พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 เมษายน 2567 เลขาธิการ สทนช. ระบุภัยแล้งปี 67 ถือว่าไม่ขยายวงกว้าง โดยมีพื้นที่ที่ประกาศเขตภัยพิบัติแล้งเพียง 4 จังหวัด ส่วนสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก ได้ประสานงานในการระบายน้ำให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ฤดูแล้งจะสิ้นสุดปลายเดือนเมษายนนี้ โดยสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวมปัจจุบัน ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกักที่ 44,209 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 35% หรือ 20,033 ล้าน ลบ.ม.

ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง โดยในภาคเหนือคือ เขื่อนสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ เขื่อนจุฬาภรณ์ ภาคตะวันออกคือ เขื่อนคลองสียัด ภาคกลางคือ เขื่อนกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยมี 85 แห่ง

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศในปีนี้ น้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ 2% ซึ่งนับว่า อยู่ในเกณฑ์ดี แม้ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติจากอิทธิพลของสภาวะเอลนีโญ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนกักเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง รวมถึงสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเนื่องจากมีโอกาสเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ยังคงงดปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่จะประชาสัมพันธ์ช่วงเวลาส่งเสริมการเพาะปลูก เพื่อป้องกันปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้ ไม่ขยายวงกว้าง ปัจจุบันมีพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพียง 4 จังหวัดได้แก่ จ. กาญจนบุรี จ. ชลบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ และ จ. บุรีรัมย์ โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ การขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคซึ่งหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

สำหรับสถานการณ์ในภาคตะวันออกซึ่งมีเกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้หารือร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ. จันทบุรี ให้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ แนวโน้มของปริมาณฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. เป็นต้นไป โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งคาดว่า ช่วงปลายฤดู สภาวะลานีญาจะทำให้บางพื้นที่มีฝนตกมากกว่าค่าปกติ

ขณะที่กรมชลประทานเดินหน้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ดังนี้

– สำนักงานชลประทานที่ 9 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 14 นิ้ว (เพิ่มเติม) จำนวน 2 เครื่อง บริเวณ หมู่ที่ 7 ตำบลเขาสมิงและหมู่ที่ 8 ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

– สำนักงานชลประทานที่ 11 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณปลายคลองโซน 19 ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

– สำนักงานชลประทานที่ 15 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณบ้านมะนาวหวาน ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนการกำจัดวัชพืชกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำมีดังนี้

– สำนักงานชลประทานที่ 10 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ กำจัดวัชพืช บริเวณ ปตร.พระอินทราชา และ ปตร.กลางคลองหนึ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงรักษาความสะอาดและลดปัญหาน้ำเน่าเสีย บริเวณ คลองระพีพัฒน์แยกตก และคลองระบายน้ำที่ 1 ตำบลพยอม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นอกจานี้สำนักงานชลประทานที่ 16 สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ จำนวน 1 คัน ขนาด 6,000 ลิตร วันละ 3 เที่ยว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลควนโพธิ์ อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

ทั้งนี้ กรมชลประทานดำเนินการกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

Advertisement