People Unity News : ลุงป้าที่ติดปัญหาลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ไม่สำเร็จ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประสาน ธนาคารกรุงไทย จัดเจ้าหน้าที่ประจำสาขาทั่วประเทศ ช่วยให้คำแนะนำเพื่อให้การลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” “อุตตม”ยอมรับไม่คึกคัก ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” สำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยมีการจำกัดสิทธิ์ที่ 500,000 คน ซึ่งได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.62 ที่ผ่านมา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทะเบียน ทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อให้สั่งการไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป
การกันสิทธิ์ไว้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุราว 9,000–10,000 บาทต่อเดือน สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น
นายชาญกฤช กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยพบว่า มีการใช้จ่ายเพื่ออาหาร การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้อยากให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ครบ 500,000 คน เพื่อท่องเที่ยวร่วมกันกับบุตรหลาน ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 10,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากราว 5,000 ล้านบาท
สำหรับตัวเลขการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ยังเหลือสิทธิ์ จำนวน 409,825 สิทธิ์ ทั้งนี้โครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” จะไม่แจกเงิน 1,000 บาท ในประเป๋าที่ 1 (G-wellet 1) แต่จะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-wellet 2) เพื่อรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 15% เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 20% เมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน จนถึง 31 ม.ค.63 พร้อมรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์อีกด้วย
“อุตตม”ยอมรับเฟส3 ชิมช้อปใช้ไม่คึกคัก
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวยอมรับว่า มาตรการชิมช้อปใช้เฟสที่ 3 ไม่คึกคัดเท่ากับเฟส 1 และ 2 แต่เท่าที่ประเมินเสียงตอบรับก็พอใช้ได้ อย่างไรก็ดี ถือว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะเฟส 3 เป็นมาตรการที่ต่อยอดจากเฟส 1 และ 2
“ต้องเรียนว่า เท่าที่ทราบ เสียงตอบรับก็ใช้ได้ แต่แตกต่างจากเฟสแรก ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะว่า เราวางแผนแต่ต้นว่า เฟส 3 เป็นการขยายต่อยอดเฟส 1 และ 2 การที่มาตรการนี้จะเป็นอย่างไร ก็ติดตามภาพรวม อย่าดูเป็นเฟสๆ อันนั้น ไม่ใช่ความตั้งใจ แต่ที่ตั้งใจ คือ ทำออกมาแล้วต้องส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”
นายอุตตมกล่าวย้ำว่า ให้การดำเนินการของมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 เดินหน้าต่อไป อย่าไปคิดว่า ไม่ประสบสำเร็จ ต้องให้โอกาสดำเนินการ อะไรที่สมควรปรับก็ปรับไป มองต่อเนื่อง อย่าเพิ่งไปตกใจกับแต่ละจุด เหมือนตอนที่เราเริ่มเฟส 1 ก็บอกว่า จะติด แต่เราก็มาได้
ทำใจจีดีพีปีนี้วืดเป้าหมาย
นายอุตตม กล่าวด้วยว่า การประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2562 ของ สศช. ที่ระบุว่าไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 2.3% ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 3/2562 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมยังเป็นเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป้าหมายจีดีพีในปีนี้จะเติบโตได้ตามระดับที่ สศช. ประเมิน ที่ 2.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 2.8%
“ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มก็ยังมีเวลา เหลืออีก 1 เดือนครึ่ง เพื่อดำเนินการไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.6% ตามที่ สศช. กังวลว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เพิ่มอีกจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามกว่าที่ประเมินไว้” นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวอีกว่า ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เร่งรัดเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไตรมาส 4/2562 เข้ามาเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตรงนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น
สำหรับความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมานั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการเปิดโรงงานมากกว่าการปิด ถึงแม้จะมีการลดกำลังการผลิตลง แต่เม็ดเงินลงทุนของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของช่วงที่ผ่านมา 36.3% ปัจจัยนี้จะเป็นอีกตัวช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
ขณะที่การบริโภค พบว่า ยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยหากดูจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 3 หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนพบว่าไม่ได้รับความนิยมเหมือนระยะก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะมาตรการในระยะที่ 3 เป็นการขยายผล และต่อยอด จึงอยากให้มองในภาพรวมของมาตรการชิมช้อปใช้ทั้งหมดทุกระยะ ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังติดตามและประเมินอยู่
รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือเพื่อติดตามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ได้มีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานเพื่อดูแลเศรษฐกิจ โดยนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย เป็นหน้าที่ของ ธปท. จะตัดสินใจ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การปิดโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท จากระดับ 33 บาท มาเป็น 30 บาท หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% ซึ่งมองว่า ธปท. จำเป็นต้องดูแลเรื่องค่าเงินบาทมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาเติบโตได้เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา