People Unity News : 20 มกราคม 66 ทำเนียบรัฐบาล – โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ห่วง ปชช.ถูกหลอกในโลกออนไลน์ สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการงานเร่งปราบเด็ดขาด จริงจัง
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากอาชญากรรมรูปแบบดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง เด็ดขาด
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการดำเนินงาน เดินหน้าปราบปรามการลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศผิดกฎหมาย แก้ปัญหาซิมผี และบัญชีม้า โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เดินหน้าปราบปราม โดยมีความคืบหน้า ดังนี้ 1. การแก้ปัญหาการลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศผิดกฎหมาย กสทช. ได้กำชับผู้ให้บริการโทรคมนาคมเข้าตรวจสอบการใช้บริการอินเทอร์เน็ตข้ามประเทศ และได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบหาบริเวณที่มีการกระทำความผิด รวมถึงตัวผู้กระทำผิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอนุชา กล่าวว่า 2. การแก้ปัญหาซิมผี กสทช.ให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแจ้งเจ้าของซิมโทรศัพท์มายืนยันตัวตนให้ถูกต้องตามแผนงาน ดังนี้ กรณีผู้มี 100 ซิมขึ้นไป ประมาณ 8,000 รายให้ยืนยันตัวตนภายในเดือนมกราคม 2566 กรณีผู้มี 30 ซิมขึ้นไป ประมาณ 22,000 ราย ให้ยืนยันตัวตนภายในเดือนมีนาคม 2566 และกรณีผู้มี 5 ซิม ขึ้นไป ประมาณ 380,000 ราย ให้ยืนยันตัวตนภายในเดือนมิถุนายน 2566 3. การแก้ปัญหาบัญชีม้าและบัญชีต้องสงสัยนำไปใช้กระทำผิดกฎหมาย สำนักงาน ปปง.ประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 และได้แจ้งรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ให้สถาบันการเงินดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ ดีอีเอสอยู่ระหว่างเสนอ (ร่าง) พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้เป็นรูปธรรม
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยพี่น้องประชาชน ไม่ต้องการให้ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงและหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ สอบสวนให้ถึงต้นตอการกระทำผิด ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ที่ถูกต้อง และแจ้งเตือนประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
Advertisement