People Unity News : 21 มีนาคม 2566 ครม.รับทราบการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2566 พบปัญหาเสียงดังรบกวน ไฟฟ้าขัดข้อง และหวยแพง ติดอันดับ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ซึ่ง สปน. ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่1 ของปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 65) ประชาชนได้ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวม 14,439 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 12,133 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84.03 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานเกี่ยวข้อง 2,306 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 15.97 โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า พบว่าเรื่องร้องทุกข์ลดลง 1,039 เรื่อง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หน่วยได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมาก 5 อันดับแรก สำหรับส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,430 เรื่อง, กระทรวงคมนาคม 383 เรื่อง, กระทรวงการคลัง 302 เรื่อง, กระทรวงสาธารณสุข 285 เรื่อง และกระทรวงมหาดไทย 279 เรื่อง
รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 615 เรื่อง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 127 เรื่อง, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 124 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 109 เรื่อง และการประปาส่วนภูมิภาค 70 เรื่อง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 ลำดับแรกได้แก่ กรุงเทพมหานคร 767 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 237 เรื่อง สมุทรปราการ 212 เรื่อง ปทุมธานี 203 เรื่อง และชลบุรี 177 เรื่อง ตามลำดับ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อแยกตามเรื่องที่ประชาชนมีการยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การเปิดเพลงเสียงดัง เล่นดนตรีสดของร้านอาหาร สถานบันเทิง การจับกลุ่มสังสรร เสียงดังจากการแข่งรถจักรยานยนต์ รวม 1,576 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 1,487 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 94.35
2) ไฟฟ้า เช่น แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น รวม 696 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 595 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 85.49
3) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เช่น ขอให้พิจารณาจัดสรรโควตา แจ้งเบาะแสการจำหน่ายเกินราคา ขอให้ตรวจสอบการกว้านซื้อสลากของเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มจำหน่ายสลากออนไลน์ รวม 644 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 623 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 96.74
4) อุทุกภัย เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉบับพลัน การระบายน้ำจากที่น้ำท่วม เงินเยียวยา เป็นต้น รวม 556 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 512 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 93.71
5) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการผ่านโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐ เช่น รอสายนาน คู่สายเต็ม รวม 543 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 474 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.29
6) ยาเสพติด เช่น แจ้งเบาะแสการจำหน่าย 490 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 452 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.24
7) การเมือง เช่น แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในกระแสสังคม รวม 487 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 479 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.36
8) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน ตรวจสอบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน รวม 473 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 314 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66.38
9) ถนน เช่น ขอให้ซ่อมแซมถนนที่เป็นหลุมบ่อจากสาเหตุต่างๆ รวม 473 เรื่อง แก้ไขจนได้ข้อยุติ 319 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 82.66
10) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย รวม 320 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 281 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.81
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สปน. ได้ประมวลปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์พบว่าประชาชนมีความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการกำหนดระยะเวลาแก้ไขปัญหาตลอดจนการตอบความคืบหน้าต่อผู้ร้องทุกข์ ขณะเดียวกันประเด็นการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำๆ เช่น เสียงดังรบกวน การแข่งจักรยานยนต์ ร้านอาหารเสียงดัง แต่หน่วยงานยังไม่มีมาตรการรับมือ ไม่มีแผนเผชิญเหตุ หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ จึงได้ขอให้หน่วยงานมีการเน้นการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ เฝ้าระวังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม มีการจัดทำแนวทาง มาตรการและแผนเผชิญเหตุรองรับการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ ตลอดจนมีการบูรณาการฐานข้อมูลและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป ทางด้านสถานการณ์โควิด19 ที่คลี่คลายแม้จะทำให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโรคระบาดลดลงแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หน่วยงานต่างๆ ยังต้องร่วมกันมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด ขณะเดียวกันประชาชนได้ขอให้หน่วยงานรัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เข้มงวด ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ที่มีการแพร่ระบาดหลายพื้นที่ เข้าถึงเยาวชนมากขึ้น รวมถึงปัญหามิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบกลวิธีต่างๆ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องดำเนินการเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขต่อไป
Advertisement