People Unity News : ที่ปรึกษา”ชวน”ยันประชุมนัดพิเศษ 22 พ.ย.ไร้วาระรธน. แจงกฎเหล็กไม่ล้วงลูก กมธ. แค่ลดความซ้ำซ้อน อัด จิรายุ อย่ากล่าวหาบิดเบือน “ชวลิต”หวังทุกฝ่ายถอยคนละหลายก้าว ส่งสัญญาณแก้ รธน.สร้างความเชื่อมั่นประเทศ ทางด้าน “อนุสรณ์” ชี้ควบคุมตัวนักการเมืองเรียกปรับทัศนคติ ไม่มีใครว่าพอ กมธ.เชิญมา ปัญหาเยอะ
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การประชุมสภาฯในวันที่ 20-21พ.ย. มีเรื่องรับทราบจำนวน 5 เรื่อง ดังนั้น การพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทันภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของส.ส.ในเรื่องการรับทราบที่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ 5 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีญัตติด่วน เรื่อง การคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 จากนั้นถึงจะถึงการพิจารณาญัตติการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นพ.สุกิจ กล่าวว่า การประชุมสภาฯนัดพิเศษวันที 22 พ.ย.เป็นเฉพาะการพิจารณาญัตติทั่วไปที่ค้างอยู่เท่านั้น โดยไม่มีการพิจารณาญัตติที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
แจงกฎเหล็กไม่ล้วงลูกกมธ. แค่ลดความซ้ำซ้อน
นพ.สุกิจ พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกระเบียบสภาฯด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562
นพ.สุกิจ กล่าวว่า สาเหตุที่มีการการออกระเบียบดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯพ.ศ.2562 ข้อ 90 วรรคสี่และวรรคหกที่กำหนดให้ประธานสภาฯออกระเบียบดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามข้อบ้งคับการประชุมสภาฯที่ว่าด้วยการให้คณะกรรมาธิการสามัญต้องรายงานเรื่องใดๆให้ประธานสภาทราบ ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาฯมาจากความเห็นชอบของที่ประชุมสภาฯ ดังนั้น ระเบียบที่ออกมาจึงไม่ได้เป็นเรื่องการใช้อำนาจของประธานสภาฯโดยตรงแต่อย่างใด เพราะเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ การที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาลองค์กรอิสระองค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การ มหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาพูดกล่าวหาประธานสภาฯ จึงเป็นการอ่านข้อบังคับการประชุมสภาฯไม่ครบและไม่รู้ข้อเท็จจริง
“ระเบียบดังกล่าวประธานสภาฯไม่ได้เขียนขึ้นมาเอง แต่ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ร่างระเบียบดังกล่าวออกมา และไม่ได้เป็นการใช้อำนาจประธานสภาฯในการแทรกแซงแต่อย่างใด อีกทั้งระเบียบลักษณะนี้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2552 สมัยท่านชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาฯ การรายงานเช่นนี้จะมีประโยชน์ คือ การทำให้ประธานสภาฯได้ทราบว่ามีคณะกรรมาธิการไหนทำงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่” นพ.สุกิจ กล่าว
สำหรับกรณีที่นายจิรายุ คัดค้านการประชุมสภาฯในวันที่ 22 พ.ย. เพราะมองว่าเป็นการหลอกให้กรรมาธิการมารายงานเรื่องที่จะทำต่อสภาฯ นพ.สุกิจ กล่าวว่า การที่นายจิรายุกล่าวหาเช่นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการประชุมสภาฯวันที่ 22 พ.ย.เป็นการพิจารณาญัตติที่ค้างการพิจารณาเท่านั้น หากไม่มีการประชุมนัดพิเศษในวันที่ 22 พ.ย.จะทำให้ญัตติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาเลย
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การทำงานของสภาฯเวลานี้เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น ระเบียบที่ประธานสภาฯออกมานั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. โดยขณะนี้มีคณะกรรมาธิการบางคณะได้รายงานประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเข้าไปให้ประธานสภาทราบบ้างแล้ว
“วันนี้สภาฯและสังคมต้องการคนที่ดีไปบริหารบ้านเมือง ประธานสภาฯตั้งใจทำงานให้กับประชาชน ขอร้องว่าอย่านำเรื่องนี้ไปบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ขอให้คุณจิรายุแสดงความรู้ความสามารถออกมาให้เห็น” นายสมบูรณ์ กล่าว
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมาธิการต่างๆ ว่า ตนเห็นด้วยและสนับสนุนการออกระเบียบดังกล่าว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯโดยตรง ที่สามารถออกระเบียบเกี่ยวกับกิจการใดๆของสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ข้อบังคับการประชุมสภา นับว่าเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง ที่ประธานสภาได้จัดระเบียบการทำงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวของกับกิจการของรัฐสภา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการทำงานของระบอบรัฐสภาต่อไป
ผมเชื่อว่านายชวน เป็นนักกฎหมาย แม่นข้อบังคับ จะไม่มีการกระทำความผิดตามมาตรา157อย่างแน่นอน เพราะการออกระเบียบในครั้งนี้ เป็นการออกระเบียบตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ90 ไม่ใช่การลุแก่อำนาจ หรือทำไปตามอำเภอใจ เพื่อกลั่นแกล้งใครคนใดคนหนึ่ง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะใช้เป็นแบบอย่างหรือแนวทางการทำงานของคณะกรรมาธิการทุกคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาชุดนี้ มีประธานคณะกรรมาธิการ ที่มาจาก ส.ส.สมัยแรกจำนวนมากถึง11คณะ ซึ่งยังขาดประสบการณ์ในการทำหน้าที่ เพราะไม่เคยนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการมาก่อน ถ้าไม่มีการวางกรอบหรือแนวทางในการทำงานให้เป็นอย่างที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การทำงานของคณะกรรมาธิการไม่บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมย์ของข้อบังคับการประชุมสภา และรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้
