People Unity News : “รองโฆษกพปชร.”โต้”ปิยบุตร”เป็นนักการเมืองแล้วทิ้งความรู้หลักวิชาชีพนักกฎหมาย กล่าวหาผู้พิพากษาใช้ความคิดอุดมการณ์ส่วนบุคคล จี้หยุดประดิษฐ์วาทกรรม “ลอว์แฟร์” หวังทำลายความเชื่อถือของศาลใช่หรือไม่
วันที่ 19 พ.ย.2562 จากกรณียูทูปของพรรคอนาคตใหม่เผยแพร่วิดีโอที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บรรยายกลไกทำงานเกี่ยวกับลอว์แฟร์ หรือ Lawfare หรือการใช้กระบวนการทางยุติธรรมเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง และกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาที่อยู่ในบังลังก์ตัดสินคดีล้วนมีจิตสำนึกที่เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ส่วนบุคคลนั้น น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ หรือ “อ้น” อดีตผู้สมัครส.ส.กทม. และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า อยากถามนายปิยบุตรว่า เหตุใดจึงกล่าวหาผู้พิพากษาและกระบวนการยุติธรรมเช่นนั้น นักกฎหมายต่างๆ รวมถึงผู้พิพากษาต้องมีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว ซึ่งองค์ความรู้ของวิชา LA461 หลักวิชาชีพของนักกฎหมายที่นายปิยบุตรได้เคยเรียนมาแล้วในระดับปริญญาตรีเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ก็เคยสอนไว้ชัดเจนว่า “ในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ผู้พิพากษาจะต้องละความเป็นปุถุชนของตนเอง ทำหน้าที่โดยปราศจากอคติทั้ง 4 พิจารณาคดีเพื่อดำรงความยุติธรรม”
และหากนายปิยบุตรจำความรู้ของวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายได้ ย่อมรู้แก่ใจว่าการกล่าวหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงขอให้หยุดประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองและพรรคพวกในฐานะนักการเมือง หยุดสร้างกระแสชี้นำสังคมเพื่อมุ่งหวัง “บั่นทอนความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม”
“การประดิษฐ์คำและแปลความของคำว่า Lawfare ของนายปิยบุตร ว่ามาจากคำว่า Warfare และ Law มารวมกันเป็น “Lawfare” หมายถึง”นิติสงคราม” น่าจะผิดพลาด เพราะคำว่า “Fare” ไม่ได้แปลว่า สงครามแต่อย่างใด และรัฐบาล ไม่เคยใช้กฎหมายกลั่นแกล้งใคร อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ” น.ส.ทิพานัน กล่าว
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสิ่งที่เรากำลังทำคือการยกระดับสวัสดิการ หรือ “Welfare” ของประชาชน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ควรทำในฐานะนักการเมือง ผู้แทนของประชาชน
ซัด“ช่อ-อนาคตใหม่” ปั่นกระแสป้ายสี “มาดามเดียร์”
น.ส.ทิพานัน ยังกล่าวจากกรณีที่น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกมาแถลงข่าวพาดพิงไปยังนางสาว น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ทำนองว่ามีความเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของสื่อชัดเจน แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดีนั้นว่า น.ส.วทันยาปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องครบถ้วน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าวใดๆของสื่อในเครือเนชั่น จึงขอให้น.ส.พรรณิการ์ ไปทำความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครส.ส.และ ส.ส. ตามมาตรา 98 (3) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร … เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ก่อนที่จะออกมาชี้นำให้สังคมเกิดความสับสนเช่นนี้
