People Unity News : เพื่อไทยชี้”บิ๊กตู่”ล้มเหลวจัดประชุมอาเซียน ไร้ชัดเจนกรณีถูกสหรัฐฯตัดจีเอสพี ขณะที่ ผู้แทน”ทรัมป์ ” พบ “บิ๊กตู่” ยันจะพิจารณาทบทวนอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคพท. และร.ท.หญิง สุณิสา ธิวากรดำรง รองโฆษกพรรคพท. ได้ร่วมกันแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยนายอนุสรณ์ กล่าวถึงการประชุมอาเซียนว่า เราไม่อยากให้โฆษกและผู้ใหญ่ในรัฐบาลไปโหนโพลในลักษณะที่ตัวเองได้ประโยชน์ และไม่สนใจโพลที่ตัวเองเสียประโยชน์ ซึ่งการประชุมที่ผ่านมา เราได้เห็นการพูดในทำนองกว้างๆเท่านั้น แต่ไม่มีผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ถือว่าเสียโอกาสในฐานะที่เราเป็นประธานอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัดจีเอสพี ที่ขณะนี้เราสับสนกันว่าจะเอาอย่างไร

สรุปแล้วอยากให้เขาทบทวนการตัด หรือไม่ เพราะนายกฯบอกที่เขาตัดจีเอสพีเพราะเศรษฐกิจเราโตไว พอถามเรื่องเศรษฐกิจถดถอยก็บอกว่า เศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยแค่โตช้า ตนจึงขอตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นบิดาของความนย้อนแย้ง เสมอต้น เสมอปลาย ท่านพูดขัดแย้งกันไปมา จนยังไม่สามารถสรุปได้เลยว่าเศรษฐกิจโตไว หรือโตช้า แล้วสาเหตุที่เราถูกตัดจีเอสพีมาจากเรื่องอะไร รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพูดคนละเรื่องแตกต่างกัน ไม่มีการบูรณาการแก้ไข ดังนั้น อยากให้เอาให้ชัดว่าเราถูกตัดเพราะอะไร นอกจากนี้ แผนรองรับต่อจากนี้คืออะไร ไม่ใช่บอกเขารับปากแล้ว ให้รอไปเรื่อยๆ

ร.ท.หญิงสุณิสา กล่าวว่า บทบาทพล.อ.ประยุทธ์ในการเป็นประธานอาเซียน ประเมินแล้วต้องถือว่าท่านล้มเหลวทั้งในฐานะประธานอาเซียน และหัวหน้ารัฐบาล ที่ประเมินเช่นนี้เพราะเราใช้ตัวชี้วัดจากศักยภาพของผู้นำฯในการเชิญคู่เจรจาจากชาติมหาอำนาจมาร่วมการประชุม เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ลดความสำคัญในการประชุมอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพโดยการส่งเพียงผู้แทนมาร่วมประชุม ทั้งที่ผ่านมาประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็เดินทางเข้าร่วมการประชุมเองทุกครั้ง รวมถึงการประชุมครั้งก่อนที่ไทยเป็นเจ้าภาพด้วย สะท้อนถึงการลดความสัมพันธ์ และความสำคัญของประเทศไทยลง วันนี้ประเทศไทยได้สูญเสียสถานะทางการทูตนั้นไปแล้ว ทั้งนี้ การจัดประชุมอาเซียนไม่ใช่เพียงมีอาหารที่ดี ดนตรีที่เพราะเท่านั้น แต่ต้องคุ้มค่า และใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาที่สำคัญในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ จึงไม่ใช่การประชุมที่น่าประทับใจสำหรับผู้ที่มาร่วมประชุม นอกจากนี้ การเจจราในเวทีประชุมนี้ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ เช่น การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน แต่การประชุมหลายวันที่ผ่านมานี้มีลักษณะเป็นทวิภาคีสูงอยู่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะก้าวลจากตำแหน่งประธานอาเซียนด้วยความล้มเหลว

ผู้แทน”ทรัมป์”พบ”บิ๊กตู่” ยันพิจารณาตัด GSP ถี่ถ้วนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ห้อง Sapphire 108 ชั้น 1 อาคารอิมแพค ฟอรั่ม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบหารือกับนายโรเบิร์ต ซี โอไบรอัน (Robert O’Brien) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของนายโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าไทยพร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน และเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ เช่น การลงทุน การต่อต้านการค้ามนุษย์ และการสนับสนุนบทบาทของสหรัฐฯ ในการเพิ่มพูนความร่วมมือกับภูมิภาค พร้อมฝากความระลึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยา โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับที่ประเทศไทย

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ แสดงความขอบคุณในการต้อนรับอย่างอบอุ่นของไทย และกล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ฝากหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อย้ำว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับไทยในฐานะมิตรประเทศอันใกล้ชิด ชื่นชมการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ และยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการร่วมมือกับไทยและอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคต่อไป

ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ มีความใกล้ชิดและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง รวมถึงความท้าทายในรูปแบบใหม่ ไทยมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายยินดีที่การประชุม Indo-Pacific Business Forum ในวันนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะสาขาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ดิจิทัล ทั้งนี้ระหว่างการหารือได้มีการหยิบยกประเด็นการประกาศพักสิทธิ GSP บางส่วนของไทย ซึ่งสหรัฐฯ รับไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทย