People Unity News : 13 มิถุนายน 2566 “ปณิธาน” ระบุ กรณีขบวนการ นศ.แห่งชาติทำประชามติแยกดินแดน เป็นบทเรียนสำคัญของทุกหน่วยงานรัฐ ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ หาต้นเหตุของแนวคิด ชี้การแสดงออกขัดหลักจริยธรรมงานวิจัยทางวิชาการ ทำให้ถูกตีความผิด กม. กระทบความมั่นคง

นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีขบวนการนักศึกษาแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ จัดกิจกรรมเสวนาและจัดทำกระดาษให้ลงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราช ว่า ประเด็นทางกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ ทั้งในระดับพื้นที่ กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งต้องดูเรื่องการขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องดูว่ามีประเด็นทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

“เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงคงต้องตรวจสอบว่ามีความยึดโยงกับการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ และเรื่องนี้ต้องดูเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการปกป้องเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และเรื่องทางวิชาการที่ต้องแยกแยะให้ดี หากเป็นการทำแบบจำลองงานวิจัยที่ผ่านมาก็เคยทำมาหลายครั้ง ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือยึดโยงทางการเมืองในที่สาธารณะ ในรูปแบบของการแสดงพลัง การแสดงจุดยืนทางการเมือง” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเอกราชอธิปไตย แต่เป็นเรื่องของการกำหนดวิถี การกำหนดใจตนเอง การกำหนดลักษณะพหุวัฒนธรรม ซึ่งหลายประเทศก็มี ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ที่ให้คนท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเอง โดยไม่ขัดกับหลักกฏหมายของประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็มีแนวนโยบาย มีข้อเสนอและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปแล้ว ให้ใช้นโยบายพหุวัฒนธรรมเพื่อท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเองได้ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดวิถีทางการเมือง การปกครอง ทางวัฒนธรรมทางศาสนา ดังนั้น ต้องพิจารณาว่ากลุ่มของขบวนการนักศึกษามีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร  ถ้าดูเพียงคำแถลงการณ์ที่ออกมาอย่างเดียว อาจทำให้หลายคนวิตกกังวล จึงต้องไปดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“ในภาพรวมการประกาศเอกราช การพยายามลงประชามติเพื่อแยกตนเองออกไปตั้งเป็นรัฐใหม่ การใช้ศัพท์เหล่านี้ขัดกับหลักกฏหมายชัดเจนอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง สุดท้ายคงต้องหาทางพูดคุยกันว่าแนวทางที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร การให้เสรีภาพส่วนหนึ่ง การปฏิบัติตามกฏหมายเป็นอีกส่วนหนึ่ง และต้องดูเรื่องความปะทุความแตกแยกเพิ่มขึ้น เพราะมีหลายกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ อาจต้องควบคุมตรงนั้น ไม่ให้บานปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย การเมือง เรื่องท้องถิ่น เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญมากสำหรับทุกฝ่ายหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานทางปกครอง ฝ่ายมหาวิทยาลัย อาจารย์ และนักศึกษาต้องทำงานร่วมกันมากกว่านี้ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งมีข้อสังเกตมานานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ที่อาจทำให้สถานการณ์ผกผัน ตึงเครียดทั้งที่ไม่ควรจะเป็น เรามีนโยบายเรื่องพหุสังคมที่ดีอยู่แล้ว มีท้องถิ่นที่สนับสนุนที่ดีอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าหากทำในเชิงวิชาการถือว่าไม่ผิดใช่หรือไม่ เพียงแต่เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอาจเกิดข้อถูกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง นายปณิธาน  กล่าวว่า ในเชิงวิชาการเมื่อสำรวจความคิดเห็น จะปกป้องคนที่ให้สัมภาษณ์ โดยไม่เปิดเผยเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของบุคคล ซึ่งเป็นข้อบังคับในการทำวิจัย ทางวิชาการอย่างเข้มงวด เพราะบางเรื่องหากเปิดออกไปสู่สาธารณะ อาจถูกตีความว่าผิดกฎหมาย กระทบกับความมั่นคง งานวิชาการจะไม่ทำลักษณะนี้ เพราะจะปกป้องคนที่มาแถลงการณ์ จะไม่ประกาศแบบนั้น

“งานวิชาการยังมีข้อบังคับอีกมาก ไม่ใช่จะบอกว่าเป็นงานวิชาการแล้วจะทำได้ อันนั้นเป็นความคลาดเคลื่อน  ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยจัด  มีอาจารย์นั่งอยู่หนึ่งคน เชิญฝ่ายการเมือง และปล่อยให้ประกาศอะไรที่หมิ่นเหม่ทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะมีข้อกำหนดเรื่องจริยธรรมของการทำงานวิชาการ ที่ทุกคนต้องเซ็นรับทราบไว้ก่อน ก่อนจะถามประเด็นละเอียดอ่อนแบบนี้ และที่ผ่านมาทำไปแล้วหลายโครงการ ซึ่งไม่เคยมีปัญหา เพราะอยู่ในกรอบข้อบังคับเชิงจริยธรรมที่ต้องปกป้องอัตลักษณ์บุคคล” นายปณิธาน กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า รัฐควรเร่งกระบวนการสร้างความเข้าใจหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า หน่วยงานในภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับ อาจารย์ คณะ และมหาวิทยาลัยที่จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ต้องพูดคุยถึงกรอบการจัดงาน หากระมัดระวังและทำตามกรอบคงไม่เลยเถิดไปถึงการลงประชามติ และนำออกสู่สังคมออนไลน์ งานวิชาการมีความละเอียดอ่อน จะไม่ถ่ายทอดหรือใช้สื่อแบบนี้ ซึ่งต้องไปดูกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยและใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนแนวโน้มของกลุ่มเยาวชนหรือบุคคลในพื้นที่จะเป็นอย่างไร นายปณิธาน กล่าวว่า ตนกำลังทำงานวิจัยที่สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนในพื้นที่ต่อความรุนแรงแบบสุดโต่ง ซึ่งได้รับความสนับสนุนงบประมาณจากสำนักการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งความรุนแรงแบบสุดโต่งมีหลายรูปแบบในเชิงวัฒนธรรม เชิงครอบครัว เชิงการเมืองและเชิงศาสนา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับบุคคลจำนวนมาก

“การแบ่งแยกดินแดนเป็นความสุดโต่งด้านหนึ่ง ผมกำลังลงลึกกับงานวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น โดยประเมินการพูดคุย การกำหนดใจตัวเอง ซึ่งเป็นความคิดที่พูดกันมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ จึงทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่าแนวความคิดแบบนี้พัฒนาอย่างไร เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร เพราะโดยทั่วไปในต่างประเทศมีสองแบบ คือต้องการแยกประเทศตั้งเป็นรัฐเอกราช จับอาวุธต่อสู้บางพื้นที่ หรือเป็นเรื่องของชนเผ่าที่อยากกำหนดวิถีของตนเอง ไม่เกี่ยวกับการแยกรัฐ แยกประเทศ เพราะผิดกฏหมายของประเทศนั้น ของเราก็มีข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวเป็นแบบไหน ความคิดต้นตอเหล่านี้มาจากไหน คงต้องไปถามบุคคลที่สอนและทำเวิร์คช็อปว่าคิดเห็นอย่างไร” นายปณิธาน กล่าว

Advertisement