People Unity News : 14 ตุลาคม 2566 นายกฯ เตรียมนั่งหัวโต๊ะประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลพรุ่งนี้ เพื่อประสานสายการบินอพยพให้ได้ 400 คน/วันตามเป้า ด้าน “โฆษก ก.ต่างประเทศ” ยันแรงงานไทยไม่ใช่เป้าหมายกลุ่มฮามาส รับนำร่างผู้เสียชีวิตกลับไทยล่าช้า เพราะต้องใช้เวลานานพิสูจน์อัตลักษณ์

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวสถานการณ์ในอิสราเอล โดยระบุว่าสถานการณ์ยังคงมีความรุนแรง เรามีความห่วงกังวลเรื่องการเข้าพื้นที่ภาคพื้นดินของอิสราเอล หลังจากที่อิสราเอลมีการประกาศอพยพพลเรือนออกจากภาคเหนือของฉนวนกาซาภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งคนที่อพยพออกมาก็มีจำนวนน้อยมาก ขณะที่ฝ่ายฮามาสประกาศว่านี่เป็นสงครามจิตวิทยา ขอให้ผู้คนอยู่ที่เดิม เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจับตา และจากสถานการณ์ พบว่าทั้ง 2 ฝ่ายสูญเสียกำลังพลและพลเรือนจำนวนมาก จึงขอแสดงความเสียใจ

ขณะที่ล่าสุด กองทัพอิสราเอล เปิดเผยว่าได้ส่งกำลังพลเข้าไปในเขตฉนวนกาซา ใกล้เคียงกับชายแดนอิสราเอล เพื่อพยายามค้นหาตัวประกัน โดยทางผู้ประสานงานค้นหาตัวประกันและผู้สูญหายของรัฐบาลอิสราเอลก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าขณะนี้รัฐบาลอิสราเอลได้พยายามทางการทูตเพื่อที่จะนำตัวประกันออกมา แต่ขณะนี้อยู่ในภาวะสงครามการดำเนินการใดๆ ย่อมทำได้ยาก และใช้เวลา รวมทั้งมีรายงานว่าอิสราเอลอยู่ในระหว่างการเจรจาส่งสิ่งของให้ตัวประกัน แต่ยังไม่สามารถรับประกันว่ากลุ่มฮามาสจะยอมรับหรือไม่

ส่วนความคืบหน้าผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ ต้องขอแสดงความเสียใจ เนื่องจากเช้าวันนี้ได้รับแจ้งจากทางการอิสราเอลว่ามีคนไทยเสียชีวิตอีก 3 ราย รวมมีผู้เสียชีวิต 24 ราย มีผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมอีก 2 ราย รวมเป็น 16 ราย และผู้ที่ถูกจับตัวไป 16 ราย

ในเรื่องของการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับภูมิลำเนา ทางการอิสราเอลยังยืนยันว่าต้องใช้เวลา โดยทางสถานทูตได้ติดต่อผู้จัดการบริษัทที่ทางการอิสราเอล มอบหมายให้จัดการร่างผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติ เพื่อขอให้เร่งรัดกระบวนการต่างๆ เพื่อจัดส่งศพกลับภูมิลำเนา ซึ่งทางผู้จัดการก็ได้แจ้งว่าตระหนักดีถึงความสำคัญที่ต้องเร่งกระบวนการ แต่ทั้งนี้มีศพชาวต่างชาติจำนวนมาก แต่รับปากว่าจะพยายามดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด และทางการอิสราเอลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับภูมิลำเนา จึงขอแจ้งญาติผู้เสียชีวิตว่าต้องมีกระบวนการโดยเฉพาะการพิสูจน์อัตลักษณ์ ซึ่งโดยปกติทางการของอิสราเอลใช้เวลาในการพิสูจน์อัตลักษณ์ถึง 7 วันในภาวะปกติ แต่ในภาวะสงครามก็จะใช้เวลามากขึ้นไปอีก

ส่วนการอพยพ ขณะนี้เป็นช่วงที่เครื่องบิน สายการบิน Fly Dubai กำลังจะขึ้นเพื่อนำคนไทยมาส่งที่สนามบินอู่ตะเภา โดยจะจอดแวะเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ และจะมาถึงอู่ตะเภาในวันพรุ่งนี้ (15 ต.ค.) เวลาประมาณ 07.25 น. ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยองและผู้แทนกองทัพเรือไปรอให้การต้อนรับ โดยแรงงานที่มาถึงจะเดินทางต่อมายัง โรงแรม SC PARK กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะถึงในเวลา 10.00 น. ญาติสามารถไปรอรับที่นั่นได้

