People Unity News : “บิ๊กตู่”เลี้ยงอาหารกลางวันผู้นำอาเซียนรวมถึงภาคีภายนอกและยูเอ็น IMF ถกแนวพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมต้อนรับ “หลี่ เค่อเฉียง” ยิ่งใหญ่ที่ทำเนียบฯ ขณะที่”อุตตม”เผย IMF แนะไทยใช้ทุกเครื่องมือทั้งการเงิน-การคลังดูแลเศรษฐกิจช่วงนี้
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้อง Grand Diamond Ballroom ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Special Lunch on Sustainable Development) ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
งานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน และกรรมการผู้จัดการองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันด้วย
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้กล่าวถ้อยแถลงสะท้อน “เสียงของอาเซียน” ที่นครนิวยอร์ก เพื่อบรรลุ SDGs อย่างไรก็ดี อาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทายในอีกหลายเป้าหมาย โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาเซียนได้ประกาศเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เช่น การลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ภายในปี ค.ศ. 2025 และในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งอาเซียนได้มีข้อริเริ่มมากมายที่จะลดช่องว่างการพัฒนา ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเพื่อไม่ให้ประชาคมอาเซียนทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยในการหารือ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง อาเซียนควรเสริมสร้างแรงกระตุ้นในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และต่อยอดจากการดำเนินกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการดำเนินการตามโรดแมปความเกื้อกูลฯ
ประการที่สอง การสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในระดับรากหญ้า
ประการที่สาม การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนจะต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีภายนอก
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกของอาเซียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนประจักษ์ผลเป็นรูปธรรม
ทางด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากหารือร่วมกับผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลัง ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของโลกชะลอลงอย่างพร้อมเพียงกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงเหตุการณ์สงครามการค้าของสหรัฐกับจีนเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นที่ผสมผสาน ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบและชะลอตัวลงไปด้วย
“ไทยยังโชคดี ที่เศรษฐกิจระดับมหภาคแข็งแกร่ง ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการใช้เครื่องมือ ทั้งด้านการเงินและการคลังในการดูแลเศรษฐกิจช่วงเวลานี้ ซึ่ง IMF มีมุมมองว่า ให้พิจารณาใช้ทุกเครื่องมือที่มี เพื่อดูแลเศรษฐกิจตอนนี้ ทั้งการเงินและการคลัง หากมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ เพื่อที่จะสามารถผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไปได้” นายอุตตม กล่าวและว่า
อย่างไรก็ดี IMF ย้ำว่าเศรษฐกิจไทยในภาวะตอนนี้นั้น 1.มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเศรษฐกิจขณะนี้ให้ผ่านพ้นไป 2.พิจารณาเครื่องมือที่มีโดยเน้นเครื่องมือทางการเงินและการคลัง เนื่องจากมีความสารถในการใช้ให้ทันการ ขณะที่เครื่องมือทางการเงินนั้น ก็เห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงที่ผ่านมา แล้ว 1 ครั้ง และมองว่าสามารถทำได้อีก 3. เน้นความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเรื่องที่สำคัญที่สุด คือการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
นายอุตตม กล่าวว่า กรณีที่จะไปร่วมประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐในวันนี้ (4 พ.ย.62) เบื้องต้น จะมีการหารือเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการลงทุน ในการปฏิรูปโครงสร้างประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น รวมถึงมีการหารือเรื่องของขบวนการการมีส่วนร่วมในการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง และความสะดวกในการทำธุรกิจ
“ทั้งนี้ ไม่ได้มีการตั้งใจที่จะไปเจรจาอย่างเป็นทางการ ในเรื่องของการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล ยังมีแนวทางในการหารือเรื่องของ GSP เนื่องจากยังมีเวลาในการเจรจาร่วมกันอีก 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีกับทั้ง 2 ประเทศ” นายอุตตม กล่าว
เตรียมต้อนรับ “หลี่ เค่อเฉียง” ยิ่งใหญ่ที่ทำเนียบฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 5 พฤศจิกายน รัฐบาลไทยโดย พลเอกประยุทธ์ จะให้การต้อนรับนายหลี่ เค่อเฉียง (H.E. Mr. Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยในเวลา 10.10 น. นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ จะให้การต้อนรับเชิญนายกรัฐมนตรีจีน โดยมีพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ก่อนที่จะมีการหารือข้อราชการเต็มคณะที่ตึกภักดีบดินทร์ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ จะเชิญนายกรัฐมนตรีจีนไปยังตึกสันติไมตรีหลังใน เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างไทย-จีน และจะมีการแถลงข่าวร่วมกัน จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ให้แก่นายกรัฐมนตรีจีนและคณะ ทั้งนี้ ในเวลา 08.00 น.ของวันเดียวกัน นาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะเข้าเยี่ยมคารวะและพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรี ที่ห้องรับรอง ตึกบัญชาการ 1