People Unity News : ตรวจแล้วมีพิรุธ! “พรรณิการ์” ชี้ “มาดามเดียร์” เคยถือหุ้นเนชั่นจริง – พบยื่นแบบ บมจ.6 เปลี่ยนรายชื่อผู้ถือหุ้นหลังสมัครรับเลือกตั้ง 10 เดือน – ส่งทนายร้อง กกต. ใช้มาตรฐานเดียวกันจัดการ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวถึง กรณี น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ “มาดามเดียร์” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แจ้งความเอาผิดฐานใส่ร้าย บิดเบือนกับตนเอง กรณีที่เคยแถลงข่าวระบุเคยถือหุ้นสื่อเครือเนชั่น และมีสามีเป็นผู้บริหารรับดับสูงมาก ซึ่งตอนนี้ศาลรับไต่สวนมูลฟ้องแล้วนั้น โดยระบุว่า ทางทีมงานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้พบว่าน.ส.วทันยาเคยถือหุ้นบริษัทในเครือเนชั่นจริง
ดังนั้น ที่บอกว่าตนเองใส่ร้าย จนให้ทนายไปฟ้องและศาลรับไต่สวนมูลฟ้องแล้วนั้น ถามกลับเมื่อข้อเท็จจริงว่าเคยถือหุ้นเครือเนชั่น และคู่สมรสเป็นผู้บริหารระดับสูงมากดังกล่าว การที่กล่าวหาว่าตนทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จะเอามูลฟ้องจากไหน และนอกจากนี้ เราได้พบข้อมูลน่าสนใจด้วย เกี่ยวกับการโอนหุ้นสื่อของคุณวทันยา
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า การโอนหุ้นเมื่อเสร็จแล้วต้อง แจ้งสำเนาเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกระทรวงพาณิชย์ ในบริษัททั่วไปอย่างวีลัค เรียก บอจ.5 ส่วนบริษัทมหาชนอย่างเครือเนชั่น เรียก บมจ.6 กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยล่าสุดว่า การแจ้ง บอจ.5 ต่อกระทรวงพาณิชย์ กรณีหุ้นสื่อบริษัทวีลัค ล่าช้า ถือว่ามีข้อพิรุธว่าจะไม่มีการโอนหุ้นก่อนมีการรับสมัครรับเลือกตั้งนั้น เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 หรือหลังการรับสมัครเลือกตั้ง 1 เดือน แต่กรณีการแจ้ง บมจ. 6 คือ สำเนาเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเครือเนชั่นนั้น แจ้งในเดือนกันยายน 2562 คือ 6 เดือน หลังการรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งถ้ากรณีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีคำถามน่าสนสัยว่าทำไมล่าช้า กรณีคุณวทันยายิ่งน่าสงสัยว่า เหตุใดเครือเนชั่นแจ้งล่าช้าถึง 6 เดือน
“ด้วยเหตุนี้ ได้ให้ทนายความไปยื่นข้อร้องเรียนต่อ กกต. เรียบร้อย ให้ใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับคดีคุณธนาธร ในการตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อเอาผิดต่อคุณวทันยา เพราะมีหลักฐานเป็นผู้ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ โดยยึดตาม บมจ.6 และยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญระงับการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. รวมถึง ขอให้ กกต.ดำเนินการทางอาญาตามมาตรา 151 ต่อคุณวทันยาด้วย ซึ่งโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี หรือตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน และเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธาณะว่า คดีถือหุ้นสื่อ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ระหว่างนักการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมถึงเจตนารมย์รัฐธรรมนูญได้รับการตอบสนอง โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นนักการเมืองฝ่ายผู้มีอำนาจหรือท้าทายผู้มีอำนาจ” น.ส.วทันยา กล่าว