พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 ตุลาคม 2567 รมว.กต.ขอบคุณ ไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-70 ยืนยันจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก-หาทางออกผ่านจุดแข็งของไทยที่ก้าวหน้า-เข้าใจบริบทที่หลากหลาย แสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมสถานะประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทย ได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC วาระปี ค.ศ.2025 ถึง 2027 หรือ พ.ศ.2568 ถึง 2570 ซึ่งมีการออกเสียงลงคะแนน เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (9 ต.ค.) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อคืนที่ผ่านมา (9 ต.ค. ตามเวลาในไทย) ว่า ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ.2025 ถึง 2027 หรือ พ.ศ.2568 ถึง 2570 และขอขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกอาเซียน ที่ได้ให้การสนับสนุนและให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในตำแหน่งนี้ ได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่น และการยอมรับในบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ประเทศไทย จะเป็นสะพานเชื่อม และประสานความแตกต่างของท่าทีของประเทศสมาชิก เพื่อช่วยแสวงหาทางออก และฉันทามติ โดยอาศัยจุดแข็งของไทย ที่มีมุมมองในหลายเรื่องที่ก้าวหน้า ขณะเดียวกัน ก็มีความเข้าใจในบริบททางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมของประเทศกำลังพัฒนา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำอีกว่า ประเทศไทย จะนำแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทย อาทิ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage), นโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล ไปเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ และหุ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสถานะของไทยให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในประชาคมระหว่างประเทศ และยกระดับมาตรฐานด้านกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการนำกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของระหว่างประเทศ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยต่อไปด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนคนไทยในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย, การยกเลิกคำสั่ง คสช., การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม, การต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล, การปลดล็อกอุปสรรค และปรับปรุงกฎหมาย เพื่ออำนวยสะดวกในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาต และขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่มิตรประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
นอกจากนั้น ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและประสงค์จะผลักดันในฐานะสมาชิก HRC ครั้งนี้จะรวมถึง การมีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทและทบทวนทิศทางการดำเนินงานของ HRC เพื่อให้ HRC ตอบสนองต่อความท้าทายของโลกและความท้าทายใหม่ ๆ ในด้านสิทธิมนุษยชน ในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสนับสนุนให้ HRC มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าและพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ HRC มีสมาชิกจำนวน 47 ประเทศ จากกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา 13 ประเทศ, กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ, กลุ่มยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ, กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 8 ประเทศ และกลุ่มยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศสมาชิก HRC จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน คูเวต สาธารณรัฐคีร์กีซ มาเลเซีย มัลดีฟส์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม
โดยที่ประเทศไทย สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ.2025-2027 หรือ พ.ศ.2568 ถึง 2570 ซึ่งต้องแข่งขันกับ 6 ประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไซปรัส กาตาร์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไทย สำหรับตำแหน่งว่าง 5 ตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสมาชิกทั้งหมด หรือ 97 คะแนน และจะต้องได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 5 ลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ระหว่างปี ค.ศ. 2010 ถึง 2013 หรือ พ.ศ.2553 ถึง 2556 โดยประเทศไทย ได้ดำรงตำแหน่งประธาน HRC ระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 (ค.ศ.2010) ถึงเดือนมิถุนายน 2554 (ค.ศ.2011) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะ และการทำงานของ HRC ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประธานฯ ได้นำการหารือ และเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าวได้
นอกจากนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิก HRC เมื่อปี 2554 ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน (Enhancement of Technical Cooperation and Capacity Building in the Field of Human Rights) ในกรอบ HRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่าง (penholder) ของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน
Advertisement