People Unity News : รัฐบาลสั่งธนาคารเตรียมเงินสดเพียงพอ รองรับความต้องการของประชาชนในสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวานนี้ (23 มี.ค.2563) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายสมคิด จันทมฤก  โฆษกกระทรวงมหาดไทย ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร และนางภานิณี มโนสันติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้พำนักอยู่ที่บ้าน งดการเดินทางไปต่างจังหวัด  อย่างไรก็ตาม การประกาศปิดถานที่ต่างๆเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 ส่งผลให้พี่น้องประชาชนหรือแรงงานต่างด้าวที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบันเทิง สถานที่ต่างๆ เดินทางกลับยังภูมิลำเนาของตนเอง  ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถห้ามประชาชนเดินทางกลับได้ แต่ได้มีมาตรการการรองรับคือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้จัดทำแผนปฏิบัติการค้นหาเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระดับจังหวัด อำเภอและหมู่บ้าน คัดกรองผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้คัดแยกตัวและสังเกตการณ์ 14 วันตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่ยังไม่เดินทางกลับยังภูมิลำเนาให้อยู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปก่อน เพราะอาจไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ หากกลับไปภูมิลำเนาอาจนำเชื้อกลับไปยังครอบครัวของตนเอง ในส่วนของการเยียวยานั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการต่างๆในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อเยียวยาดูแลพี่น้องประชาชน สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมมีมติลดอัตราสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนเหลือ 4% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ขยายระยะเวลาส่งเงินสมทบงวดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ไปอีก 3 เดือน และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สำนักงานประกันสังคมจ่ายอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 80 วัน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนได้มีการบริจาคเวชภัณฑ์ให้กับทางรัฐบาลไทยมีการบริจาคชุดตรวจเชื้อ จำนวน 20,000 ชุด หน้ากากอนามัย จำนวน 100,000 ชิ้น หน้ากากอนามัย ประเภท N 95 จำนวน 20,000 ชิ้น ชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE : Personal Protective Equipment) จำนวน 20,000 ชุด

จากนั้น ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้ายหรือช่วงเวลาทองคำ (golden period) ซึ่งจะชี้ชะตาว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงเร่งออกมาตรการสกัดการเคลื่อนย้ายหรือห้ามคนไม่ให้ออกมาทำกิจกรรม โดยปิดสถานที่ รวมทั้งหมด 4 คำสั่ง โดยคำสั่งที่ 1 สั่งปิด 8 สถานที่ เช่น สนามมวย สถานบริการ และเพิ่มเติมปิดสถานที่ตามคำสั่งที่ 2 รวมทั้งหมด 26 สถานที่ คำสั่งที่ 3 เป็นการขยายความคำสั่งที่ 2  และคำสั่งที่ 4 เป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อไป โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน โฆษกกรุงเทพมหานครยังอธิบายเพิ่มเติมถึง ประเด็น “ห้างสรรพสินค้า” เป็นภาษากฎหมายครอบคลุมถึง ห้างทุกประเภท ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์  ส่วนธนาคารในหรือนอกห้างเปิดบริการตามปกติ ประเด็นร้านอาหาร ทุกๆที่สามารถเปิดบริการได้เหมือนเดิมเพียงแต่ต้องซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น ยกเว้นสนามบินเนื่องจากต้องรองรับผู้โดยสาร แต่ให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่าง กรณีภาพคนแออัดที่สถานีขนส่งหมอชิตหลังคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนานั้น พบว่าร้อยละ 90 เป็นชาวลาว พม่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่าน อีกร้อยละ 10 เป็นชาวไทยผู้ที่เดินทางกลับต่างจังหวัด พบว่าเพิ่มเพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิตในแต่ละวันแล้ว โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการไม่ออกจากบ้าน

