People Unity News : วันนี้ 1 พฤษภาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2565 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงข้าราชการกระทรวงแรงงาน ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้การต้อนรับ
นายสุชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลและกำกับกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถึงแม้ว่าประเทศไทยและประเทศทั่วโลกยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานยังมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ ได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงให้มีความปลอดภัยในทำงาน รวมถึงการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบ กลุ่มเปราะบาง ยกระดับการประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่ความมั่นคง ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายสุชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันแรงงานในปีนี้ทั้ง 8 ข้อ ได้แก่
1) ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง
2) ให้เร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน
3) ให้ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
4) ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
5)ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม
6) เร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้
7) ให้จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจ
และ 8) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2565
“กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะจากพี่น้องแรงงานโดยจะนำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนาการให้บริการพี่น้องแรงงาน และได้ประสานแจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทราบถึงความคืบหน้าแล้ว เพราะตระหนักว่าทุกข้อเสนอแนะจะนำมาซึ่งการปรับปรุงการดำเนินการของกระทรวงแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องแรงงาน และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศสืบไป ซึ่งการดำเนินการของกระทรวงแรงงาน มีดังนี้ การปฏิรูปการประกันสังคมในส่วนของการขยายอายุผู้ประกันตน มาตรา 40 เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุนั้น จากเดิมไม่เกิน 60 ปีเป็นไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ใน ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ การเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบนั้น ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพมีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป การรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับแล้ว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.62 และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.63 เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วจะนำเสนอให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าวได้ การให้สถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดทำแนวปฏิบัติของพนักงานตรวจแรงงาน กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด และชี้แจงนายจ้างให้ปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้ายนั้นกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง พิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยและงดจ่ายภาษีกรณีเงินออกจากงาน และขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ หากมีการแก้ไขจะมีผลบังคับใช้ทั้งลูกจ้างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจโดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งได้ดำเนินการจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษา ปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน” รมว.แรงงาน กล่าว
Advertisement