เพราะเรื่องนี้น.ส.พรรณิการ์และพรรคอนาคตใหม่เองรู้อยู่เต็มอกว่า น.ส.วทันยา นั้นทำทุกอย่างถูกต้อง เมื่อกระบวนการขั้นตอนถูกต้องตามคุณสมบัติแล้ว จึงไม่มีความผิด และหากน.ส.พรรณิการ์ กับพรรคอนาคตใหม่เห็นว่าน.ส.วทันยา ขาดคุณสมบัติส.ส. ตามมาตราใดของรัฐธรรมนูญ ก็สามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. ได้ แต่เมื่อถึงเวลาใกล้กำหนดวันชี้ขาดกรณีของนายธนาธร กลับไปหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมา หวังปั่นกระแสสร้างความเข้าใจผิด น.ส.พรรณิการ์และพรรคอนาคตใหม่ไม่ควรมาแถลงข่าวบิดเบือนให้ผู้อื่นเสียหายเช่นนี้ น.ส. พรรณิการ์ ควร “ตั้งสติ” รอผลคำตัดสินของศาลเสียก่อนเพราะยังไม่มีใครรู้ว่าผลจะออกมาเป็นคุณหรือโทษต่อพรรคอนาคตใหม่ทั้งนั้น แต่การแถลงข่าวของ น.ส.พรรณิการ์ เมื่อวานนี้ทำให้ประชาชนมีคำถามว่า กระทำเพื่อหวังกดดันกระบวนการพิจารณาคดีของศาลหรือไม่ หรือเป็นการหวังลดความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของไทยหรือไม่
“ขอให้น.ส.พรรณิการ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนพูด รวมถึงข้อมูลต่างๆ เพราะทั้ง น.ส. วทันยา และคู่สมรสไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นสื่อใดๆ ทั้งสิ้น และขอให้หยุดชี้นำสังคมว่า นักการเมืองที่มีบุคคลในครอบครัวทำงานด้านสื่อหรือในอดีตนักการเมืองเคยทำงานด้านสื่อแล้วนักการเมืองท่านนั้นจะมีอิทธิพลต่อสื่อนั้นๆ จะทำให้สื่อออกข่าวให้คุณให้โทษต่อนักการเมืองได้ มิฉะนั้นแล้วหากสังคมถือตามบรรทัดฐานนี้ ประชาชนอาจมองว่าการที่หัวหน้าพรรคการเมืองท่านหนึ่งมีมารดาผู้ให้กำเนิดถือหุ้นสื่อใหญ่ในปัจจุบัน หรือในอดีตโฆษกพรรคการเมืองท่านหนึ่งก็เคยทำงานด้านสื่อ เป็นพิธีกรรายการข่าวและบรรณาธิการข่าว ก็อาจจะมีอิทธิพลต่อสื่อนั้นๆ ด้วยเช่นกัน”น.ส.ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า ขอให้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายที่สุด อธิบายกับน.ส.พรรณิการ์และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ให้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญกำหนดข้อห้ามของคู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะในมาตรา 184 ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น คุณสมบัติของ ส.ส. ตามมาตราอื่น เป็นข้อบังคับเฉพาะตัวของผู้เป็นส.ส. นั้นเอง เช่น มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้น กฎหมายบัญญัติห้ามใครบ้าง ห้ามบุคคลในครอบครัวเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อหรือไม่ กฎหมายไม่ได้ห้ามอดีตผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อเข้ามาเป็นนักการเมือง การที่อดีตเคยทำงานสื่อหรือมีบุคคลในครอบครัวหรือไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะครอบงำสื่อได้
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ประชาชนสงสัยอย่างมากว่า การเคลื่อนไหวต่างๆ ของพรรคอนาคตใหม่ทั้งการแถลงปิดคดีนอกศาล การจัดงานเวทีพรรค การยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำคดีตามหน้าที่ การสร้างกระแสประดิษฐ์วาทกรรมบั่นทอนความน่าเชื่อถือของศาล การแถลงข่าวกล่าวอ้างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญกับบิดเบือนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้น น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีของนายธนาธรซึ่งจะมีการตัดสินคดีในวันพรุ่งนี้ใช่หรือไม่ (20พฤศจิกายน 2562) เพราะตัวนายธนาธรเองคงรู้ข้อเท็จจริงอยู่แก่ใจว่าในขณะที่สมัคร ส.ส. นั้น ได้โอนหุ้นบริษัทวีลัคมีเดียไปแล้วหรือยัง เมื่อจำความอะไรไม่ได้ในศาล ไม่มีพยานหลักฐานที่เป็นความจริงพิสูจน์ว่าตนโอนหุ้นไปแล้ว จึงพยายามสร้างกระแสอื่น ชี้นำสังคมเพื่อให้เป็นคุณประโยชน์แก่ตนเองหรือเปล่า