สำหรับจำนวนคนที่ตั้งเป้าว่าเดินทางกลับในเที่ยวบินนี้ มีจำนวน 100 ราย โดยก่อนถึงเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง มีผู้เดินทางมารอขึ้นเครื่อง 91 ราย โดยจะต้องรอดูต่อไปว่าจะเดินทางมาเพิ่มหรือไม่ แต่เบื้องต้นมี 2 รายเปลี่ยนใจ แจ้งความประสงค์จะอยู่ต่อ ส่วนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปที่สนามบิน

นางกาญจนา ยังเปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (15 ต.ค.) สถานทูตจะอพยพคนไทยด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศ โดยจะออกจากกรุงเทลอาวีฟ ในเวลา 13.00 น. และเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (บน.6) ในวันที่ 16 ตุลาคม เวลา 04.40 น. จำนวน 137 ราย

ทั้งนี้ยังมีความพยายามที่จะหาเที่ยวบินพิเศษ อีกจำนวนมาก เพื่อพยายามอพยพคนไทยให้ได้วันละ 400 คน และในการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินวันนี้ ได้หารือถึงแผนการหาเครื่องบินสายต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถอพยพแรงงานไทยได้ตามเป้าหมาย โดยวันถัดไป จะมีแรงงานไทยเดินทางกลับมากับสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ คาดว่ามีจำนวน 250 คน และทางรัฐบาลจะจัดเที่ยวบินพิเศษของกองทัพไทยและการบินไทยบินไปรับอย่างต่อเนื่อง

ส่วนศูนย์พักพิงชั่วคราวในอิสราเอล ทางสถานทูตไทยในอิสราเอลได้จองโรงแรมใหม่ เพื่อเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว คือที่ โรงแรมเดวิด อินเตอร์คอนติเนนทอล เทลอาวีฟ เบื้องต้นจองไว้ 100 ห้อง และมีคนไทยส่วนหนึ่งที่สถานทูตช่วยเหลือในการอพยพ เข้าไปพักในศูนย์นี้แล้ว

สำหรับผู้ที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวานนี้ จำนวน 56 คน กลับถึงภูมิลำเนาโดยปลอดภัย ขณะที่ภาพรวมคนที่ประสงค์กลับตอนนี้มี 7,058 คน สถานทูตอยู่ระหว่างตรวจสอบ เพราะบางส่วนกรอกข้อมูลซ้ำ บางส่วนประสงค์จะอยู่ต่อ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังเปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้เวลา 16.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเป็นประธานในการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามการทำงานของทุกหน่วยงานที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์การดำเนินการช่วยเหลือคนไทยอย่างใกล้ชิด

ส่วนกรณีแรงงานไทยส่วนหนึ่ง เปิดเผยว่ากลุ่มฮามาสพูดภาษาไทย เพื่อลวงให้ออกจากที่ซ่อน และเข้าใจว่าคนไทยอาจจะเป็นเป้าหมายนั้น นางกาญจนา ยืนยันว่าคนไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายพิเศษ แต่เนื่องจากเป็นสถานการณ์สงคราม ก็จะมีการจับกุมคนอิสราเอล หรือคนชาติต่างๆ ขอย้ำว่าคนไทยไม่ใช่เป้าหมาย และจากการรับฟังข้อมูล คนต่างชาติไม่น่าจะเป็นเป้าหมายหลักในการทำร้าย

ส่วนกรณีกลุ่มฮามาสเปิดเผยว่ามีตัวประกันเสียชีวิต 13 รายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล มีคนไทยเสียชีวิตรวมอยู่ด้วยหรือไม่นั้น นางกาญจนา ระบุว่า จากติดตามข่าวยังไม่มีการเปิดรายชื่อ จึงยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง หวังว่าจะไม่มีคนไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย

ส่วนกรณีที่อิสราเอลจะปฏิบัติการภาคพื้นเพิ่มเติมจะมีผลกระทบต่อคนไทยและผู้ที่ถูกจับตัวไปหรือไม่นั้น นางกาญจนา ระบุว่าในแง่การดำเนินการยุทธการทางทหารทางภาคพื้น จะกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งมีการคาดเดาว่ามีตัวประกันถูกจับและกระจายตัวตามอุโมงค์ใต้ดินต่างๆ ทุกคนมีความกังวล ซึ่งจากการติดตามข่าวทราบว่าทางการสหรัฐและสหประชาชาติ ก็พยายามขอให้อิสราเอลชะลอการปฏิบัติการ เนื่องจากการอพยพคนเป็นล้านในเวลา 24 ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ และคนที่อพยพออกมาจริงก็น้อยมาก

Advertisement