People Unity News : “พุทธิพงษ์”แถลงจับกุม “Hack Group Line” หลังจากเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center)
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงว่า จากการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) จากสรุปผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีจำนวนข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 7,962 ข้อความซึ่งมีข้อความที่ต้องดำเนินการ Verify ทั้งหมดจำนวน 45 ข้อความ โดยแบ่งเป็น ช่องทาง Social Listening Tool ช่องทาง Line Official ช่องทาง Website Manual Social Listening ซึ่งมาจากการแจ้งเรื่องเข้ามาด้วย โดยแบ่งได้ดังนี้ เรื่องยาเสพติด 7.6 % ภัยพิบัติ 13.6 % การเงิน หุ้น 13.6 % ข่าวอื่น ๆ 13.6 % ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 21.2 % ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคง 15.2 % นโยบายรัฐบาล 16.7 %
ส่วนใหญ่จะพบเรื่องที่เป็นกระแสของสังคม และมีความน่าเป็นห่วงพี่น้องประชาชน คือพบมากที่สุดจะเป็นเรื่องของกลุ่มข่าวผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่อ้างการรักษาต่างๆ โดยไม่เคยถูกขึ้นทะเบียนยา แอบอ้างสรรพคุณการรักษาต่างๆ ซึ่งควรให้ประชาชนรับรู้และทราบดังนี้ จากการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย.การขายยาที่ยังไม่ได้รับอนุญาติให้ขายและยังไม่ได้รับอนุญาติให้โฆษณามีความผิด และหากมีการโฆษณาขายยา จะต้องขออนุญาตก่อน พร้อมเตือนผู้บริโภคควรระวังการซื้อยาจากเว็บไซต์ อาจมีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงเพราะเสี่ยงอันตราย
ทั้งอาจได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ และผลข้างเคียงจากยาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิติได้ การขายยาต้องได้รับการอนุญาติก่อน เนื่องจากยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป ต้องขายในสถานที่อนุญาต การขายยาบนอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าข่ายกระทำความผิด อาจต้องระวังโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และอาจเข้าข่ายผิดโฆษณายาอีก การโฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในส่วนนี้ มี พ.ร.บ.ที่ควบคุมอยู่คือ พ.ร.บ. อาหาร และ พ.ร.บ. ยา และการใช้ Social Media เป็นองค์ประกอบการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย / กฎหมายนานาชาติ (เชื่อมโยงการใช้งาน/ปรากฏเนื้อหา ข้อความ ภาพเคลื่อนไหว หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง Social Media) อาทิ
(1) การก่อการร้ายสากล / ปัญหาชายแดนภาคใต้ (2) ความรุนแรงสุดโต่ง (3) ยาเสพติด (4) การลามกอนาจาร / เด็กและเยาวชน (5) อาหาร ยา วัตถุอันตราย เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายและอันตราย (6) การฉ้อโกง หลอกลวงทรัพย์ (7) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเครื่องหมายการค้า ภาพยนตร์ เพลง (8) สินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น (9) ความมั่นคงของประเทศ สถาบันหลักของชาติ (10) ความสงบเรียบร้อยของสังคม / ขัดศีลธรรม จารีต ประเพณีอันดีของไทย เป็นต้น
“โดยการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างเน้นย้ำว่าข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ และสิ่งที่สำคัญเรายึด code-of-principles ดังนี้ 1. ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว 2. ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว 3. การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง 4. ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน 5. สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ 6.มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้นๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และโปร่งใส และสุดท้าย5. เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ” นายพุทธิพงษ์ฯ กล่าว
และวันนี้ (13 พ.ย. 2562) ในช่วงที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดในกลุ่มสนทนาแอพลิเคชั่นไลน์ (LINE) โดยมีผู้ใช้งานนิรนาม เข้ามาในกลุ่มไลน์จำนวนหลายกลุ่มโดยไม่ได้รับเชิญ เมื่อเข้ามาแล้วจะส่งลิงค์เว็บไซต์ลามก แฝงโฆษณา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหากผู้ใช้งานในกลุ่มไลน์หลงกลคำเชิญชวนกดลิงค์เว็บไซต์ดังกล่าว คนร้ายจะได้ ข้อมูลเข้าถึงกลุ่มไลน์ต่างๆ ของผู้ใช้งานนั้น และจะทำให้คนร้ายสามารถส่งผู้ใช้งานนิรนามเข้าไปยังกลุ่มไลน์ หลายๆ กลุ่มโดยไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนการให้ผู้ใช้งานไลน์ให้ระมัดระวังการกดลิงค์และ การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในช่องทางเพจเฟซบุ๊ก “ชัวร์ก่อนแชร์” ของศูนย์ ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักงานข่าวไทย และเว็บไซต์ของบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองบัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินการสืบสวนหาตัวคนร้ายกรณีดังกล่าว ซึ่ง บก.ปอท. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ใช้แอพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ในการติดต่อสื่อสารและปฏิบัติงานราชการต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบ มีผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ามาในกลุ่มไลน์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ด้วยภายใต้การอำนวยการของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม , น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ,พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบช.ก. , พล.ต.ต.สิทธิชัย โล่กันภัย รอง ผบช.ก. , พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. , พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. , พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม
ดำเนินการปฏิบัติการตามล่า “LINE Group Hacker” ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2562 ได้จับกุมตัวผู้ต้องหา จำนวน 1 ราย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1540/2562 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ได้ที่ซอยบุปผาบุรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. พร้อมตรวจ ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่ง ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีและส่งของกลางตรวจพิสูจน์เพื่อทำการขยายผลไปยังผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป และต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 มีผู้ต้องหามามอบตัวอีก 1 ราย รวมมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันทั้งหมด 2 ราย พฤติการณ์ในการคดี: ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้นำโปรแกรมสร้างลิงค์ดูดข้อมูลกลุ่มไลน์ เมื่อสร้างลิงค์ ไลน์แล้วและมีผู้ใช้งานกดลิงค์ไลน์ดังกล่าว จะถูกดูดข้อมูลลิงค์เชิญเข้ากลุ่มไลน์ เมื่อผู้ต้องหาได้ข้อมูลลิงค์ เชิญเข้ากลุ่มไลน์แล้ว จะส่งผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ากลุ่ม และแชร์เว็บไซต์ลักษณะลามก ซึ่งแฝงโฆษณา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 12 “เข้าถึงโดย /มิชอบ … กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี Technology Crime Suppression Division มิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศฯ”
มีอัตรา โทษสูงสุด จำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท , มาตรา 11 ความผิดเกี่ยวกับสแปม “ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข” มีอัตราโทษสูงสุด 100,000 บาท และมาตรา 14(5) “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกฯ” มีอัตราโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนท่านใดเผลอกดลิงค์เว็บไซต์ดังกล่าว ให้ทำการตรวจสอบในแอพลิเคชั่นไลน์ ได้ที่ การตั้งค่า>บัญชีผู้ใช้งาน>อุปกรณ์ที่เข้าสู่ระบบ หากอุปกรณ์ใดที่ท่านไม่เคยใช้งานมาก่อน ให้ทำการออกจากระบบ (Log Out) และหากประชาชนท่านใดพบผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ากลุ่มไลน์และเผยแพร่ส่งต่อ ข้อมูลลักษณะดังกล่าว ท่านสามารถแจ้งเบาะแสมายัง “ศูนย์ต่อต้านความปลอม” (Anti Fake News Center) ทางเว็บไซต์ antifakenewscenter.com หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 2288 8000 เพื่อจะได้ดำเนินการสืบสวนปราบปรามต่อไป