People Unity News : 6 พฤษภาคม 2566 “สุพัฒนพงษ์” โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงละเอียดยิบโครงการไฟฟ้าโซลาร์ หวั่นประชาชนเข้าใจผิด หลัง “ธีระชัย” แสดงความเห็นทำให้เกิดความสับสน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กตอบส่วนตัว “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ตอบโต้นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ข้อความว่า คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้แสดงความเห็นใน facebook ส่วนตัวเรื่องไฟฟ้าโซลาร์ จึงเห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอไม่ครบถ้วน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จึงขอชี้แจงดังนี้
การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์
การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ เป็นการทยอยรับซื้อในระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2573 เป็นพลังงานสะอาด ราคาถูก ไม่มีค่าพร้อมจ่าย โดยมีราคารับซื้อเพียง 2.0724-3.1014 บาท/หน่วยเท่านั้น ช่วยทำให้ค่าไฟของประเทศถูกลง เพราะไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวนด้านราคาสูงที่เป็นสาเหตุให้ค่าไฟแพงในตอนนี้
พลังงานหมุนเวียนที่รับซื้อ 8,900 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตพึ่งได้เพียง 3,700 เมกะวัตต์ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนไม่สามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง เหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้าจากโซลาฟาร์ม กลางคืนผลิตไม่ได้ หรือไฟฟ้าพลังลม ถ้าลมไม่พัดก็ผลิตไม่ได้
ในช่วงปี 2567-2573 จะมีโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ที่มีค่าพร้อมจ่ายหมดอายุ ถูกปลดออกจากระบบคิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 9,800 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ ที่มีกำลังการผลิตพึ่งได้ 3,700 เมกะวัตต์ เป็นการทดแทนโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่จะถูกถอดออกจากระบบ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังเป็นความจำเป็นของประเทศที่จะต้องเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อดึงดูดการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ความเข้าใจผิดในเรื่องการซื้อไฟจาก Solar Rooftop และ Solar Farm รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองมานานแล้ว โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้กลับคืนเข้าระบบในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Farm เอกชนรอบล่าสุดที่กำหนดไว้ที่ 2.1679 บาทต่อหน่วย
ปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อของ Solar Rooftop กับ Solar Farm เป็นคนละส่วนกัน ไม่ทับซ้อน ไม่แข่งขันกัน แต่ทั้ง 2 ส่วนช่วยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหมือนกัน
Net Metering อย่าผลักต้นทุนไฟ Rooftop ไปให้ผู้ใช้ไฟ 22 ล้านครัวเรือน การรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering เป็นเรื่องใหม่ จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่สามารถทำได้ทันทีทั่วประเทศ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดทั้งในเชิงความเป็นธรรมของผู้ใช้ไฟฟ้า กฎหมายและเทคนิค ดังนี้
1.การรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย อัตราค่าไฟฟ้าที่ครัวเรือนขายออกมา (ราคาขายส่ง) จะต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจัดหาให้ครัวเรือนเสมอ (ราคาขายปลีก) ต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Net Metering จะถูกกระจายลงค่าไฟในที่สุด ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากจะได้เปรียบครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยเกิดความไม่เป็นธรรม
2.การผลิตไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบจะส่งผลกระทบให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุล เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจาก Solar มีความผันผวน หากมีการติดตั้ง Solar Rooftop ปริมาณมากกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะเป็นผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ป้องกันใหม่ และเพิ่มขีดจำกัดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในหม้อแปลงจำหน่ายลูกเดียวกัน เพื่อรองรับไฟฟ้าที่จะไหลย้อนเข้าสู่ระบบปริมาณมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบจะถูกส่งผ่านไปยังค่าไฟ ทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในข้อ 1 และข้อ 2 ประชาชนทุกคนจะต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตั้ง Solar Rooftop หรือไม่ก็ตาม ทำให้ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 500 หน่วยต่อเดือน กว่า 22 ล้านครัวเรือน ( 90% ของผู้ใช้ไฟ) ต้องมารับภาระแทนผู้มีรายได้สูง 2 ล้านครัวเรือน (10%) ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะและสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ได้
3.การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะเกิดภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้งฝั่งการซื้อและฝั่งการขาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น
4.ผู้ผลิตไฟจาก Solar Rooftop จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น Digital Meter ให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้า และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม
Advertisement