People Unity News : อุตุฯ ยืนยันปริมาณน้ำฝนปีนี้ น้อยกว่าปี 2554 รวมถึงอิทธิพลจากมรสุมที่เผชิญ ย้ำการบริหารจัดการและการระบายน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ประชาชนติดตามต่อเนื่อง

30 กันยายน 2564 นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยัน สถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 กับปี 2564 มีความแตกต่างกัน

1.หากวิเคราะห์จากสถิติข้อมูลอุตุนิยมวิทยา พบว่าภาพรวมของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กับปี 2564 จะมีความแตกต่างกัน เปรียบเทียบปริมาณฝนที่ตกระหว่าง ม.ค.- ก.ย.พบว่า ปี 2554 ปริมาณฝนเกือบทุกภาคสูงกว่าปี 2564 ยกเว้นภาคตะวันออกที่ปี 2564 สูงกว่าปี 2554 เล็กน้อย และในภาพรวมทั้งประเทศพบว่า ปี 2554 มีฝนมากกว่า ปี 2564 ถึง 20%

2.เปรียบเทียบพื้นที่และการกระจายของฝน ตั้งแต่ช่วงก่อนและเข้าสู่ฤดูฝน พบว่า ในปี 2554 พื้นที่ที่มีฝนตกและตกต่อเนื่อง ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมากในลุ่มน้ำสายหลัก รวมทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เต็มความจุตั้งแต่ต้นปี และในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน การระบายน้ำสามารถทำได้น้อยเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ขณะที่ในปี 2564 ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เม.ย.- ต้น พ.ค.) การกระจายฝนดี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนพบว่า ปริมาณฝนที่ตกน้อยลง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึง มิ.ย.มีปริมาณฝนน้อยและบางพื้นที่มีฝนทิ้งช่วงหลายสัปดาห์

3.เปรียบเทียบอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน พบว่าในปี 2554 มิ.ย.ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และในช่วงปลาย มิ.ย.2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “ไหหม่า” ในประเทศลาว ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ต่อมา ก.ค.2554 ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “นกเตน” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณ จ.น่าน นอกจากนี้ ยังได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากพายุอีก 3 ลูก ได้แก่ พายุ ไห่ถาง เนสาด และนัลแก ขณะที่ในปี 2564 ช่วงปลายฤดูฝน เดือน ก.ย.มีพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยเพียงลูกเดียวคือ พายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยมากที่ กทม.และจังหวัดใกล้เคียงจะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการระบายน้ำเป็นสำคัญ

Advertising