People Unity News : 10 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร” ห่วงใยชาวสวนปาล์ม จ่อดันส่งออกน้ำมันปาล์ม ลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ กระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นย้ำให้ดูแลกลไกราคา ให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวสวนปาล์ม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการปาล์มแห่งชาติ (กนป.) มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันของประเทศ สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 66 ได้เห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลอยู่ที่ 7% หรือ บี7 ไปจนถึงเดือน กันยายน 66   ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจกระทบต่อราคาปาล์มน้ำมันทะลายของเกษตรกรในอนาคต  รองนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะเข้าสู่ฤดูกาลที่ผลปาล์มมีผลผลิตมากในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ โดยรองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดูแลกลไกราคา ให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวสวนปาล์ม

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า ได้เชิญผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงานงบประมาณ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือการผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2566 เป้าหมาย 150,000 ตัน ระยะเวลาส่งออกตั้งแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ถึง กันยายน 2566 โดยรัฐบาลจะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO) ในอัตราไม่เกิน 2.00 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน และรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศรวมถึงอาจพิจารณาอุดหนุนการส่งออกเพิ่มเติมในอนาคตตามสถานการณ์ผลผลิตที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นอีกใน ปี 2566

ทั้งนี้ จะได้นำข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เกี่ยวข้องกับเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินโครงการและรายละเอียดด้านงบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นำมาพิจารณาทบทวน โดยจะต้องคำนึงถึงแนวทางปฏิบัติที่ได้มีประกาศ กกต. ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลานี้อีกด้วย

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานให้คำนึงถึงเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ไม่ไห้ได้ผลกระทบ หรือ ได้ผลกระทบน้อยที่สุด และขอให้ดำเนินมาตรการให้ทันต่อสถานการณ์โลก ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงมาตรการระยะยาว ได้แก่ หลักการการเกษตรอัจฉริยะ Smart Farming การขับเคลื่อนการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันในรูปแบบของศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการพัฒนาจังหวัด Center of Excellence for Provincial Development หรือ COE-PD) ด้านการเกษตร ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างรายได้ให้ “กินดีอยู่ดี” อย่างยั่งยืน

Advertisement