People Unity News : 5 เมษายน 65 เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประชากรโลกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 สูดอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
แม้ปัจจุบันเมืองมากกว่า 6,000 แห่งใน 117 ประเทศจะเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศ แต่ประชาชนในเมืองเหล่านั้นยังคงสูดดมอนุภาคขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับอันตราย โดยประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญผลกระทบดังกล่าวสูงสุด
องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้มาตรการอันเป็นรูปธรรมอื่นๆ เพื่อลดมลพิษในอากาศ โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูง ความมั่นคงทางพลังงาน และการเร่งรับมือความท้าทายจากมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการก้าวสู่โลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงเร็วขึ้น
อนึ่ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพีเอ็ม2.5 (PM2.5) สามารถแทรกซึมเข้าปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด
องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันได้สูงเกิน 13 ล้านราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 7 ล้านราย
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำการสร้างระบบและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยา ซึ่งเหมาะสมกับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการขยะของเสียที่ดีขึ้น การลดการเผาขยะทางการเกษตรและกิจกรรมวนเกษตรบางส่วนอย่างการผลิตถ่านไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศและสุขภาพ
Advertisement