People Unity News : นายกรัฐมนตรีมอบวิสัยทัศน์แก่ ครม. ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่เศรษฐกิจ BCG พร้อมแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโนบายแก่คณะรัฐมนตรี ในการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคต และเร่งขับเคลื่อนมาตรการทางเศรษฐกิจในปี 2564 ด้วยการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่แนวโน้มใหม่ของโลกตามแนวทาง 4 Ds ได้แก่ Digitalization ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการทำงาน Decarbonization ลดการปล่อยแก๊ส Co2 Decentralization เพิ่มการเคลื่อนที่ของคน การวิจัย บริหาร และการค้า และสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหารและยา รวมถึงพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงสุดเพื่อต่อยอด 4 Ds ไปยังตลาดโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้เร็วที่สุด ซึ่งได้เริ่มเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ไปแล้ว เพื่อให้กลุ่มต่างๆเข้ามาใช้ประโยชน์ อาทิ การให้บริการโรงพยาบาล สาธารณสุข การศึกษา ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ด้วย ซึ่งการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันพบว่าดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากมาตรการทางเศรษฐกิจ การได้รับความเชื่อมั่นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเผยถึงการจัดทำแผนงานโครงการแบบ Bottom-Up ผ่านกลไกการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่น ทั้งจังหวัด อบต. อบจ. เพื่ออนุมัติโครงการจากรัฐบาล แต่จะต้องมีรายละเอียดแผนงานโครงการที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการทุจริตและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยในวันนี้ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและลดภาระประชาชน ให้ประชาชนได้สามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมาย โดยแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดอัตราปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นอัตราร้อยละสามต่อปี และแก้ไขเพิ่มเติมกรณีผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเก่า ปรับจากอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นอัตราร้อยละห้าต่อปี เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการชำระหนี้
Advertising