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดครั้งนี้รุนแรงและแพร่กระจายไปทั่วโลก คาดว่า ยังคงระบาดเป็นเวลาระยะยาว ดังนั้น ต้องช่วยกันบรรเทาสถานการณ์ อยากเห็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่ทางการแพทย์ได้กลั่นกรอง สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ทางอากาศระยะไกลในรูปแบบละอองฝอย โอกาสเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กลุ่มผู้ป่วย เช่น ไอรุนแรง โรคหอบ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมีการใส่เครื่องช่วยหายใจ แพทย์จะแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบ N95  ขณะที่คนส่วนมากมีการแพร่กระจายเชื้อโรคทางอากาศจะเป็นแบบละอองใหญ่ อยู่ในระยะ 1 – 2 เมตร จึงได้รณรงค์เว้นระยะห่างทางสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้แนะนำผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ทยอยกลับ อย่ากลับเป็นกลุ่มก้อน เพราะจะเกิดความแออัด ง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อถึงบ้านขอให้ล้างมือเป็นอันดับแรก จากนั้นอาบน้ำเปลี่ยนชุดใหม่แล้ว ใส่หน้ากากอนามัย จึงค่อยทักทายญาติผู้ใหญ่ในบ้าน พร้อมระวังตนเอง เฝ้าสังเกตอาการกักตัว 14 วัน หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที

โอกาสนี้ นายสมคิด จันทมฤก  โฆษกกระทรวงมหาดไทย ยังได้แถลงแผนรองรับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงนี้ว่า กระทรวงมหาดไทยประสานงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แต่งตั้งคณะทำงานประกอบไปด้วย กำนัน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและนายอำเภอ ซึ่งจะกระจายไปทุกหมู่บ้าน ทุกชมชน โดยมีแนวทางทำงานขั้นตอนแรก จัดทำข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าประชาชนเดินทางมาจากส่วนไหนของกรุงเทพมหานครและภูมิลำเนาอยู่ที่ใด ขั้นตอนถัดมาจะ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่เดินทางกลับมา เว้นระยะห่างทางสังคม งดใช้สิ่งของร่วมกัน หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน รวมถึงคนในพื้นที่ชุมชนช่วยกันดูแล หากสงสัยว่าผู้ที่อยู่ในช่วงเฝ้าสังเกต มีอาการป่วยให้รีบแจ้งคณะทำงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณะสุขรีบเข้าไปดำเนินการทันที นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ อุปกรณ์วัดไข้ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย สำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการเฝ้าสังเกตอาการ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และจะถูกดำเนินคดี

