People Unity News : “วราวุธ”ทอล์คโชว์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยัน 1 ม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป ตักบาตรพระสงฆ์ทุกๆเช้าต้องไม่มีถุงพลาสติก
วันที่ 9 พ.ย.2562 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการจัดเสวนา TALK TO TOP GO GREEN TOGETHER Vo 1.1 กับท็อป ที่ Bitterman Restaurant ศาลาแดง ซอย 1 กทม. ว่า เวทีดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากประชาชนกลุ่มคนรุ่นใหม่ องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ว่า ตนต้องการพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มคนรักษ์สิ่งแวดล้อมในบรรยากาศแบบเป็นกันเอง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดและตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นพื้นที่สีเขียวกับคุณภาพชีวิตคนเมือง ขยะพลาสติกกับชีวิตประจำวัน สถานการณ์ป่าไม้ไทยและแนวโน้มจัดการภาวะโลกร้อน ทั้งนี้หากรูปแบบการเสวนาได้รับผลตอบรับที่ดีจะขยายไปยังพื้นที่ชุมชนในจังหวัดต่างๆด้วย
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับการรณรงค์หยุดใช้หยุดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้รับความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อ 47 บริษัท อาทิ ซีพีออล. บิ๊กซี โลตัส แมคโคร หยุดแจกถุงพลาสติก ซึ่งขณะนี้เริ่มประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนเริ่มหยุดแจกถุงพลาสติกในเดือนม.ค.63 และก้าวไปสู่การห้ามใช้ถุงพลาสติกเด็ดขาดในเดือน ม.ค.64 ทั้งนี้ขอชี้แจงว่าประเทศไทยไม่ได้ต่อต้านหรือเลิกใช้พลาสติก แต่ยกเลิกใช้ถุงพลาสติกประเภทถุงก๊อบแก๊บในชีวิตประจำวันเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ในส่วนของประชาชนต้องสร้างวัฒนธรรมในการพกถุงผ้า หรือถุงพลาสติกไนลอนออกจากบ้าน
“ทุกวันนี้ผมมีส่วนร่วมในการรณรงค์ดูแลสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างในการลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ในการเดินทางไปร่วมประชุมต่างๆในกรุงเทพฯจะใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งยอมรับว่าเป็นการสร้างภาพ เพราะคนระดับรัฐมนตรีต้องสร้างภาพและทำให้ประชาชนเห็นเป็นตัวอย่าง ปัจจุบันเราถูกถามถึงปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 พูดกันมากเพราะก่อนหน้านี้ไม่มีเครื่องวัด เราค่อยๆหายใจเข้าไปนานแล้ว แต่เพิ่งมีเครื่องวัด ปัญหาเกิดจากเครื่องยนต์ กรมควบคุมมลพิษก็สั่งให้หยุดใช้รถยนต์ไม่ได้ ทำได้เพียงสร้างจิตสำนึกให้รับรู้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักข้ออย่างไร นโยบายดีอย่างไรหากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือก็ไปไม่ได้ ตบมือข้างเดียวไม่ดัง เปรียบเทียบกับการปลูกป่า 1 คนปลูก 100 คนตัด ไปไม่รอดแน่” นายวราวุธกล่าวและว่า
ส่วนของปัญหาขยะนั้นสาหัสขึ้นทุกวัน 80%ของขยะในทะเลมาจากบนบก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่ผ่านมาตนจึงร่วมรณรงค์ว่า นับจากวันที่ 1 ม.ค.นี้ ทุกคนต้องพกถุงผ้า แม้กระทั่งการจับจ่ายซื้อของในตลาดสดก็ควรย้อนกลับไปใช้ใบตองและเชือกกล้วย แม้แต่การตักบาตรพระสงฆ์ทุกๆเช้า ซึ่งใช้ปริมาณขยะจำนวนมาก สำหรับประเพณีลอยกระทงขอขมาแม่น้ำลำคลองในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ตนรณรงค์ให้ลอยกระทงครอบครัวละ 1 กระทง รวมกันหลายๆคนลอยกระทงใบเดียวกัน แม้จะใช้กระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแต่ถ้า 67 ล้านคนลอยกระทงทั้งหมด เช้าวันรุ่งขึ้นหลังลอยกระทงจะเป็นทุกข์ของคนเก็บขยะ
ในช่วงของการตอบข้อซักถามนายวราวุธชี้แจงถึงนโยบายป่าเศรษฐกิจว่า มาจากแนวคิดที่ว่าป่าไม้จะยั่งยืนต้องอนุญาตให้คนตัด เช่น ไม้พะยุงรัฐบาลปลดล็อกให้ตัดขายได้ เพื่อให้เกษตรกรร่วมกันปลูกและรักษาพืชเศรษฐกิจ ได้ประโยชน์ทั้งการขยายพื้นที่ป่าและสร้างรายได้ที่ดีกว่าเอาเงินไปฝากธนาคาร รวมถึงการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่างเปล่าใต้ทางด่วน ใต้รางรถไฟฟ้า เกาะกลางถนน หรือตอม่อสีเขียว เพื่อช่วยดูดซับฝุ่นควัน โดยจะเร่งหารือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อริเริ่มโครงการ และเปิดให้ภาคเอกชนร่วมมือดูแลตอม่อสีเขียวเพื่อสานต่อพื้นที่สีเขียวให้ยั่งยืนไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณของรัฐ
สำหรับบรรยากาศในการพูดคุยจัดขึ้นในรูปแบบของการทอล์คโชว์อย่างเป็นกันเองภายในร้านกาแฟ หลังจบการเสวนายังได้แจกกล้าไม้ให้ผู้ร่วมงานนำกลับไปปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า นอกจากนี้นายวราวุธยังเปิดกว้างให้ผู้ร่วมงานซักถามในประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับเขตอุทยาน การจัดหาพื้นที่ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ การปลดล็อกอนุญาตให้ตัดไม้มีค่า และปัญหาภัยแล้งในปี 63 ซึ่งนายวราวุธยอมรับว่ากระทรวงทรัพย์ถูกตัดลดงบประมาณเจาะน้ำบาดาล ประเทศไทยไม่มีแผนที่น้ำบาดาล โดยกระทรวงเสนอของบประมาณสำรวจและจัดทำแผนที่น้ำบาดาลแล้ว