พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 มกราคม 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เน้นย้ำพื้นที่ 40 จังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 13-16 ม.ค.67
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 4 (4/2567) ลงวันที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 13-16 มกราคม 2567 ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าในช่วงแรก บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2567 แยกเป็น
ภาคเหนือ ทุกจังหวัด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา
ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 40 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
สุดท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป