People Unity News : 18 พฤศจิกายน 2565 “ปธน.มาครง” ปาฐกถาเวที APEC CEO Summit 2022  ชี้การสร้างสันติภาพและความมั่นคงคือกุญแจสำคัญ ช่วยโลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายจากความท้าทายใหม่ ด้านผู้ว่าฯ ททท. ประกาศแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

การประชุม APEC CEO Summit 2022  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565  ที่ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล เวทีคู่ขนานกับเวทีประชุมเอเปค 2022 การประชุมในวันนี้เป็นวันสุดท้าย โดยนายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ กรรมการบริหาร  การประชุม APEC CEO Summit 2022 กล่าวต้อนรับ โดยระบุว่าการประชุม APEC CEO Summit 2022 เป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำทางความคิดมาร่วมกันหาทางออกสำหรับอนาคตของเรา

ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ  Mr.Krishna Srinivasan  กรรมการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  ในประเด็น Achieving Economic Resilience in APEC”

นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การนำทางผ่านโลกที่ปั่นป่วนวุ่นวาย”  โดยชี้ว่า หลังจากที่โลกผ่านวิกฤติโควิด-19 มา ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ 3 อย่าง คือ สงคราม ที่ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานและอาหารตามมา สองคือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในโลก ที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลง และสามคือ ปัญหาสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

“ความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นปัญหาของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข และการมีกฎกติกาโลกที่ทุกฝ่ายปฏิบัติร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าการสร้างสันติภาพและความมั่นคง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายนี้ไปได้ การเจริญเติบโตของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียม” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

จากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ “การสร้างความเท่าเที่ยมทางเพศเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต”  ที่มีซีอีโอชั้นนำของไทยเข้าร่วม ได้แก่ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย Ms. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mr. Timothy D. Dattels สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) แคนาดา

การประชุมในช่วงเช้าจบลงที่การบรรยายในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ว่านับตั้งแต่ไทยเปิดประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 8.5 ล้านคน และ ททท.ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากรายได้ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 80% ทั้งนี้ ททท.จะเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการเน้นที่ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว เป็นการเน้นให้นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง

“ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่เน้นความรู้และประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเฉพาะทาง เช่น การท่องเที่ยวที่เน้นกีฬา หรือการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ซึ่งจะพยายามทำงานโดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยตั้งเป้าให้ทุกฝ่ายได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ยุติธรรม นอกจากนี้ ททท. จะผลักดันการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยและการปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวางแผนประกาศให้เกาะหมาก เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศ” ผู้ว่า ททท. กล่าว

Advertisement