จากนั้น นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ยืนยันมีเงินสดมีเพียงพอให้บริการแก่ประชาชนในสภาวะฉุกเฉิน โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ให้บริการในหลายช่องทาง อาทิ ระบบตู้เอทีเอ็ม ธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 54,000 ตู้ ทั่วประเทศมีปริมาณเพียงพอสำหรับประชาชนที่จะมาทำการ เบิก-ถอน หรือทำธุรกรรมต่างๆ โดยจะเติมเงินอย่างสม่ำเสมอ สาขาธนาคารเปิดให้บริการตามปกติทั้งในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้า โดยเน้นเฝ้าระวัง กำหนดระยะห่างเข้าแถวที่ชัดเจน เนื่องจากบางสาขาสถานที่ไม่กว้างขวาง  นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Internet Mobile Banking ในการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งมีประชาชนหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่มีค่าบริการ รวมทั้งสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้อีกด้วย  นอกจากนี้ ยังพิจารณาสถานะทางการเงินของลูกค้าที่ถดถอย จากสภาวะ การค้าขายมีหยุดชะงัก ให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารมีการเจรจากับลูกค้าถึงมาตรการต่างๆ เช่น กรณีพักชำระเงินต้นนั้น เพิ่มสภาพคล่อง ฟื้นฟูธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์กับภาครัฐ โดยภาครัฐจัดสินเชื่อ Soft Loan ผ่านทางธนาคารออมสินสำหรับธนาคารพาณิชย์กู้เพื่อนำไปปล่อยสินเชื้อให้ประชาชน ในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการความช่วยเหลือ เช่น เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตชั่วคราว รับมาตรการด้านสินเชื่อ สามารถติดต่อ  Call Center ของธนาคารพาณิชย์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ นางภานิณี มโนสันติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคาสงเคราะห์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณโควิด-19 ว่า  ธนาคารฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ให้สามารถผ่อนชำระหนี้กับธนาคารต่อไปได้ โดยลูกหนี้รายย่อยในส่วนของการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก่อนนั้น ได้ออกมาตรการผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 4 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มท่องเที่ยวให้ผ่อนชำระต่อไปได้และสามารถมีเงินเหลือในการดำรงชีวิต โดยจะต้องแสดงหลักฐานในการถูกลดค่าจ้างหรือวันทำงานให้ธนาคารฯสามารถพิสูจน์  สามารถยื่นความประสงค์ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  สำหรับกรณีได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น กรณีกรุงเทพมหานครออกประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ทำให้มีผู้ค้าบางส่วนหรือลูกจ้างของผู้ค้าบางส่วน ถูกลดวันทำงานหรือการจ้างลง หากลูกค้าอยู่ในช่วงของการใช้อัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นคือดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารฯ สามารถผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้ 6 เดือน แต่ถ้าอยู่ในช่วงปรับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ธนาคารก็จะมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ โดยระยะเวลาในการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 6 เดือนเช่นกัน สามารถยื่นความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563  ทั้งนี้ สองมาตรการมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังเพิ่มความสะดวกในการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ผ่านบริการ GHB ALL Mobile Application Banking เพื่อชำระหนี้ผ่านโทรศัพท์มือถือแทนการชำระหนี้ที่ธนาคารหรือชำระหนี้ตามร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆ เพื่อลดความแออัดไม่ให้คนไปรวมกันจำนวนมากเมื่อชำระหนี้แล้วสามารถดูการชำระตัดต้นตัดดอกจากใบเสร็จบนมือถือได้ทันที

ปัจจุบันธนาคารฯมีลูกค้าประมาณ 1 ล้านราย ส่วนมากลูกค้าปล่อยกู้เป็นระดับล่างถึงปานกลาง วงเงินกู้สูงสุดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 ล้านบาท และระดับทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 3 – 5 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องใช้เงินจากมาตรการดังกล่าวประมาณ 20% – 30% และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นในลักษณะการกู้ร่วม ซึ่งผู้กู้ร่วมบางรายยังมีอาชีพหรือมีรายได้ที่เพียงพอสามารถผ่อนชำระได้ จึงอาจไม่ได้ใช้มาตรการนี้ทั้งหมด

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการยกระดับมาตรการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ โดยให้ยาเบาจนกระทั่งเป็นยาแรง หากมีความจำเป็นก็จะใช้ยาแรงมากกว่านี้  โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมตัดสินใจใช้มาตรการที่เข้มข้นสูงสุด โดยจะรับข้อมูลรอบด้านเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้  นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชน โดยธนาคารรัฐและธนาคารเอกชนร่วมกันแก้ปัญหาด้านสินเชื่อ พักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยต่างๆ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังจะมีมาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดาตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.นี้ หลังจากนั้นผู้ประกอบการที่ใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จะจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ วันพุธนี้จะมีการลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา อีกทั้ง กระทรวงที่เกี่ยวข้องนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ลงไปดูแลลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ต่างๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคณะกรรมการประกันสังคมได้ประชุมหารือกันมีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตนจาก COVID-19 การดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิ์  ไม่เสียค่าใช้จ่าย การจ่ายเงินชดเชยในช่วงที่ไม่มีการจ้างงาน สิทธิในการลางาน วันพรุ่งนี้จะมีมาตรการเยียวยาส่วนลูกจ้างที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการเหล่านี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อจะดูแลลูกจ้างที่เรียกว่า หาเช้ากินค่ำหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสายด่วนประกันสังคม 1506

โฆษณา