้างยาก และยังพบสารเคมีตกค้างจำนวนมากในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และ พืชผัก ก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่าถึง 49 ต่อแสนของจำนวนประชากร (ทั่วโลกอยู่ที่ 1 ต่อแสน) ซึ่งส่งผลให้มีคนต้องตัดขา ตัดแขน และพบโรคที่เกี่ยวพันอีกมากมาย จากรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู พบว่า 71.7% เกี่ยวข้องกับสารเคมี เด็กมี IQ ต่ำเฉลี่ย 91 คะแนน จัดเป็นลำดับที่ 73 ของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าอาจมีสาเหตุมาจากสารเคมีพิษหลายชนิด เพราะจากข้อมูลของ Thai-Pan ในปี 2560 จากการสุ่มตรวจการตกค้างของสารกำจัดวัชพืชใน ผัก ผลไม้ พบว่า มีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 55
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 30 วัน ที่เกษตรกรไทยจะต้องหยุดใช้สารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซล โดยรวมเรายังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ที่เป็นรูปธรรม เลย ดังนั้น หาก บิ๊กตู่ปล่อยทิ้งปัญหาไว้นานไม่รีบแก้ไข อาจจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่ยาว
ซึ่งจากจำนวนเกษตรกรไทยที่มีเกือบ 6 ล้านคน หากเรามาคำนวนก็เกือบ 10% ของจำนวนประชากรไทย หากเกษตรกรละทิ้งอาชีพของตนไปทำงานต่างถิ่น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ เช่น ปัญหายาเสพติด แลปัญหาสังคมเพราะครอบครัวขาดความอบอุ่น ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์และ ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อยกระดับพืช ผัก ผลไม้ไทยให้ปลอดสารพิษ และได้มาตรฐานโลก เพื่อที่จะสามารถ ส่งออกไปได้ทั่วโลก และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องหาตลาดให้กับเกษตรกร เพราะปัจจุบัน เกษตรกรไทยที่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ แบบออร์แกนิค แต่ไม่มีตลาดขาย พอมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อก็กดราคา ได้ราคาสูงกว่า พืชผัก และผลไม้ปรกติ เพียงแค่ 15% เท่านั้น ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าต้นทุนการปลูกแบบออร์แกนิคนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติ เยอะ ดังนั้นหากเกษตรกรปลูกแล้วกลับทำให้มีรายได้ที่ลดลง แล้วจะมีใครยอมมาทำ ซึ่งตลาดในต่างประเทศนั้นพืช ผัก ผลไม้ แบบออร์แกนิค สามารถขายได้ราคาสูงกว่าเกือบ 3 เท่า ดังนั้นเราควรจะต้องส่งเสริมและจัดระบบ ให้สหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่ทางการตลาดให้แก่เกษตรกร ซึ่งในต่างประเทศสหกรณ์มีหน้าที่ส่งเสริมการตลาด แต่ในประเทศไทยสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเหมือนธนาคาร ดังนั้น เราจึงควรจัดสรรให้สหกรณ์ของตำบลดำเนินการทำหน้าที่ประสานงานไปยังสหกรณ์อำเภอ และสหกรณ์อำเภอ มีหน้าที่ประสานงานไปสหกรณ์จังหวัด เพื่อส่งสินค้าไปยังสหกรณ์กลางเพื่อจำหน่ายผลิตผลทั้งในและต่างประเทศ