สำหรับสภาชุดนี้ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา ซึ่งเปรียบเสมือนประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ นายชวนได้วางตัวเป็นกลาง และปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมทุกประการ เป็นส.ส.ที่มีอาวุโสสูงสุดในสภา ได้เห็นการทำงานของสภามาเป็นเวลายาวนาน เป็นที่เคารพนับถือของสมาชิกรัฐสภาทุกคน ท่านเป็นเหมือนครูใหญ่ของ ส.ส.ทั้งสภา อยากให้เพื่อน ส.ส.ทุกคนได้ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนภารกิจที่สำคัญในขณะนี้ คือการกอบกู้ศรัทธา และเรียกความเชื่อมั่นของรัฐสภากลับคืนมาให้เร็วที่สุด
“ชวลิต”หวังทุกฝ่ายถอยคนละหลายก้าว ส่งสัญญาณแก้ รธน.สร้างความเชื่อมั่นประเทศ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับความจริง เห็นสัจธรรมร่วมกันว่า การมีกติกาบ้านเมือง คือ รธน.ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และออกแบบมาเพื่อให้ระบบการเมืองไม่มีเสถียรภาพ นั้น ในมุมหนึ่งอาจเป็นประโยชน์ในทางการเมืองกับภาคการเมืองกลุ่มหนึ่ง แต่ในภาพรวมของประเทศกลับสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล คือ “ประเทศขาดความเชื่อมั่น” ส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ๆ ลงอย่างน่าใจหาย ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และไม่มีทางแก้ไขได้ หากไม่ร่วมมือกันทุกภาคส่วนสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา อย่าไปสงสัยว่า กว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณมากมายมหาศาล แต่ทำไมเศรษฐกิจกลับฝืดเคือง ยิ่งใช้เงินมาก คนจนยิ่งเพิ่มขึ้น ๆ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะประเทศของเราไม่ได้รับความเชื่อมั่น มีแต่การลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ประเทศจึงเหมือนกับคนพิการ เดินขาเดียว ไปไม่รอด ไม่มีทางทันเพื่อน และจะถูกทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้แก้ที่หัวใจของปัญหา คือ การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ให้เป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ
ขณะนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ภาคส่วนต่าง ๆ เริ่มพูดคุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับญัตติขอแก้ไข รธน.ซึ่งรอการพิจารณาอยู่ในสภา ฯ เห็นมีการชิมลางปล่อยชื่อ กมธ.ออกมาบ้างแล้ว มีการให้ความเห็นหลากหลายมุมออกมามากขึ้น ๆ สะท้อนว่าการแก้ รธน.อยู่ในกระแสของสังคมระดับหนึ่งแล้ว ในฐานะที่ผมเป็น ส.ส.เขต ได้ลงพื้นที่ทั้งในเขตตัวเอง และไปในต่างจังหวัดหลายจังหวัด พบว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่จมลึกลงไปเรือย ๆ จนยากจะเยียวยา หากทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือกันฟื้นสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา
หากรัฐบาล และ ส.ว.ซึ่งเป็นองค์กรตาม รธน.ที่มีส่วนสำคัญว่าจะแก้ไข รธน.สำเร็จหรือไม่ เห็นความเดือดร้อนของประชาชนในปัญหาเศรษฐกิจที่ยากจะเยียวยา แล้วร่วมมือกันกับภาคส่วนต่าง ๆ ส่งสัญญาณที่จะแก้ไข รธน.ให้เป็น รธน.ของประชาชน ผมมั่นใจว่า ความเชื่อมั่นจะฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว เพราะประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้ามีการปรับพื้นฐานทางด้านการเมืองให้มีเสถียรภาพ ประเทศไทยก็ไม่เป็นสองรองใครในภูมิภาคนี้ ผมหวังว่า เมื่อบ้านเมืองเดือดร้อน ประชาชนเดือดร้อนในปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องอย่างยิ่งดังกลาวข้างต้น ความสามัคคีที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นประเทศจะเกิดขึ้นในการพิจารณาญัตติขอแก้ไข รธน.ในสภา ฯ โดยเร็วที่สุด
“อนุสรณ์”ชี้ควบคุมตัวนักการเมืองเรียกปรับทัศนคติ ไม่มีใครว่าพอ กมธ.เชิญมา ปัญหาเยอะ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกประกาศระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ระเบียบดังกล่าว ออกมาภายหลังเกิดปัญหา กรณีกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ออกหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ถึง 3 ครั้งแล้วไม่มา การออกคำสั่งเช่นนี้ของประธานสภาผู้แทนราษฎร สุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงภารกิจตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการ และอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พรรคพลังประชารัฐเขาจะปั่นป่วนวุ่นวาย กวนน้ำให้ขุ่นอย่างไร เพื่อหวังจะอุ้มพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ให้รอด ก็เป็นเรื่องของพรรคเขา แต่ท่านประธาน อย่าไปเกี่ยวแฝกมุงป่า กับเขาเลย ท่านเป็นประธานสภาฯ เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ การดำเนินการอะไร ที่อาจถูกมองว่าอาจตกเป็นเครื่องมือของพรรคพลังประชารัฐ ท่านต้องระมัดระวัง
“5 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐประหาร คสช. เรียกนักการเมืองไปควบคุมตัว แล้วบอกกับสังคมว่า เป็นการปรับทัศนคติ ไม่มีใครว่า แต่พอกรรมาธิการซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน เชิญพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร มาให้ข้อมูลกับกรรมาธิการบ้าง กลับไม่กล้ามา ไม่รู้จะกลัวอะไรนักหนา” นายอนุสรณ์ กล่าว