People Unity News : “จุรินทร์” โยนวิปรัฐบาลเคาะ “อภิสิทธิ์” นั่งประธานกมธ.แก้รธน. งดออกความเห็นเหมาะสมหรือไม่ ขณะที่ “วีระกร” ดักคอต้องเป็นพรรคแกนนำรบ.
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่จะมีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคปชป. เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ขอไม่พูดถึงตัวบุคคล แต่ขอพูดในหลักการคือ ขณะนี้ญัตติการตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้บรรจุอยู่ในวาระของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมาก็จะมีการพิจารณาว่าจะให้มีการตั้งกรรมการวิสามัญหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าแนวโน้มคงตั้ง เพราะทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีความเห็นร่วมกันให้มีการตั้งอยู่แล้ว ตอนเสนอญัตติเข้าไป ดังนั้นเมื่อมีการตั้งก็จะมีการพิจารณาตัวกรรมาธิการที่จะเข้าไปสู่การพิจารณา ซึ่งในส่วนของพรรคปชป.นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยส.ส.จะเป็นผู้พิจารณาว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการ
“ผมคงไม่สามารถเรียนให้ทราบล่วงหน้าได้ว่าจะมีใครสนใจบ้าง และควรจะเป็นใคร แต่หลังจากได้ตัวกรรมาธิการครบ จะพิจารณาว่าใครจะเป็นประธาน รองประธาน ตำแหน่งไหนในกรรมาวิสามัญ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งในส่วนรัฐบาลก็มีวิปรัฐบาลที่จะเป็นผู้พิจารณา โดยวิปในพรรคปชป. จะเป็นหนึ่งในวิปรัฐบาล ที่จะเข้าไปร่วมพิจารณา ซึ่งต้องรอวิปรัฐบาลเป็นผู้รอพิจารณาอีกขั้นหนึ่ง ว่าควรจะเป็นใครอย่างไร”นายจุรินทร์ กล่าว
เมื่อถามว่า หากวิปรัฐบาลไฟเขียว ในขณะที่ฝ่ายค้านก็เห็นถึงความเหมาะสมของตัวนายอภิสิทธิ์ นายจุรินทร์ กล่าวย้ำว่า ขอให้เป็นเรื่องของวิปฯ ที่จะไปคุยกัน ในส่วนของพรรคปชป.ก็จะคุยกันในส่วนของวิปรัฐบาล เพราะเป็นกลไกที่เราทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ต้นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และจำเป็นจะต้องหารือกันในวิปรัฐบาล เพราะซีกรัฐบาลมีความสำคัญต่อความสำเร็จเหมือนกัน และจะเป็นความสำเร็จของทุกฝ่าย เพราะการแก้รัฐธรรมจะสำเร็จได้ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล แต่ต้องรวมไปถึงวุฒิสมาชิกด้วย นั้นแปลว่าจะต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน ยืนยันว่าในส่วนของปชป. จะต้องไปนับหนึ่งที่วิปรัฐบาล ในฐานะพรรคร่วม ซึ่งเราจะเจรจากันตรงนั้น ตอนนี้ขอไม่พูดในรายละเอียด ขอให้เป็นหน้าที่วิปที่จะคุยกัน
เมื่อถามว่าโดยส่วนตัวเห็นว่านายอภิสิทธิ์ มีความเหมาะสมหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นส่วนตัว เป็นเรื่องของพรรคที่จะพิจารณาตัวบุคคล
“วีระกร” ดักคอต้องเป็นพรรคแกนนำรบ.
นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอชื่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนพรรคพปชร.ที่จะเสนอชื่อคนใน หรือคนนอกพรรคนั้น ว่า จะต้องเป็นคนในพรรค ซึ่งกมธ.ชุดดังกล่าวเป็นแค่การศึกษาหาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้เป็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง โดยจะไปสามารถแก้ไขอย่างรวดเร็วคงไม่ใช่ ก็ต้องศึกษาก่อน เพราะฉะนั้นคนในพรรคพปชร.ก็สามารถนั่งเป็นประธานกมธ.ได้ทั้งนั้น เบื้องต้น อาจเป็นนายวิรัช รัตนเศรฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานวิปรัฐบาล นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคพปชร. หรือแม้แต่ตน ก็สามารถนั่งเป็นประธานกมธ. ได้ โดยมองว่าจะต้องผู้ที่มีความอาวุโส ซึ่งภายในพรรคก็มีผู้ที่มีความอาวุโสอยู่หลายคน
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเห็นอย่างไร ต่อกระแสข่าวการผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธานกมธ.ชุดดังกล่าว นายวีระกร กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของกรรมาธิการคณะใหญ่ๆ ที่จะต้องเป็นแกนนำพรรครัฐบาล แต่เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นแกนนำพรรครัฐบาล ซึ่งการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ฯ นั้นมีสิทธิที่จะเสนอได้ แต่ตามหลักและมารยาท จะต้องเป็นพรรคใหญ่ที่สุดของรัฐบาล นั่งเป็นประธานกมธ.
เมื่อถามว่าสามารถกล่าวได้หรือไม่ว่า ทางพรรคพปชร.ไม่ขัดข้อง หากนายอภิสิทธ์ฯ นั่งประธานกมธ. นายวีระกร กล่าวย้ำว่า จะบอกว่าขัดข้อง หรือไม่ขัดข้องนั้นไม่ได้ แต่ย้ำว่าไม่ได้รังเกียจนายอภิสิทธิ์ แต่เขาเสียงน้อยมานั่งตรงนี้ คงจะไม่ได้ แต่ทั้งนี้ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่านายอภิสิทธิ์ฯ มีความเหมาะสมในสายตาของตน แต่เป็นตัวแทนพรรคปชป.มองว่ายังเล็กไป ควรจะต้องเป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคพปชร.
เมื่อถามอีกว่าผู้ที่เหมาะสมจะมานั่งประธานกมธ.ชุดนี้ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างนั้น นายวีระกร กล่าวว่า จะต้องรู้เรื่องกฎหมาย และมีประสบการณ์ทางการเมืองมากพอสมควร รวมถึงจะต้องรู้ว่ารัฐธรรมนูญเก่าๆ ที่ผ่านมาให้สิทธิเสรีภาพอย่างไร หรือมีอะไรที่แตกต่างจากฉบับปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งหลายคนก็บอกว่าฉบับปัจจุบันก็ไม่ค่อยเต็มใบสักเท่าไหร่ ดังนั้น คนที่จะมานั่งเป็นประธานจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในหลายรัฐธรรมนูญมาแล้ว เป็นผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายและมีความอาวุโส อย่างน้อยจะต้องมีจิตวิญญาณ และความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่าให้สิทธิและเสรีภาพเช่นไรบ้าง