People Unity News : 29 ตุลาคม 2565 โฆษกรัฐบาล เผยสถานการณ์ความยากจนในไทย ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายสำคัญรัฐบาล ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม แก้ปัญหาแบบมุ่งเป้าให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีคนยากจนจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 6.32 ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนคนยากจนร้อยละ 6.83 ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจนก็พบว่าในปี 2564 ครัวเรือนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนประมาณ 1.40 ล้านครัวเรือน
นายอนุชา กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เน้นพุ่งเป้าให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุชัดว่า หากรัฐบาลไม่มีโครงการช่วยเหลือเยียวยา จำนวนคนจนจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 11 ล้านคน
นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังเผยให้เห็นว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ 5.5 แสนคน ปรับตัวลดลงจาก 6.08 แสนคนในไตรมาส 1 ของปี 2565 หรือลดลงประมาณ 5.8 หมื่นคน โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยยกเว้นการกักตัวของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในบางสาขาเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม
นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาทั้งในแบบภาพรวม และแบบเจาะจงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของความยากจน 8 เรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ SMEs) การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งเป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยได้วางกลไกครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งในระดับปฏิบัติ หรือในระดับพื้นที่ จะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาในแต่ละมิติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัว เช่น มิติสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง มิติความเป็นอยู่ ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มิติการศึกษา ฝึกอาชีพ มิติด้านรายได้ การจัดหาที่ดินทำกิน วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น
Advertisement